ปรากฏการณ์ "ลัทธิเบคอน" เมื่อบทบาททางศาสนาจะไม่ถูกจำกัดแค่เพียงศรัทธา จึงกำเนิดศาสนาแห่งเหตุผล

เมื่อความ "ทันสมัย" เข้ามามีบทบาท ทำให้ความคิดของคนเริ่มอิสระมากขึ้น การนับถือศาสนาที่ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็เริ่มมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไป เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ใน "กระแสโลกาภิวัฒน์" จะพบเห็นลัทธินิกายเล็กๆ ที่กระจุกอยู่ด้วยกัน

ปรากฏการณ์ "ลัทธิเบคอน" เมื่อบทบาททางศาสนาจะไม่ถูกจำกัดแค่เพียงศรัทธา จึงกำเนิดศาสนาแห่งเหตุผล

 

 

    เมื่อความ "ทันสมัย" เข้ามามีบทบาท ทำให้ความคิดของคนเริ่มอิสระมากขึ้น การนับถือศาสนาที่ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็เริ่มมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไป เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในกระแส "โลกาภิวัฒน์" จะพบเห็นลัทธินิกายเล็กๆ ที่กระจุกอยู่ด้วยกันเพื่อ ต่อต้านวัฒนธรรมบางประการ เหล่านี้กลับไม่ใช่ทรรศนะแบบใหม่ เพราะเป็นการตอกย้ำคำทำนายของ ปีเตอร์ เบอร์เกอร์ นักสังคมวิทยา ที่ทำนายไว้เมื่อปี 1968

 

    กล่าวคือ บทบาทของศาสนาจะไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ความ "ศรัทธา" อีกต่อไป หากถูกแทนที่ด้วยกระบวนความคิดเชิงเหตุผล เป็นการปลดเปลื้องพันธนาการจาก "อภิปรัชญา" ที่ดูจะจับต้องและหาคำอธิบายไม่ได้ โดยสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่คือ "ศาสนาแห่งเหตุผล" 

 

    ราวกับตลกร้าย เมื่อแนวคิดแบบ "เสรีนิยม" ที่มีอิทธิพลเป็นอย่างสูงต่อสังคมโลกปัจจุบัน ถูกหยิบยกมาใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อและสุดโต่ง จนกลายเป็นการแสดงออกถึงความขัดแย้งกับแนวคิดทางศาสนาดั้งเดิมของโลก อย่างไรก็ตามปัจเจกชนสามารถเลือกนับถือศาสนาได้ หากมิได้อยู่ภายใต้การปกครองแบบ "คอมมิวนิสต์" 

 

 

ปรากฏการณ์ "ลัทธิเบคอน" เมื่อบทบาททางศาสนาจะไม่ถูกจำกัดแค่เพียงศรัทธา จึงกำเนิดศาสนาแห่งเหตุผล

 

    ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นอเทวนิยม (atheist) คือ ทรรศนะที่ไม่เชื่อว่ามีพระเป็นเจ้าแต่เชื่อในกฎธรรมชาติ หากคนส่วนใหญ่ยังมีทรรศนะเชิงลบต่อคนกลุ่มนี้ โดยมองว่า กลุ่มคนไม่มีศาสนาเป็นคนไม่ดี โดยไม่แยกความต่างระหว่าง "ไม่มีศาสนา" กับ "ไม่มีศีลธรรม"

    เช่นเดียวกับ "ลัทธิบูชาเบคอน" หรือ The United Church of Bacon ก่อตั้งเมื่อปี 2010 อันมีต้นกำเนิดลัทธิ มาจากผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งการบูชา "พระคริสต์" ลัทธินี้ได้ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มที่ไม่นับถือพระเจ้า ที่ต้องการจะต่อต้าน "การเหยียด" คนที่ไม่นับถือพระเจ้าประการหนึ่งเพื่อให้สังคมได้ตระหนักว่าการที่ไม่นับถือพระเจ้า ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นจะเป็นคน "ไม่ดี" เพราะเขาเหล่านี้ถือเป็นอเมริกันชนที่ควรได้รับการยอมรับ มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันทั้งสิ้น

 

    ลัทธิเบคอน เชื่อในความไม่เชื่อ (faith to not have faith) โดยยึดมั่นในหลักความรักและความยุติธรรม ที่สำคัญคือเป็นแหล่งรวมของคนไม่มีศาสนา แต่คล้ายว่าจะเป็นการ "เหยียดในเหยียด" เพราะลัทธิเบคอนมีคำขวัญประจำลัทธิว่า "เบคอนคือพระเจ้าของเรา เพราะเบคอนมีอยู่จริง" เป็นการเสียดสีศาสนาที่อุปทานในปาฏิหาริย์ ทางศาสดา John Whiteside เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเบคอนในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเบคอนหมู จะเป็นเบคอนไก่หรือเบคอนวีแกนก็ได้ทั้งสิ้น

 

 

ปรากฏการณ์ "ลัทธิเบคอน" เมื่อบทบาททางศาสนาจะไม่ถูกจำกัดแค่เพียงศรัทธา จึงกำเนิดศาสนาแห่งเหตุผล

ทั้งนี้ยังประกอบไปด้วยบัญญัติ 8 ประการ ได้แก่

1.รู้จักตั้งคำถาม
2.ศาสนาไม่แทรกแซงการเมือง
3.ศาสนาไม่มีสิทธิพิเศษในสังคม
4.เล่นสนุก เสียดสี และวิพากษ์วิจารณ์กันได้
5.เมตตาปราณีเพื่อนร่วมโลก
6.บริจาคเงินช่วยเหลือสังคม
7.สรรเสริญเบคอน
8.สถาบันทางศาสนาต้องจ่ายภาษี

 

    ในอีกมุมหนึ่ง ลัทธิเบคอน ยังเป็นการปรับตัวของศาสนาให้เข้ากับความเป็น "บริโภคนิยม" กล่าวคือ เน้นคุณค่าแบบวัตถุนิยม มุ่งสนองความต้องการทางวัตถุ และที่เห็นได้ชัดคือสัญลักษณ์ของศาสนาที่แปรเปลี่ยนไปเป็นสินค้าในรูปแบบของอาหาร
 

 

    จากปรากฏการณ์ทางศาสนาที่เกิดขึ้น หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาอาจเป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวของศาสนาดั้งเดิม ที่ไม่อาจปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระแสโลก จากการพยายามยึดติดอยู่กับธรรมเนียมประเพณีตลอดจนค่านิยมแบบเดิมๆ ทำให้การเกิดใหม่ของศาสนาหรือลัทธิ ที่มีอัตลักษณ์ เป็นของตนเอง โดยไม่อิงหรือสนใจกับอัตลักษณ์เก่าของศาสนาดั้งเดิมจึงเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงมิได้ 
 

 

    อย่างไรแล้วคงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์กันต่อไปในอนาคตว่าทิศทางของศาสนาจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะศาสนามิได้ "อันตรธาน" เพียงแต่กำลังพยายาม "ปรับตัว" เพื่อให้ทันตามยุคสมัยเท่านั้น

 

 

ปรากฏการณ์ "ลัทธิเบคอน" เมื่อบทบาททางศาสนาจะไม่ถูกจำกัดแค่เพียงศรัทธา จึงกำเนิดศาสนาแห่งเหตุผล