ถอดรหัส "ผีน้อย" ในต่างแดนปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ "กำลังพัฒนา" และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

พลันที่สงครามโลกได้สิ้นสุด ประเทศมหาอำนาจผู้ชนะสงคราม คือ สหรัฐอเมริกา ได้ขึ้นผงาดเป็นผู้กำหนด "นิยาม" ของประเทศ "พัฒนาแล้ว" หรือ "กำลังพัฒนา"

ถอดรหัส "ผีน้อย" ในต่างแดนปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ "กำลังพัฒนา" และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

 

    พลันที่สงครามโลกได้สิ้นสุด ประเทศมหาอำนาจผู้ชนะสงคราม คือ สหรัฐอเมริกา ได้ขึ้นผงาดเป็นผู้กำหนด "นิยาม" ของประเทศ "พัฒนาแล้ว" หรือ "กำลังพัฒนา" ท่ามกลางกระแสประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก สหรัฐฯ ได้พยายามผลักดันประเทศในภูมิภาคเอเชียให้ก้าวเข้าสู่การ "พัฒนา"

 

    ภายหลังประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านระบบการปกครองมาเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย สหรัฐฯ ได้ถือเอาประเทศไทยเป็นเสมือนหนึ่งจุดยุทธศาสตร์อันสำคัญ เพื่อขยายอิทธิพลสู่การเป็นมหาอำนาจทางการเมืองโลก กระแสการพัฒนาได้นำพาประเทศไทยเข้าสู่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจกลายเป็นระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทว่าด้วยเหตุปัจจัยอันหลากหลาย ทำให้เส้นทางสู่การพัฒนาต้องเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม หลากหลายประเทศที่เคยวิ่งตามหลังกลับเป็นผู้แซงหน้า แน่นอนว่าประเทศเกาหลีใต้ก็คือหนึ่งในนั้นเช่นกัน

 

 

ถอดรหัส "ผีน้อย" ในต่างแดนปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ "กำลังพัฒนา" และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม  

 

    โอกาสที่มาพร้อมความเสี่ยงดูจะเป็นเรื่องที่ท้าทายแต่ก็คุ้มค่า หากผ่านมุมมองของแรงงานผิดกฏหมายในเกาหลีใต้ ที่เรียกกันอย่างน่ารักน่าเอ็นดูว่า "ผีน้อย" กลายเป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดูจะใหญ่โตและบานปลายขึ้นทุกขณะ ด้วยจำนวนประชากรผีน้อยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  จนทางตม.เกาหลีใต้ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักท่องเที่ยวที่ประสงค์เข้าประเทศเกาหลีใต้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ อนึ่งยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยโดยตรงอีกด้วย

 

    รูปแบบการทำงานของผีน้อยโดยส่วนใหญ่จะเป็น ลูกจ้างระดับแรงงานในอุตสาหกรรมภาคการเกษตรเป็นหลัก อาทิ เก็บเกี่ยวผลผลิตตามไร่สวน หรือเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเมื่อคำนวณรายได้ต่อเดือนโดยแปลงเป็นค่าเงินบาท พบว่ามีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 40,000 บาท

 

    หันกลับมามองที่ประเทศไทย แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวันเป็น 305 – 310 บาท เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทว่าหากในทรรศนะของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน การมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 5-10 บาทต่อวัน มิได้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันแม้แต่น้อย

 

 

ถอดรหัส "ผีน้อย" ในต่างแดนปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ "กำลังพัฒนา" และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

    จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศของไทยพบว่า ปัจจุบันมีคนไทยที่เป็นแรงงานผิดกฏหมายในประเทศเกาหลีใต้มากกว่า 100,000 คน ถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดเมื่อเทียบกับชาติอื่น อาจด้วยเพราะการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการไม่ใช่เรื่องยากเพียงหาข้อมูลผ่าน google หรือ facebook จะพบว่ามีนายหน้าจำนวนมากพร้อมทำข้อตกลง และพาผู้ประสงค์จะเป็นแรงงานผิดกฏหมาย ก้าวเข้าสู่ความศิวิไลซ์ของประเทศเกาหลีใต้

 

    ทว่าเมื่อพยายามทำความเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาจะพบว่า "ราก" ของปัญหาเหล่านี้หาใช่เป็นการทำผิดของปัจเจกบุคคลเพียงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยประการหนึ่งอีกด้วย 

 

    จากรายงานความมั่นคงโลก ชี้ชัดว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากเป็นอันดับ 3 ของโลก มี "คนรวย" เพียง 1% จากประชากรทั้งหมด และ 3 ใน 4 เป็น "คนจน"  ที่ต้องประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ถูกพันธนาการด้วยระบอบชนชั้น มีค่าตอบแทนอันน้อยนิดจากค่าแรงขั้นต่ำ คุณภาพชีวิตเข้าขั้นเลวร้าย โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร การศึกษาหรือแม้กระทั่งการประกอบอาชีพที่มั่นคง แทบจะเป็นศูนย์

 

 

ถอดรหัส "ผีน้อย" ในต่างแดนปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ "กำลังพัฒนา" และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

    ปัญหาความเจริญที่กระจุกตัวอยู่แต่เพียงเมืองหลวงที่ภาครัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นความล้มเหลวที่ก่อให้เกิดการแบ่งชนชั้น ความไม่เท่าเทียมขึ้นในสังคม เห็นได้จากคนต่างจังหวัดที่จำต้องละทิ้งภูมิลำเนาเข้ามาหาความศิวิไลซ์ในเมืองกรุง เพราะถึงแม้ว่าการอยู่แบบอัตคัตในต่างถิ่นต่างแดนจะไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์นัก แต่หากสามารถจุนเจือครอบครัวที่อยู่ข้างหลังได้ ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่พวกเขาเหล่านี้นำมาพิจารณา 

 

    การก้าวข้ามจาก "กำลังพัฒนา" เป็น "พัฒนาแล้ว" อาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในเร็ววันนี้ อย่างไรแล้วรัฐบาลควรเป็นตัวกระตุ้นและผลักดันเพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันยังพบว่าสังคมไทยมักให้ความสำคัญกับความ "ทันสมัย" มากกว่าการ "พัฒนา" วิสัยทัศน์และนโยบายของภาครัฐ ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำลายกำแพงแห่งความเหลื่อมล้ำเพื่อยกระดับเป็นประเทศพัฒนาโดยสมบูรณ์

 

 

ถอดรหัส "ผีน้อย" ในต่างแดนปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ "กำลังพัฒนา" และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

 

 

ถอดรหัส "ผีน้อย" ในต่างแดนปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ "กำลังพัฒนา" และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม