ถอดปมดราม่า "วัยรุ่นเดินสยาม" แต่งตัวร่วมแสน วัตถุนิยม หรือสังคมบีบคั้น

กลายเป็นกระแสวิพากษ์อันร้อนระอุไปเสียแล้ว จากกรณี เพจเฟซบุ๊กนาม "หมิงขั้วโลก" ได้ทำการสำรวจแหล่งศูนย์รวมวัยรุ่น ใจกลางกรุงฯ ที่ต่างเรียกติดปากอย่างคุ้นเคยว่า "สยาม" และสถานที่แห่งนี้เอง

  ถอดปมดราม่า "วัยรุ่นเดินสยาม" แต่งตัวร่วมแสน วัตถุนิยม หรือสังคมบีบคั้น  

 

    กลายเป็นกระแสวิพากษ์อันร้อนระอุไปเสียแล้ว จากกรณี เพจเฟซบุ๊กนาม "หมิงขั้วโลก" ได้ทำการสำรวจแหล่งศูนย์รวมวัยรุ่น ใจกลางกรุงฯ ที่ต่างเรียกติดปากอย่างคุ้นเคยว่า "สยาม" และสถานที่แห่งนี้เอง คล้ายว่าจะเป็นพื้นที่ให้เหล่าบรรดาวัยรุ่นสามารถแสดงออกถึงเอกลักษณ์ในการแต่งตัวได้อย่างอิสระ ทว่าชนวนเหตุของปมดราม่าครั้งนี้ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อปรากฏว่าเครื่องแต่งกายของกลุ่มประชากรตัวอย่างมีมูลค่าตั้งแต่หลักพันไปจนถึงเกือบครึ่งล้าน

 

 

ถอดปมดราม่า "วัยรุ่นเดินสยาม" แต่งตัวร่วมแสน วัตถุนิยม หรือสังคมบีบคั้น

 

    แน่นอนว่าในเวลาต่อมาโลกออนไลน์ มีการนำประเด็นนี้ไป "ขยี้" ต่อความยาวสาวความยืดกันอย่างเมามันส์จนนำมาซึ่งการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปเป็นหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย กลุ่มที่วางตัวเป็นกลางไม่อินังขังขอบแต่อย่างใด และกลุ่มที่เป็นแสดงออกถึงความเป็นปฏิปักษ์ทางความคิดกับกลุ่มแรกอย่างชัดเจน แต่อย่างไรแล้วหากจะพักเบรกดราม่าสักครู่ และหยิบยกเหตุการณ์ครั้งนี้มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อทำความเข้าใจอย่างตรงไปตรงมา ว่าพฤติกรรมการแสดงออกเหล่านี้สะท้อนนัยยะทางสังคมอย่างไรบ้าง ดูจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย 

 

    พลวัตทางสังคมที่ไม่เคยหยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งแนวตั้งที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกนึกคิด การไหลเวียนของวัฒนธรรมตามยุคสมัย กลายมาเป็นอารยะกำหนดขอบเขตเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม และแนวนอนอันเป็นเรื่องระหว่างปัจเจก การสร้างปฏิสัมพันธ์ตลอดจนการแสดงออกความเป็นตัวตน รวมถึงสภาพแวดล้อมความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

 

ถอดปมดราม่า "วัยรุ่นเดินสยาม" แต่งตัวร่วมแสน วัตถุนิยม หรือสังคมบีบคั้น  

 

    เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องการแสวงหาความเป็นส่วนตัวความมีระดับและความเป็นหนึ่ง หรือในเชิงจิตวิทยากล่าวได้ว่า มนุษย์ล้วนแต่ต้องการนำเสนอความสมบูรณ์แบบในตัวเอง ถือเป็นเรื่องระดับปัจเจก เพราะแต่ละคนล้วนมีการแสดงออกในการนำเสนอความสมบูรณ์แบบที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจนิยมใช้ของแบรนด์เนม บางคนอาจไขว่คว้าหาชื่อเสียง ฝักใฝ่หัวโขนหลงใหลในยศฐาบรรดาศักดิ์ 

 

    ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าสังคมไทย เป็นสังคมที่มีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน อีกทั้งความพยายามที่จะทำลายระบบศักดินาในอดีตไม่เคยประสบผลสำเร็จ เห็นได้ไม่ยากจากสรรพนามแทนบุคคลทั้งหลายตั้งแต่ เกล้ากระผม,กระผม,ผม,ฉัน ตอกย้ำว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้พร่าเลือนไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด ซ้ำร้ายยังมีการแบ่งระดับสถานะทางสังคมทั้ง ชนชั้นสูง - กลาง - ล่าง หรือแม้กระทั่ง "รากหญ้า"

    ทว่าในเชิงรูปธรรมกลับปรากฏชัดว่าสถานะทางสังคมที่แตกต่าง ย่อมได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน เป็นต้นว่า หากแต่งกายเสมือนอยู่บ้านทำนองว่า เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้นไปเดินเข้าโชว์รูมรถ พนักงานขายย่อมไม่ให้ความสำคัญเทียบเท่าคนที่แต่งกายด้วยของเบรนด์เนม นอกจากนี้การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ดูดี มีความเป็นสมัยนิยมถูกกาลเทศะ ยังเป็นตัวช่วยสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบสร้างภาพลักษณ์ที่ดีมากยิ่งขึ้นในทางหนึ่งด้วย พร้อมกับเสริมสร้างบุคลิกให้มีความน่าเชื่อถือมีความมั่นใจในตันเองมากยิ่งขึ้น เมื่อค่านิยม ของสังคมเป็นเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ต่างคนอยากได้รับการยอมรับและสิทธิพิเศษเป็นธรรมดา จนทำให้ใครหลายคน เข้าสู่ความเป็น "วัตถุนิยม" โดยไม่รู้ตัว

 

 

ถอดปมดราม่า "วัยรุ่นเดินสยาม" แต่งตัวร่วมแสน วัตถุนิยม หรือสังคมบีบคั้น
  

 

    ปัจจุบันพบว่าผู้คนมักให้คุณค่ากับวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นรูปธรรมมากกว่าคุณค่าความรู้สึกทางจิตใจที่เป็นนามธรรม และมีความอยากได้ อยากเป็น และอยากครอบครอง อุดมไปด้วยภวตัณหาในตัวตน โดยมักลืมตระหนักถึง "ความจำเป็น" ตลอดจนให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ อีกทั้งอิทธิพลของสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย รวมถึงพฤติกรรมเลียนแบบ ล้วนแต่เป็นตัวชักนำจนหลายคนจำต้องไหลเวียนไปตามกระแสสังคม

 

    ในบริบทของสังคมไทยเรามักถูก "ยัดเยียด" ความสุขที่หาได้จากความ  "พอเพียง" ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี แต่อาจเป็นเรื่องที่ดูสวนทางกับสภาพสังคมอยู่บ้าง เพราะในเชิงปฏิบัติมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ความสุขของแต่ละคนมิได้ถูกยึดติดแต่เพียงทฤษฏี หากแต่ลางเนื้อชอบลางยา บางคนอาจมีความสุขจากการประหยัดมัธยัสถ์เป็น "สมถะนิยม" แต่อีกหลายคนอาจมีความสุขกับสิ่งของของแบรนด์เนมทั้งหลายทั้งมวล

    การกล่าวหาว่า ผู้นิยมของแบรนด์เนมเป็นคน "ฟุ่มเฟือย" ดูจะเป็นการตัดสินอย่างผิวเผินและฉาบฉวยเกินไปหน่อย เพราะหากพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นการเดือดร้อนเงินในกระเป๋าเจ้าตัว การซื้อความสุขด้วย "เงิน" ก็ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคมยุคปัจจุบัน 

 

 

ถอดปมดราม่า "วัยรุ่นเดินสยาม" แต่งตัวร่วมแสน วัตถุนิยม หรือสังคมบีบคั้น

 

    แต่อย่างไรแล้วถ้าสิ่งเหล่านี้เกินขอบเขต จนกลายเป็นสภาวะดิ้นรน พยายามหาวิธีต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางการเงินของตนเอง ในระยะยาวอาจจะนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาไม่จบสิ้น เช่นปัญหาหนี้สิน การลักขโมย นอกจากนี้ยังพบว่าประชากรเพศหญิงที่เสพติด "วัตถุนิยม" บางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะหันหน้าเข้าสู่วิถีการขายบริการทางเพศเป็นทางเลือกในการหารายได้เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองทางหนึ่งอีกด้วย

 

    จะเห็นได้ว่าเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อปัญหาในระดับองค์รวมของประเทศทั้งสิ้น กล่าวโดยสรุปสำคัญที่สุดคือใช้วิจารณญาณและการตัดสินใจตามความเหมาะสมให้พอดีกับฐานะตนเองและครอบครัวเป็นหลัก 

 

ดัชนีชี้วัดการประสบความสำเร็จในชีวิตมิได้ใช้เครื่องอาภรณ์เป็นตัวกำหนด สิ่งที่ควรมุ่งเน้นเป็นสำคัญคือ 

 

1. การให้คุณค่ากับตนเองหรือแนวทางการใช้ชีวิต อย่างมีแบบแผน เพราะความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน ควบคุมการใช้ชีวิตของตัวเองอย่างเป็นระบบ และทำตามเป้าหมายของตัวเอง 
2. ใช้ตัวเองเป็นมาตรฐาน อย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และต้องเป็นการกระทำที่ชัดเจนจับต้องได้ 
3. พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ
4. มองโลกในแง่ดี แม้ว่าจะพบเจอกับปัญหามากมาย แต่ด้วยทัศนคติที่ดี ก็ทำให้ปัญหานั้นสามารถแก้ไขลุล่วงได้อย่างดี
5. ไม่ยอมแพ้แม้จะเจอปัญหา เพราะ "ผู้ชนะ" ที่แท้จริงคือผู้ที่ยิ้มได้แม้ในวันที่ล้มเหลวและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาที่เข้ามา

 

เพียงเท่านี้หนทางแห่งการประสบความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

 

 

ถอดปมดราม่า "วัยรุ่นเดินสยาม" แต่งตัวร่วมแสน วัตถุนิยม หรือสังคมบีบคั้น

 

ขอบคุณภาพบางส่วนจากเฟสบุ๊ก "หมิงขั้วโลก"