แจงละเอียด "ดร.สามารถ" ซัดแม้แต่บ.ที่ปรึกษา ทอท. ยังค้าน เทอร์มินอล 2 ผิดแผนแม่บท แต่หลุมจอดเครื่องบินไม่เพิ่ม

แจงละเอียด "ดร.สามารถ" ซัดแม้แต่บ.ที่ปรึกษา ทอท. ยังค้าน เทอร์มินอล 2 ผิดแผนแม่บท แต่หลุมจอดเครื่องบินไม่เพิ่ม

จากตอนที่แล้ว ที่สำนักข่าวทีนิวส์ได้เสนอข้อมูลเบื้องลึกแผนแม่บทในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และการประมูลออกแบบราคาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) (กลิ่นตุๆ ชักจะยังไงดราม่า "สุวรรณภูมิ" เร่งเดินหน้าก่อสร้าง Terminal 2 "สามารถ" สาวเบื้องลึก อาคาร 1 เคลียร์ยัง) ไป โดยได้ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ล่าสุด ดร.สามารถ ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้งหลังจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ยังคงยืนยันเดินหน้าที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ต่อ แม้ว่าจะผิดไปจากแผนแม่บทที่เคยได้วางไว้ 

 

"ผมได้โพสต์บทความกรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กำลังจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บนตำแหน่งที่ตั้งซึ่งผิดไปจากตำแหน่งในแผนแม่บทมาแล้ว 2 บทความ ประกอบด้วยบทความเรื่อง "เบื้องลึก!!! ทอท.เดินหน้าก่อสร้างเทอร์มินัล 2 เมินขยายเทอร์มินัล 1" เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2561 และบทความเรื่อง "ใคร??? เสก! เทอร์มินัล 2 ให้ผิดแผนแม่บท" เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561

 

บทความนี้เป็นบทความที่ 3 ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่ปรึกษาที่ ทอท.จ้างให้บริหารจัดการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560) คือกลุ่มบริษัท EPM ก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บนตำแหน่งซึ่งผิดแผนแม่บท กล่าวคือตามแผนแม่บทจะต้องก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทางด้านใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ซึ่งอยู่ฝั่งถนนบางนา-ตราด แต่ ทอท.กลับเลือกที่จะก่อสร้างทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 "

 

ทั้งนี้ข้อมูลที่ ดร.สามารถ  เน่้นย้ำก็คือการชี้ให้เห็นว่าบ.ที่ปรึกษา ที่ทาง ทอท.จ้างให้เข้ามาบริหารจัดการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560) คือกลุ่มบริษัท EPM ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บนตำแหน่งซึ่งผิดแผนแม่บท โดยจากแผนแม่บทเดิมจะต้องก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทางด้านใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ซึ่งอยู่ฝั่งถนนบางนา-ตราด

 

แต่ ทอท. กลับเลือกที่จะก่อสร้างด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ ทางกลุ่มที่ปรึกษา บ. EPM ได้ทำรายงานการวิเคราะห์ถึงขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเดือน พ.ค.2556 โดยเสนอให้ ทอท. พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บท คือให้ขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ด้านทิศตะวันออก พร้อมกับก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ตามด้วยการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ฝั่งถนนบางนา-ตราด และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 ตามลำดับ จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 100 ล้านคนต่อปี

 

แจงละเอียด "ดร.สามารถ" ซัดแม้แต่บ.ที่ปรึกษา ทอท. ยังค้าน เทอร์มินอล 2 ผิดแผนแม่บท แต่หลุมจอดเครื่องบินไม่เพิ่ม

และผลจากการที่ทอท. ไม่ทำตามข้อเสนอแนะของกลุ่ม บ.EPM  โดยการตัดสินใจก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทำให้กลุ่ม บ.EPM ต้องทำหนังสือถึง ทอท. ลงวันที่ 29 ส.ค. 2557 คัดค้านการตัดสินใจดังกล่าวของ ทอท. อีกครั้งเนื่องจากมีความกังวลว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 จะก่อให้เกิดปัญหาทางเทคนิคหลายประการขึ้น เช่น

 

1. ไม่มีพื้นที่ให้เครื่องบินจอดเพียงพอที่จะทำให้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งผิดแผนแม่บทสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี (ในขณะนั้น ทอท.ระบุว่าต้องการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบัน ทอท.เพิ่มขีดความสามารถของอาคารดังกล่าวเป็น 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะทำให้น่ากังวลมากยิ่งขึ้น)

 

2. การก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กับหลังที่ 1 ใกล้ๆ กับอาคารจอดรถ ซึ่งมีพื้นที่แคบๆ จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการก่อสร้าง การหาพื้นที่สำหรับก่อสร้างสถานี และโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และมีปัญหากับโครงสร้างถนนยกระดับและสะพานคนข้ามจากอาคารจอดรถ

 

นอกจากนี้ทางกลุ่ม บ.EPM ยังพยายามเน้นย้ำว่าการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องดำเนินไปตามแผนแม่บทที่ได้มีการศึกษาและวางแผนไว้อย่างรอบคอบ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บนตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บทจะทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนในการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิในอนาคต ที่สำคัญ การก่อสร้างโครงการใดโครงการหนึ่งในสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องเป็นโครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการของสนามบิน ไม่ใช่เป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดความแออัดและความล่าช้าทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก ซึ่งจะนำไปสู่การเสียโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคนี้ได้

 

นอกจากไม่เชื่อคำแนะนำ ปรากฎว่าหลังจากนั้น ทอท. ได้มีหนังสือถึงกลุ่ม บ.EPM บอกเลิกสัญญาจ้างกลุ่ม บ.EPM เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2555-2560) ซึ่งมีระยะเวลาปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายใน 58 เดือน (1 มิถุนายน 2555 ถึง 31 มีนาคม 2560) โดยอ้างว่า ทอท.มีการพิจารณาทบทวนรูปแบบและการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เป็นผลให้ ทอท.ต้องทำการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บทด้วยตนเอง ไม่ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา และได้มีรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 

 

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี ไม่ใช่ 30 ล้านคนต่อปี ตามที่ ทอท.ชี้แจง จึงเป็นข้อน่าสังเกตว่าผู้โดยสารจำนวน 10 ล้านคนต่อปีที่เพิ่มขึ้นมานั้น เพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร


อย่างไรก็ตาม ทอท.มีแผนที่จะขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โดยเป็นการขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ออกไปทางด้านตะวันออกรวมอยู่ด้วย แต่การขยายอาคารด้านตะวันออกนั้นจำเป็นจะต้องรื้ออาคาร City Garden ที่บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด หรือเคพีเอส ได้รับอนุมัติจาก ทอท.ให้สร้างขึ้นเป็นอาคาร 2 ชั้น โดยชั้นที่ 1 ใช้เป็นสำนักงาน และชั้นที่ 2 เป็นกิจกรรมร้านอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งนี้ มีเอกสารเป็นหลักฐานยืนยันว่าเคพีเอสมีความยินดีที่จะปรับรื้ออาคาร City Garden ออกไป หาก ทอท.ต้องการขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก แต่สุดท้าย งานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกก็ถูกยกเลิกไป 

 

แจงละเอียด "ดร.สามารถ" ซัดแม้แต่บ.ที่ปรึกษา ทอท. ยังค้าน เทอร์มินอล 2 ผิดแผนแม่บท แต่หลุมจอดเครื่องบินไม่เพิ่ม

 

และเรื่องนี้ทำให้เกิดข้อคำถามขึ้นมาว่า... ทำไม ทอท.จึงยกเลิกงานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก มุ่งเป้าคำถามนี้จากมติคณะกรรมการ ทอท.ครั้งที่ 6/2561 ซึ่งเป็นการประชุมเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 เห็นชอบในหลักการให้ ทอท. ดำเนินโครงการก่อสร้างงานขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตกแทนด้านทิศตะวันออก ตามที่ฝ่ายบริหาร ทอท. เสนอ ซึ่งนั่นหมายความว่า ทอท. เปลี่ยนใจไม่ยอมขยายอาคารด้านตะวันออกแต่จะขยายด้านตะวันตกแทน หากแต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะขยายเมื่อไร

 

การเปลี่ยนใจของ ทอท. ในครั้งนี้สร้างความสงสัยให้กับหลายฝ่ายเนื่องจาก ทอท. ได้ออกแบบงานขยายอาคารด้านตะวันออกไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะก่อสร้าง รวมถึงได้เตรียมที่จะก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถเพื่อรองรับงานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกไว้แล้ว

