เด็กไทยถูกรังแกในโรงเรียนติดอันดับ 2 ของโลก เฉลี่ยปีละ 6 แสนคน

ติดตามรายละเอียด www.tnews.co.th

จากกรณีที่ปรากฏคลิปวีดีโอของรุ่นพี่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 รุมทำร้ายเด็กชั้น ป.4 ซึ่งเป็นเด็กพิเศษจนกลายเป็นประเด็นบนสื่อโซเชียลที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงในโรงเรียนของไทยนั้น สำหรับประเด็นดังกล่าวเมื่อต้นปี 2561 นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เคยเปิดเผยไว้ว่า สถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น มีตั้งแต่ระดับอนุบาล ที่น่าห่วงคือเข้าถึงสื่อโซเซียลมีเดียง่าย พ่อแม่และครูมีเวลาให้ เด็กเรียนรู้ความรุนแรงจากเกม สื่อต่างๆ ไปใช้กับเพื่อน มีเด็กจำนวนถูกรังแก ล้อเลียน ทำให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่อยากไปโรงเรียนมากขึ้น และยังพบปัญหาใหม่มีการรังแกกันผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งการใช้ข้อความ ภาพ หรือคลิปวิดีโอบนโลกอินเตอร์เน็ต

 

เด็กไทยถูกรังแกในโรงเรียนติดอันดับ 2 ของโลก เฉลี่ยปีละ 6 แสนคน

ทั้งนี้ การสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบมีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 600,000 คน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก มีสัดส่วนนักเรียนถูกเพื่อนรังแกสูงถึงร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ในปี 2553 การสำรวจนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 33 เคยรังแกผู้อื่นทางออนไลน์ ร้อยละ 43 บอกเคยถูกคนอื่นรังแก

"การรังแกกันเป็นจุดเริ่มต้นการถูกปลูกฝังเรื่องความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย มีผลในระยะยาวฝ่ายที่ถูกรังแก มักเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หากถูกกดดันรุนแรงหรือเรื้อรัง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น หรือทำร้ายตนเอง รุนแรงถึงฆ่าตัวตาย ส่วนคนที่รังแกคนอื่นจะนิสัยเคยชิน จะมีปัญหาบุคลิกภาพแบบใช้ความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ความรู้สึกผิดน้อย ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาล อาชญากรได้ สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว" นพ.บุญเรือง กล่าว

 

เด็กไทยถูกรังแกในโรงเรียนติดอันดับ 2 ของโลก เฉลี่ยปีละ 6 แสนคน

ด้านพญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เด็กกลุ่มเสี่ยงถูกรังแกมากที่สุดคือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า เด็กพิการ และเด็กเพศทางเลือก ซึ่งมีรายงานถูกรังแกมากที่สุด ส่วนเด็กที่รังแกผู้อื่น พบว่าเป็นเด็กกลุ่มที่ครอบครัวมีการใช้ความรุนแรง หรือเด็กที่ป่วยโรคทางจิตเวช อาทิ สมาธิสั้น เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งขณะนี้สถาบันฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมป้องกันการรังแกกันในโรงเรียนที่สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนไทย เน้นที่กลุ่มเด็กชั้นประถมศึกษา อายุ 6-13 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยของการเรียนรู้เรื่องเพื่อน การพัฒนาบุคลิกภาพ พัฒนาการด้านศีลธรรมและการอยู่ในสังคมที่สำคัญ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมใช้ทั่วประเทศในปีการศึกษาหน้านี้

 

เด็กไทยถูกรังแกในโรงเรียนติดอันดับ 2 ของโลก เฉลี่ยปีละ 6 แสนคน