กลายเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง จากกรณีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) คณะกรรมการจัดระเบียบรถตู

จัดระเบียบรถตู้ เกิน 10 ปี ห้ามวิ่ง ล้วงลึกความรู้สึกของผู้ประสบโดยตรง หนทางแก้สู่ความปลอดภัยหรือจุดเริ่มต้นแห่งภาระ

 

    กลายเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง จากกรณีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) คณะกรรมการจัดระเบียบรถตู้ พล.ม.2 รอ มีคำสั่งให้รถตู้โดยสารสาธารณะกว่า 1,800 คัน ที่มีอายุรถครบ 10 ปี หยุดวิ่งบริการรับส่งผู้โดยสารตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา

 

    ทั้งนี้การกำหนดอายุรถตู้โดยสารห้ามเกิน 10 ปี ดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ครั้งที่ 8/2551 เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและรักษามาตรฐานคุณภาพการให้บริการ 

 

    เป็นเหตุให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปว่า นโยบายดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือสอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในห้วงปัจจุบัน หรือไม่อย่างไร 

 

    เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า ท่ามกลางวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบของชาวกรุง การใช้บริการรถตู้โดยสารถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ประหยัดค่าใช้จ่าย แม้นว่าที่ผ่านมาจะมีประเด็นว่าด้วยเรื่องคุณภาพการให้บริการหรือปัญหาด้านบุคลากรอยู่บ้าง

 

 

จัดระเบียบรถตู้ เกิน 10 ปี ห้ามวิ่ง ล้วงลึกความรู้สึกของผู้ประสบโดยตรง หนทางแก้สู่ความปลอดภัยหรือจุดเริ่มต้นแห่งภาระ

 

    แต่เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว จะพบว่าด้วยข้อจำกัดบางประการของประชากรบางกลุ่ม ได้กลายเป็น "ภาวะจำยอม" เมื่อมองผ่านทรรศนะของเขาเหล่านี้ การเดินทางด้วยรถตู้โดยสารจึงเป็นเสมือนปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตได้โดยปริยาย 

 

    ล่าสุด สำนักข่าวทีนิวส์ได้ทำการลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์จากสองฝั่งความคิดเห็น ทั้งกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ "พนักงานขับรถตู้" ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้โดยตรงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และผู้โดยสารที่ใช้บริการรถตู้เป็นประจำ ถือเป็นข้อมูลปฐมภูมิที่อาจนำไปสู่การวิเคราะห์ เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป

    คล้ายว่าจะเป็นการตัดช่องทาง "ทำมาหากิน" จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เรียบง่ายว่าคงไม่มีใครเห็นด้วย จากความเห็นของกลุ่มพนักงานคนขับรถตู้ สาย ต. 43 - 10 รามคำแหง - เดอะมอลงานวงศ์วาน ที่กำลังอยู่ในช่วงพักผ่อนเพื่อเตรียมจะออกรถในรอบถัดไป ได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

 

    ก่อนอื่นต้องตั้งคำถามกลับไปยังภาครัฐว่า การสั่งให้รถตู้ที่มีอายุครบ 10 ปี หยุดวิ่งนั้นใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด เพราะปัจจุบันรถตู้โดยสารที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนสภาพการใช้งานโดยรวมถือว่ายังไม่มีปัญหา จากการสอบถามเพิ่มเติมพบว่ารถตู้ส่วนใหญ่ในบริเวณนั้นมีอายุใช้งานมา 8 ปี ซึ่งหมายความว่าอีก 2 ปีข้างหน้าพวกเขาเหล่านี้จะได้รับผลกระทบโดยตรง จากราคาตามรถตู้โดยสารตามท้องตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านบาท แต่เมื่อผ่านการผ่อนชำระจะอยู่ที่ 2 ล้านบาท ด้วยพื้นฐานของค่าใช้จ่าย จึงมีภาระสวนทางกับรายได้อย่างสิ้นเชิง

 

    เมื่อถามว่าได้มีการวางแผนล่วงหน้าหรือไม่นั้น ต้องพบกับความจริงที่น่าเศร้า ว่ารถตู้โดยสารส่วนใหญ่นั้นต้องใช้เวลาผ่อนประมาณ 7-8 ปี อีกทั้งค่างวดไม่สอดคล้องกับรายได้ จึงต้องไปกู้ยืมหนี้สินเพื่อมาประทังให้รอดพ้นไปแต่ละเดือน โอกาสที่จะ "ลืมตาอ้าปาก" ได้นั้นแทบจะเป็นศูนย์ 