 

การปรับแผนทั้งหมดของ ทอท. เรียกว่ารวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตำแหน่งที่ตั้งของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่ตัดสินใจเปลี่ยนภายใน 1 เดือน หลังจากนั้น ทอท. ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามตำแหน่งที่ตั้งที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการ ทอท. โดยไม่ได้จ้างบ.ที่ปรึกษา และได้มีรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ออกมาเมื่อเดือน ก.พ. 2558 ซึ่งเป็นการศึกษาและวิเคราะห์ได้แล้วเสร็จในช่วงเวลาสั้นๆ เรียกได้ว่า สั้นกว่าการจ้างบ.ที่ปรึกษา ด้วยซ้ำ 

 

หรือจะพูดให้ชัดก็คือ ทอท. เปลี่ยนแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิได้ภายในเวลาไม่นาน ทั้งๆ ที่ ทอท. ได้ปรับแก้แผนแม่บทมาแล้วหลายครั้งโดยจ้างบ.ที่ปรึกษา และทุกครั้งก็ยังคงตำแหน่งของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ไว้ทางทิศใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เหมือนเดิม

 

การเปลี่ยนแผนแม่บทอย่างมีนัยสำคัญของ ทอท. ในครั้งนี้ทำให้ประชาชน รวมถึงดร.สามารถ เกิดคำถามขึ้นมากมาย ใคร เป็นคนเสกอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ขึ้นมาบนตำแหน่งที่ตั้งใหม่ซึ่งผิดไปจากแผนแม่บท?? ทำไม ถึงไม่มีการขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ด้านตะวันออก ฝากไว้ให้คิด...

 

แจงละเอียด "ดร.สามารถ" ซัดแม้แต่บ.ที่ปรึกษา ทอท. ยังค้าน เทอร์มินอล 2 ผิดแผนแม่บท แต่หลุมจอดเครื่องบินไม่เพิ่ม

 

ล่าสุด "ดร.สามารถ" ยังโพสต์ข้อความชี้ให้เห็นว่า การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร 2 ใช้พื้นที่เกือบ 4 แสนตารางเมตร แต่เมื่อดูรายละเอียดแล้ว กลับไม่ได้มีการสร้างหลุมจอดเครื่องบินเพิ่มแต่อย่างใด โดยได้โพสต์บทความกรณีบริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (เทอร์มินอล 2) บนตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บทมาแล้ว 3 บทความ โดยได้ชี้ให้เห็นว่า (1) เหตุใด ทอท.จึงไม่ขยายเทอร์มินอล 1 ด้านทิศตะวันออกตามแผนที่วางไว้ (2) เทอร์มินอล 2 ที่ผิดแผนแม่บทเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และ (3) ผลเสียที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ซึ่งผิดแผนแม่บทตามที่กลุ่มที่ปรึกษาของ ทอท.ได้ทักท้วง 

 

บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า การที่ ทอท.จะก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 ซึ่งผิดไปจากตำแหน่งในแผนแม่บทที่ได้ระบุให้ก่อสร้างทางด้านใต้ของเทอร์มินัล 1 หรือทางฝั่งถนนบางนา-ตราด แม้จะมีพื้นที่ใช้สอยมากมายถึง 348,000 ตารางเมตรก็ตาม แต่การก่อสร้างเทอร์มินอล 2 นั้นไม่ได้ทำให้หลุมจอดเครื่องบินเพิ่มขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิก็จะไม่เพิ่มขึ้น

 

การจะเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินได้นั้นจะต้องเพิ่มทั้งพื้นที่เทอร์มินอลและหลุมจอด จะต้องเพิ่มพื้นที่ทั้งนอกเขตการบิน (Landside หรือแลนไซด์) และในเขตการบิน (Airside หรือแอร์ไซด์) มิฉะนั้น จะทำให้เกิด "คอขวด" ที่แลนด์ไซด์หรือแอร์ไซด์ได้ หากเกิดคอขวดที่แลนด์ไซด์รถเข้าออกสนามบินก็จะติด หรือจะมีผู้โดยสารในอาคารแออัด แต่ถ้าเกิดคอขวดที่แอร์ไซด์เครื่องบินเข้าออกหลุมจอดก็จะติด ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถของสนามบินไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

