ระวัง "โรคหัด" ระบาด หนักสุดที่ยะลา เผยต้นตอปัญหา ความละเอียดอ่อนที่คาบเกี่ยวทางการแพทย์

สถานการณ์แพร่ระบาดของ "โรคหัด" ในจังหวัดยะลาเริ่มไม่สู้ดีนัก เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2561 โรงพยาบาลศูนย์ยะลาเผยสาเหตุของการแพร่ระบาดนั้นโดยหลักมาจากปัญหา การให้ความสำคัญต่อการฉีดวัคซีนค่อนข้างต่ำ

ระวัง "โรคหัด" ระบาด หนักสุดที่ยะลา เผยต้นตอปัญหา ความละเอียดอ่อนที่คาบเกี่ยวทางการแพทย์

 

    สถานการณ์แพร่ระบาดของ "โรคหัด" ในจังหวัดยะลาเริ่มไม่สู้ดีนัก เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2561 โรงพยาบาลศูนย์ยะลาเผยสาเหตุของการแพร่ระบาดนั้นโดยหลักมาจากปัญหา การให้ความสำคัญต่อการฉีดวัคซีนค่อนข้างต่ำ และปริมาณวัคซีนที่ไม่เพียงพอ ทำให้โรคที่ป้องกันด้วยวัคซีน สามารถเกิดขึ้นได้ จากข้อมูลล่าสุดมีผู้ป่วยในห้องไอซียูทั้งสิ้น 3 ราย 
 

 

    ทั้งนี้จากผลสำรวจยังพบว่าการแพร่ระบาดของโรคหัดในช่วงเวลานี้พบได้ในทุกพื้นที่ โดยมียอดรวมสะสมกว่า 890 ราย จากช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือนนับตั้งแต่ ก.ย. 2561 จนถึงตอนนี้สามารถสรุปได้ว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปกติโรคหัดจะพบการเสียชีวิตน้อย ตรงข้ามกับจังหวัดยะลาที่มีผู้เสียชีวิตเป็นตัวเลขที่แน่นอนคือ 10 ราย ซึ่งกระจายอยู่ใน 4 อำเภอของจังหวัดยะลา คืออำเภอกรงปินัง อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา และอำเภอกาบัง 
 

 

    ประเด็นที่สะท้อนนัยสำคัญคือผู้เสียชีวิต "ไม่เคย" ได้รับวัคซีน มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ อีกทั้งยังมีภาวะแทรกซ้อนมีปอดอักเสบและมีภาวะขาดสารอาหารทุกรายด้วยปัจจุบันมีตัวเลขของการฉีดวัคซีนได้ประมาณ 40 – 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากข้อมูลเพิ่มเติมของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปรากฏตัวเลขที่ชวนขบคิดต่อไปว่า ในปี 2561 นี้มีอัตราป่วยโรคหัดทั้งประเทศ 4 คนต่อประชากร 100,000 คน (4:100,000) แต่ในจังหวัดยะลากลับมีผู้ป่วยกระจุกตัวเป็นจำนวนมากด้วยอัตราส่วนถึง 51:100,000 

 

    จากข้อมูลเชิงประจักษ์และข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเหตุใดชุมชนในพื้นที่ระบาดจึงปล่อยปละละเลย ไม่ตระหนักถึงการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่าง "การฉีดวัคซีน" แต่เมื่อพิเคราะห์อย่างรอบคอบในทุกมิติ จะพบว่าต้นตอของปัญหาคือเรื่องละเอียดอ่อนที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับคำสอนของ "ศาสนาอิสลาม" ซึ่งเป็นศาสนาของประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดยะลา หรือที่เรียกว่า "ชาวมุสลิม"

 

 

ระวัง "โรคหัด" ระบาด หนักสุดที่ยะลา เผยต้นตอปัญหา ความละเอียดอ่อนที่คาบเกี่ยวทางการแพทย์

    ก่อนหน้านี้มีความกังวลนำมาซึ่งข้อถกเถียงเกี่ยวกับ ส่วนประกอบของวัคซีนที่ขัดต่อบทบัญญัติศาสนาของชาวมุสลิม เพราะปรากฏว่ามีผู้ปกครองเชื่อว่าวัคซีนปนเปื้อนสารพันธุกรรมของ "หมู" จึงทำให้ไม่สามารถรับวัคซีนได้ แต่หากจะสรุปว่า "วัคซีนไม่มีส่วนประกอบของหมู" ก็ไม่ถูกต้องไปเสียทีเดียว เพราะวัคซีนจำเป็นต้องใช้ เจลาติน (gelatin) เพื่อทำให้วัคซีนคงตัว ซึ่งกระบวนวิธีให้ได้มาซึ่งเจลลาตินมาจากการสกัด เอ็น กระดูก และกระดูกอ่อนของสัตว์หลายชนิด

 

ระวัง "โรคหัด" ระบาด หนักสุดที่ยะลา เผยต้นตอปัญหา ความละเอียดอ่อนที่คาบเกี่ยวทางการแพทย์

 

    อย่างไรก็ตามวัคซีนป้องกันแต่ละโรคนั้นจะมีการสกัดเจลลาตินจากสัตว์ที่ต่างชนิดกันไป มิได้หมายความจะสกัดจาก "หมู" อย่างเดียวเท่านั้น แต่จากคำวินิจฉัย ที่ 06 / 2556 ของจุฬาราชมนตรี (ผู้นำสูงสุดในกิจการศาสนาอิสลามที่ทางราชการแต่งตั้งขึ้น) สรุปความอันสำคัญได้ว่า

 

    หลักศาสนบัญญัติและสถิติการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคโปลิโอและโรคอื่นๆ แล้ว พบว่า วัดซีนดังกล่าวทั้งชนิดรับประทานและฉีดสามารถป้องกันและลดอัตราการเป็นโรคโปลิโอและโรคอื่นๆ ในเด็กได้และสภานิติศาสตร์อิสลามนานาชาติ โดยองค์การที่ประชุมอิสลามได้รณรงค์และส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกกว่า 57 ประเทศ ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ความพยายามในการกำจัดโรคโปลิโอและโรคอื่นๆ ให้หมดสิ้นไป ดังนั้นจึงเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ปกครองในการนำลูกหลานของตนไปรับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอและโรคอื่นๆ ณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับที่องค์กรด้านบทบัญญัติของศาสนาอิสลามแห่งอินโดนีเซีย ที่ประกาศชัดว่าวัคซีน MR ได้รับอนุญาตให้ใช้โดยคนมุสลิม ได้แม้ว่าจะมีสารที่สกัดจากหมูเป็นองค์ประกอบ

 

    อนึ่ง โรคหัด (Measles) คือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจสามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง พบมากสุดในกลุ่มอายุ 0-4 ปี ถ้าอาการไม่รุนแรงอาจหายได้เอง แต่ถ้ารุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ ปอดอักเสบ สมองอักเสบ จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด

    โดยทั่วไปจะเกิดอาการของโรคภายใน 14 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส เริ่มตั้งแต่เป็นไข้ตัวร้อน คล้ายไข้หวัด หลังจากนั้นเพียง 3-5 วัน จะมีผื่นขึ้นตามร่างกายคล้ายผื่นคันตามผิวหนัง โดยเกิดผื่นแดงหรือสีแดงออกน้ำตาลขึ้นเป็นจุดบนหน้าผากก่อน แล้วค่อยแพร่กระจายมาที่ใบหน้าและลำคอ หากปรากฏอาการดังกล่าวควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด การป้องกันโรคนั้น สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำว่าการฉีดวัคซีนต้องฉีดทั้งหมดสองเข็ม เข็มแรกฉีดระหว่างอายุ แรกเกิด-12 เดือน และเข็มที่สองประมาณ 2 ขวบ

 

    ขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเพียงปัญหาทางการแพทย์ หากเป็นมิติทับซ้อนระหว่างการแพทย์และสังคม ภารกิจของหน่วยงานภาครัฐจึงเป็นการพยายามเข้าใจและเรียนรู้วัฒนธรรมทางศาสนา เพื่อร่วมกันหาทางออกต่อไป

 

 

ระวัง "โรคหัด" ระบาด หนักสุดที่ยะลา เผยต้นตอปัญหา ความละเอียดอ่อนที่คาบเกี่ยวทางการแพทย์