 

    เนื่องด้วยยึดอาชีพนี้มาทั้งชีวิต และแต่ละคนก็มีอายุมากขึ้น สิ่งที่ต้องการอุทธรณ์ต่อภาครัฐนั้น เป็นเพียงแค่การขอเพิ่มระยะเวลาจากเดิม 10 ปี ให้เป็น 15 ปี ให้ตนได้หายใจหายคอ มีเวลาเก็บเงินเพิ่มพอให้สามารถไปดาวน์รถคันใหม่ได้ นอกจากนี้ยังยืนยันว่าในทุกๆ ปีจะมีการตรวจสภาพรถ และรับการตรวจจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ทุก 6 เดือน จึงอยากให้ตัดสินจากความพร้อม-ไม่พร้อมของสภาพรถ มากกว่าที่จะเป็นการคัดกรองจากอายุการใช้งานของรถ

 

 

จัดระเบียบรถตู้ เกิน 10 ปี ห้ามวิ่ง ล้วงลึกความรู้สึกของผู้ประสบโดยตรง หนทางแก้สู่ความปลอดภัยหรือจุดเริ่มต้นแห่งภาระ

    ท่ามกลางแสงแดดร้อนระอุในช่วงบ่ายคล้อย พลุกพล่านไปด้วยผู้คนหน้าป้ายรถเมล์ตรงข้ามเซนทรัลเวสเกต พวกเขามีจุดหมายปลายทางต่างกัน หากเหมือนกันตรงที่ล้วนเลือกการเดินทางด้วยรถตู้โดยสาร จากการสัมภาษณ์ผู้ที่ใช้บริการเป็นประจำนั้นได้ให้ความเห็นในฐานะผู้บริโภคว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะด้วยความปลอดภัยของตัวเครื่องยนต์ หรือคุณภาพโดยรวมของตัวรถ ที่มีอายุการใช้งานจำกัด แต่หากมองในสถานะของผู้ประกอบการก็ต้องหา "จุดร่วม" เช่นอาจต้องมาดูกรอบระยะเวลาที่กำหนดอีกทีว่าเพิ่มเป็น 15 ปีได้หรือไม่ หรืออาจไปพัฒนาด้านความปลอดภัยของตัวบุคลากรให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มสวัสดิภาพในการใช้บริการของผู้โดยสาร

 

    นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากจำนวนรถตู้หายไปตามกฏหมายที่ประกาศใช้ อาจส่งผลกระทบโดยตรงถ้าในอนาคตภาครัฐยังไม่หามาตรการอื่นเข้ามาช่วยเหลือ เช่นหารถใหม่มาทดแทน หรือมีบริการขนส่งมวลชนในรูปแบบอื่นให้มากขึ้น สำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างจังหวัดเป็นประจำย่อมได้รับผลกระทบจากจำนวนรถที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ความถี่ในการเดินทางต้องลดน้อยลงไปด้วย

 

    เหล่านี้เป็นความเห็นส่วนหนึ่งจากทั้งสองฝ่าย อย่างไรแล้วผลสุดท้ายจากประเด็นดังกล่าวก็ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ทุกฝ่ายต่างหวังว่ารัฐบาลควรจะเป็น "ตัวกลาง" ในการหาทางออกจากวังวันของปัญหาขนส่งมวลชนในประเทศไทย ที่ยังไม่เข้าสู่การ "พัฒนา" อย่างเป็นรูปธรรม

 

    ในตอนต่อไปสำนักข่าวทีนิวส์จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจในปัญหา และข้อพิพาทที่ว่า ”รถเมล์” มีอายุการใช้งานที่มากกว่าแต่กลับยังปล่อยให้วิ่งต่อไปได้ ผ่านมุมมองของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ จะเป็นอย่างไรนั้นโปรดติดตามกันต่อไป

 

 

จัดระเบียบรถตู้ เกิน 10 ปี ห้ามวิ่ง ล้วงลึกความรู้สึกของผู้ประสบโดยตรง หนทางแก้สู่ความปลอดภัยหรือจุดเริ่มต้นแห่งภาระ