กลิ่นตุๆ ชักจะยังไงดราม่า "สุวรรณภูมิ" เร่งเดินหน้าก่อสร้าง Terminal 2 "สามารถ" สาวเบื้องลึก อาคาร 1 เคลียร์ยัง

กลิ่นตุๆ ชักจะยังไงดราม่า "สุวรรณภูมิ" เร่งเดินหน้าก่อสร้าง Terminal 2 "สามารถ" สาวเบื้องลึก อาคาร 1 เคลียร์ยัง

กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อนฉ่ากันอีกแล้ว กับกรณีการเดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีข้อวิพากษ์เกี่ยวกับการประกวดราคาการออกแบบตัวอาคารที่มีความละม้ายคล้ายกันกับสนามบินที่ญี่ปุ่น หรือพูดง่ายๆ คือ ไปลอกความคิดเขามา โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ชนะการประกวดราคางานออกแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ในครั้งนี้คือ กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสอี-เออาร์เจ (DBALP) ซึ่งเป็นกลุ่มของ ดวงฤทธิ์ บุนนาค และด้วยข้อฉงนในเรื่องนี้ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับสั่งให้มีการตรวจสอบการประกวดราคางานออกแบบใหม่อีกครั้งว่าโปร่งใสหรือไม่ ทำให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ต้องออกมายืนยันในผลการประกวดราคางานออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของท่าอาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยวงเงิน 329 ล้านบาท ว่า...

 

เนื่องจากผู้ชนะประมูลเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า ดีบีเอเแอลพี ซึ่งมีบริษัทที่เคยชนะงานออกแบบสนามบินในประเทศญี่ปุ่น เป็นที่เดียวกันกับที่เป็นประเด็นได้เข้ามาร่วมทุนด้วย คือกลุ่มนิเคนเซกเก จึงทำให้งานออกแบบอาจมีความคล้ายกันอยู่บ้างเพราะเป็นบริษัทเดียวกัน แต่สำหรับเรื่องความคงทนแข็งแรงและความปลอดภัยนั้นอยู่ที่การพิจารณาของ ทอท.

 

และเมื่อมีประเด็นร้อนฉ่าขนาดนี้ มีหรือที่เจ้าตัวในฐานะผู้นำกลุ่มอย่าง นายดวงฤทธิ์ จะไม่ออกมายืนยันความบริสุทธิ์ด้วยตัวเอง โดยได้ปฏิเสธอย่างทันควันว่า ตนเองไม่ได้ลอกความคิด หรือลอกการออกแบบอาคารผู้โดยสาร 2 ที่ชนะการประกวดแต่อย่างใด โดยส่วนตัวแล้วตนเองมีความชื่นชอบและพัฒนางานไม้มาโดยตลอดซึ่งสามารถหาหลักฐานดูได้จากผลงานชิ้นเก่าๆ 

 

กลิ่นตุๆ ชักจะยังไงดราม่า "สุวรรณภูมิ" เร่งเดินหน้าก่อสร้าง Terminal 2 "สามารถ" สาวเบื้องลึก อาคาร 1 เคลียร์ยัง

 

กลิ่นตุๆ ชักจะยังไงดราม่า "สุวรรณภูมิ" เร่งเดินหน้าก่อสร้าง Terminal 2 "สามารถ" สาวเบื้องลึก อาคาร 1 เคลียร์ยัง (พิพิธภัณฑ์สะพานไม้ใน จ.โคจิ ญี่ปุ่น)

เมื่อประเด็นการลอกแบบก่อสร้างอาคารตกไป ก็ยังมีประเด็นผลการชนะการประกวดในครั้งนี้เข้ามาอีก เพราะกลุ่มของนายดวงฤทธิ์ ไม่ได้เป็นผู้ชนะการประกวดลำดับที่ 1 ตั้งแต่ตอนแรก เพราะจริงๆ แล้วถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 2 โดยทางคณะกรรมการจัดหาพัสดุได้พิจารณาให้กลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. ได้คะแนนเทคนิคสูงสุด และได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดที่ตั้งไว้จึงถูกพิจารณาเป็นรายแรกในการเปิดซองเสนอราคาตามระเบียบพัสดุของ ทอท.

 

โดยคณะกรรมการได้เชิญกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. มาเปิดซองราคาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 61 และเมื่อตรวจสอบเอกสารในซองแรกมีสภาพสมบูรณ์ดี แต่เมื่อเปิดซองเสนอราคากลับไม่มีเอกสารใบเสนอราคาตามข้อกำหนดและขอบเขตของงาน (TOR) ตามที่ ทอท.ได้กำหนดไว้ในข้อ 4 เรื่องการยื่นขอเสนองาน 4.2 ระบุไว้ชัดเจนว่า "ผู้เสนองานต้องใช้ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับจาก ทอท. นี้เท่านั้น ใบเสนอราคานอกเหนือจากนี้จะไม่รับพิจารณาโดยเด็ดขาด"

 

กลิ่นตุๆ ชักจะยังไงดราม่า "สุวรรณภูมิ" เร่งเดินหน้าก่อสร้าง Terminal 2 "สามารถ" สาวเบื้องลึก อาคาร 1 เคลียร์ยัง แบบของผู้ที่ได้คะแนนเทคนิคสูงสุด แต่ต้องตกไปเพราะเอกสารไม่สมบูรณ์

 

และสำหรับเหตุผลที่ต้องใช้ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ทาง ทอท.กำหนดเพื่อยื่นขอเสนอราคาเท่านั้นเนื่องจากเอกสารดังกล่าวนอกเหนือจากผู้ยื่นต้องใส่ข้อเสนอราคาซึ่งต้องระบุเป็นตัวเลขและตัวอักษรแล้ว ยังมีเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญอื่นๆ คือ ระยะเวลายืนราคา คำรับรองว่าจะเริ่มทำงานตามสัญญาทันทีที่ได้รับแจ้งจาก ทอท. และจะส่งมอบงานตามเอกสารประกวดแบบภายในระยะเวลาที่กำหนด คำรับรองว่าจะเข้าทำสัญญากับ ทอท.ตามแบบและมอบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่ ทอท. ตามที่กำหนด

 

และด้วยกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. ไม่มีใบเสนอราคาตัวนี้ จึงทำให้คณะกรรมการต้องพิจารณาให้กลุ่มของนายดวงฤทธิ์ ที่มีคะแนนตามมาเป็นลำดับ 2 ได้รับงานนี้ไป 

 

แต่ดูเหมือนดราม่าสนามบินสุวรรณภูมิ จะไม่จบอยู่เพียงเท่านี้เมื่อล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ได้ออกมาโพสต์ถึงเบื้องลึกปมดราม่า ผ่านเพจที่ใช้ชื่อว่า ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte ซ้ำยังเปิดประเด็นเพิ่มที่ ทอท.เดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร 2 แทนที่จะขยายอาคารผู้โดยสาร 1 ให้สมบูรณ์ โดยได้กล่าวถึงความเหมาะสมของแบบและตำแหน่งที่ตั้งของอาคารซึ่งไม่ตรงกับตำแหน่งที่จัดเตรียมไว้ในแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ

 

โดยแผนแม่บทนี้จัดทำโดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของ ทอท. โดยมีบ.หลุยส์ เบอร์เจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของอเมริการ่วมอยู่ด้วย โดยกล่าวว่าในช่วงหนึ่งของการทำงาน ดร.สามารถ มีอาชีพเป็นวิศวกรที่ปรึกษาด้านคมนาคมขนส่งทำงานในหลายประเทศรวมทั้งไทยด้วย ในช่วงปี 2533-2534 ได้ทำงานในสังกัดของบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ และได้ร่วมศึกษาจัดทำแผนแม่บทระบบท่าอาศยานทั่วประเทศ และในปี 2535-2536 ได้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ตนเองมีข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาสรามบินสุวรรณภูมิพอสมควร

 

ตามแผนแม่บทดังกล่าว อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะตั้งอยู่ทางด้านใต้ของอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน หรืออาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 โดยจะมีทางเข้าออกจากถนนบางนา-ตราด เป็นหลัก ขณะที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 มีทางเข้าออกจากมอเตอร์เวย์เป็นหลัก การเดินทางเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารทั้ง 2 จะมีรถไฟฟ้าไร้คนขับ หรือเอพีเอ็ม ให้บริการ

 

อย่างไรก็ตามอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่ทาง ทอท. กำลังจะดำเนินการก่อสร้างนั้น ไม่ได้มีตำแหน่งตรงกับแผนแม่บท โดย ทอท. ได้ย้ายมาอยู่ใกล้ๆ กับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 หากเดินทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิจากมอเตอร์เวย์ อาคารนี้จะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และแน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะมีผลกระทบต่อภาพรวมในการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจ และ ทอท. จะต้องชี้แจงให้รับรู้โดยทั่วกัน
 

กลิ่นตุๆ ชักจะยังไงดราม่า "สุวรรณภูมิ" เร่งเดินหน้าก่อสร้าง Terminal 2 "สามารถ" สาวเบื้องลึก อาคาร 1 เคลียร์ยัง

ตามแผนการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนที่จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทอท. จะต้องขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ออกไปทั้งสองด้าน คือด้านตะวันออกและด้านตะวันตก เพื่อเพิ่มความจุให้อาคารแต่เหตุที่ ทอท. ไม่ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ให้ครบตามแบบตั้งแต่แรกเนื่องจาก รัฐบาลในขณะนั้นต้องการลดงบประมาณการก่อสร้าง จึงตัดพื้นที่ดังกล่าวออกไปทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุบางส่วน ทำให้ค่าก่อสร้างถูกลงจากราคาเดิม 45,000 ล้านบาท เหลือ 36,000 ล้านบาท จึงเป็นประเด็นคำถามให้ฉุกคิดต่อมาว่า เหตุใด ทอท. ไม่ขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ก่อนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ?? 

 

และในประเด็นนี้เอง ดร.สามารถ ยังได้เจาะข้อมูลเบื้องลึกต่ออีกว่าเป็นประเด็นที่สังคมต้องจับตาและคิดตาม เพราะก่อนเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2549 ทอท. และบ.คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด หรือเคพีเอส ได้ร่วมลงนามสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ สัญญาที่ ทสภ.1-01/2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2548 อายุสัญญา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2559 โดยเคพีเอสเสนอทำกิจกรรมร้านอาหารและเครื่องดื่มแบบ Jungle Garden บริเวณอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ต่อมาเคพีเอสมีหนังสือที่ คพส.040/2548 ลงวันที่ 13 กันยายน 2548 ถึง ทอท. ขอพื้นที่สร้างอาคาร City Garden ขนาด 2 ชั้น บริเวณอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ โดยพื้นที่ชั้นที่ 1 จะทำเป็นสำนักงาน และชั้นที่ 2 จะทำกิจกรรมร้านอาหารและเครื่องดื่ม

 

หลังจากนั้นในวันที่ 19 ต.ค. 2548 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีมติเห็นชอบ ตามที่เคพีเอสร้องขอ แต่มีข้อแม้ว่า หาก ทอท. มีแผนขยายอาคารผู้โดยสาร เคพีเอสจะต้องรื้อถอนอาคาร City Garden ออก และตามรายงานการประชุมระบุว่า... "อาคารดังกล่าวจะใช้งานประมาณ 5-10 ปี และหาก ทอท.มีแผนขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร บริษัทฯ มีความยินดีจะปรับรื้ออาคารดังกล่าวออกให้ต่อไป"

 

แต่เมื่อถึงวันต้องปรับเปลี่ยนจริง 5 ม.ค.2549 ทอท.ได้มีหนังสือเลขที่ ทอท.(สคก.) 4/2549 ถึงเคพีเอส แจ้งว่าจะมีโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3 ในปี พ.ศ.2553 โดยมีการขยายอาคารที่พักผู้โดยสารทั้ง 2 ด้าน (ตะวันออกและตะวันตก) ซึ่งจะกระทบต่ออาคารของบริษัทฯ เนื่องจากอาจต้องมีการรื้อย้ายอาคาร City Garden 

 

แต่จนแล้วจนรอด เมื่อ ทอท. ได้ปรับเปลี่ยนแผนโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านตะวันออก ในระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560) ซึ่งมีวงเงิน 4,825.5 ล้านบาท ที่ ทอท.อ้างว่าจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี แต่สุดท้ายโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ก็ไม่มีงานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกรวมอยู่ด้วย

 

โป๊ะแตกกลางโซเชียล ดร.สามารถ แหกเบื้องลึกกลิ่นตุๆ การบริหารงานที่ไม่ชอบมาพากลในท่าอาศยานสุวรรณภูมิซะแล้ว เพราะคำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ เหตุใด ทอท. จึงดึงงานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก ออกจากโครงการขยาย ระยะที่ 2 และ ทำไม ทอท. ถึงไม่มีคำสั่งให้เคพีเอสรื้ออาคาร City Garden ออก ตามที่ตกลงกันไว้ทั้งๆ ที่ใช้งานอาคารดังกล่าวเกิน 10 ปีแล้ว??

 

หาก ทอท. เลือกที่จะขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทั้งด้านตะวันออก และตะวันตก ตามแผนที่วางไว้จะใช้งบประมาณและเวลาน้อยกว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคนต่อปี (ประมาณการจากตัวเลขของ ทอท. ที่อ้างว่าขยายอาคารด้านตะวันออกด้านเดียวจะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี) เพราะฉะนั้นแล้ว ดร.สามารถ มองว่า การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปีเช่นเดียวกัน ก็สามารถชะลอออกไปได้ก่อน หากเรื่องนี้ไม่ได้มีเบื้องลึก เบื้องหลังที่เอื้อต่อประโยชน์ของ เคพีเอส

 

กลิ่นตุๆ ชักจะยังไงดราม่า "สุวรรณภูมิ" เร่งเดินหน้าก่อสร้าง Terminal 2 "สามารถ" สาวเบื้องลึก อาคาร 1 เคลียร์ยัง

 

ขอบคุณ : ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte