14 ก.ย. วันบุรฉัตร ย้อนรำลึก "พระบิดาแห่งรถไฟไทย"

14 กันยายน "วันบุรฉัตร" เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์นายพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม และยังทรงเป็น "พระบิดาแห่งรถไฟไทย"

14 ก.ย. วันบุรฉัตร ย้อนรำลึก "พระบิดาแห่งรถไฟไทย"

 

 

   14 กันยายน "วันบุรฉัตร" เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์นายพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม และยังทรงเป็น "พระบิดาแห่งรถไฟไทย"

 

    พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ 35 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับ เจ้าจอมมารดาวาด พระองค์ประสูติ เมื่อ วัน จันทร์ เดือน 3 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่  23 มกราคม พ.ศ.2424 ทรงมีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร

 

    เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) เป็นผู้ถวายพระอักษร เมื่อ พ.ศ.2536 เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 เสด็จไปทรงศึกษาต่อด้านโยธาธิการที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ได้ชมเชยพระองค์ว่า พระองค์ทรงมีความสามารถ กอปรด้วยพระวิริยะ อุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง

 

    ต่อมาได้ทรงศึกษาต่อวิชาวิศวกรรมที่ทรินิทีคอลเลจ  มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และวิชาทหารช่างที่ แชทแฮม ทรงศึกษาการทำทำนบและขุดคลอง ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และเสด็จกลับมาทรงงานและศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนได้เป็นสมาชิก M.I.C.E. (Member of the Institution of Civil Engineer) หรือเทียบเท่าวิศกรรมสถาน นับว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นสมาชิกของสถาบันแห่งนี้

 

14 ก.ย. วันบุรฉัตร ย้อนรำลึก "พระบิดาแห่งรถไฟไทย"

    ภายหลังทรงสำเร็จการศึกษา พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2447 ทรงรับราชการทหาร เหล่าทหารช่างกรมยุทธนาธิการทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นพันตรี ต่อมาในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2448 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อภิเษกสมรสกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประภาวสิทธินฤมล ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ ทรงเป็นต้นราชตระกูล "ฉัตรไชย" และทรงมีพระโอรสและธิดารวม 11 พระองค์

 

    กระทั่งปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร รักษาการตำแหน่งเจ้ากรมรถไฟสายเหนือ ในปี พ.ศ. 2460  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า "กรมรถไฟหลวง" และให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และทรงบุกเบิกพัฒนากิจการต่างๆ ของกรมรถไฟหลวง ขยายเส้นทางเดินรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน ในปี พ.ศ. 2471 พระองค์ยังได้ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซล จำนวน 2 คัน ซึ่งรถจักรดีเซลทั้งสองคันดังกล่าว เป็นรถจักรดีเซลคันแรกในทวีปเอเชีย และถือว่าประเทศไทยนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้งานเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียด้วย

 

 

14 ก.ย. วันบุรฉัตร ย้อนรำลึก "พระบิดาแห่งรถไฟไทย"

 

    ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมกรมทางไปขึ้นกับกรมรถไฟหลวง โดยให้พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงรับผิดชอบงานสร้างถนนและสะพานทั่วประเทศ เช่น สะพานกษัตริย์ศึก เป็นสะพานลอยข้ามทางรถไฟแห่งแรก และสะพานรัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง สะพานพุทธ สะพานพระราม 6

 

 

14 ก.ย. วันบุรฉัตร ย้อนรำลึก "พระบิดาแห่งรถไฟไทย"
 

    นอกจากนี้ยังทรงเป็นผู้นำเครื่องจักรมาสำรวจขุดเจาะน้ำมันและถ่านหิน ทั้งยังทรงพัฒนาด้านการคมนาคมและการสื่อสารด้วยการตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2473 อีกทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้านการสื่อสาร ได้จัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขทั่วประเทศ ให้บริการรับส่งจดหมาย พัสดุ ไปรษณีย์ ธนาณัติ และโทรเลข รวมทั้งการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และวิทยุโทรเลขภายในและ
ภายนอกประเทศ

    พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสิ้นพระชนม์ ด้วยโรคพระทัยวาย ณ โรงพยาบาลในเมืองสิงค์โปร์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2479 รวมพระชันษาได้ 54 ปี 7 เดือน 22 วัน 
 

    ด้วยพระเกียรติคุณนานับประการของพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ทางราชการจึงได้กำหนดเอาวันที่ 14 กันยายนของทุกปี เป็น "วันบุรฉัตร" ภายหลังเมื่อมีการตัดถนนเชื่อมระหว่างถนน พหลโยธินกับถนนวิภาวดีในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงทรงพระราชทานนามว่า "ถนนกำแพงเพชร” เพื่อระลึกถึงพระองค์

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก เฟซบุ๊ก กรมรถไฟหลวง

 

14 ก.ย. วันบุรฉัตร ย้อนรำลึก "พระบิดาแห่งรถไฟไทย"