 

ทอท. บอกว่าการก่อสร้างเทอร์มินอล 2 จะมีหลุมจอดประชิดอาคารจำนวน 14 หลุม แต่หลุมจอดเหล่านี้เดิมใช้เป็นหลุมจอดเครื่องบินระยะไกล ด้วยเหตุนี้ จำนวนหลุมจอดจึงไม่เพิ่มขึ้น ยังคงมีเท่าเดิมคือ 124 หลุม ซึ่ง ทอท.ก็ได้ระบุไว้ในรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ในหน้าที่ 1-21 ถึงข้อเสียในการก่อสร้างเทอร์มินอล 2 บนตำแหน่งดังกล่าวว่า "ไม่ได้เพิ่มจำนวนหลุมจอดอากาศยาน เนื่องจากหลุมจอดหน้าอาคารหลังใหม่เดิมเป็นหลุมจอดอากาศยานระยะไกลแบบค้างคืน" นั่นหมายความว่า ทอท. ได้ปรับเปลี่ยนการใช้หลุมจอดจากหลุมจอดระยะไกลจำนวน 14 หลุม เป็นหลุมจอดประชิดอาคารจำนวน 14 หลุม จึงทำให้จำนวนหลุมจอดมีเท่าเดิม ดังนั้น ขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิในภาพรวมก็จะไม่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ การก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ให้มีพื้นที่ใช้สอยถึง 348,000 ตารางเมตร จะช่วยได้เพียงบรรเทาความแออัดของผู้โดยสารในเทอร์มินอล 1 เท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยทำให้ขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของสนามบินเพิ่มขึ้น

 

ในขณะนี้มีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ขีดความสามารถของสนามบินเพิ่มขึ้น นั่นคือ ทอท.จะต้องใช้หลุมจอดของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite Terminal 1 หรือ SAT1) ซึ่งมีจำนวน 28 หลุมช่วยด้วย เทอร์มินัล 2 จะมีหลุมจอดเครื่องบินประชิดอาคาร 14 หลุม ซึ่ง ทอท. คุยว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนปี แต่ดร.สามารถ มองว่าเป็นไปไม่ได้แน่ หากไม่ใช้หลุมจอดของอาคารเทียบเครื่องบินรองช่วยด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้หลุมจอดของอาคารเทียบเครื่องบินรองจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย เพราะจะต้องใช้บริการรถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือเอพีเอ็ม) จากเทอร์มินอล 2 ไปสู่เทอร์มินอล 1 ซึ่งเป็นเอพีเอ็มลอยฟ้า ต่อจากนั้นจะต้องเปลี่ยนไปใช้เอพีเอ็มใต้ดินจากเทอร์มินอล 1 ไปสู่อาคารเทียบเครื่องบินรองเพื่อรอขึ้นเครื่องต่อไป


โดยสรุป การขยายเทอร์มินอล 1 ทั้งทางด้านตะวันออกและด้านตะวันตกจะมีข้อได้เปรียบกว่าการก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ที่ผิดแผนแม่บทดังนี้
1. ใช้เวลาสั้นกว่า
2. ใช้เงินน้อยกว่าถึงประมาณ 32,000 ล้านบาท
3. ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากกว่า เพราะใช้เอพีเอ็มใต้ดินเพียงสายเดียวเพื่อไปสู่อาคารเทียบเครื่องบิน ต่างกับการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย เพราะจะต้องใช้ทั้งเอพีเอ็มลอยฟ้าและเอพีเอ็มใต้ดิน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : "ดร.สามารถ"ชี้สร้างเทอร์มินัล2พื้นที่เกือบ4แสนตร.ม.แต่ไม่ทำหลุมจอดเครื่องบินเพิ่ม จี้"ทอท."เดินตามแผนแม่บท

 

แจงละเอียด "ดร.สามารถ" ซัดแม้แต่บ.ที่ปรึกษา ทอท. ยังค้าน เทอร์มินอล 2 ผิดแผนแม่บท แต่หลุมจอดเครื่องบินไม่เพิ่ม

 

ขอบคุณ : ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte