ถอดความ ข้อเสนอ "ไอติม" ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารสู่กองทัพยุคใหม่ แนะหนทางสู่ความเป็นไปได้

ทุกห้วงเดือนเมษายนของทุกปี ถังเหล็กขนาดพอเหมาะใบหนึ่ง บรรจุกระดาษผูกชะตาอนาคตของเหล่าชายหนุ่มอยู่ข้างในได้ทำหน้าที่ของมันตามปกติ หากสิ่งอปกติคืออากัปกิริยาของพวกเขาภายหลังล้วงมือหยิบที่ดูจะแสดงออกแตกต่างกันไป

ถอดความ ข้อเสนอ "ไอติม" ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารสู่กองทัพยุคใหม่ แนะหนทางสู่ความเป็นไปได้

 

    ทุกห้วงเดือนเมษายนของทุกปี ถังเหล็กขนาดพอเหมาะใบหนึ่ง บรรจุกระดาษผูกชะตาอนาคตของเหล่าชายหนุ่มอยู่ข้างในได้ทำหน้าที่ของมันตามปกติ หากสิ่งอปกติคืออากัปกิริยาของพวกเขาภายหลังล้วงมือหยิบที่ดูจะแสดงออกแตกต่างกันไป ทั้งยินดีปรีดากระโดดโลดเต้น และอีกจำพวกที่แข้งขาอ่อนระโหยโรงแรง ทิ้งมาดบุรุษร่างกำยำไปจนหมดสิ้น เพราะมันคือการจับสลากที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาในอีก 2 ปีข้างหน้าชนิดที่ว่าจากหน้ามือเป็นหลังมือ "การเกณฑ์ทหาร" จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกทั้งเสียงหัวเราะ (จากผู้รับชมที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย) หากอีกด้านกลับเป็นความหดหู่สลดสังเวชผสมปนเปกันไป

 

    นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาจากข้อมูลสถิติ พบว่าจำนวนทหารเกณฑ์ที่กองทัพต้องการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี คือ 99,373 คน ในปี 58 101,307 คน ในปี 59 103,097 คน ในปี 60 และล่าสุด 104,734 คน ในปี 61 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองทัพจึงถูกตั้งคำถามถึง "ความจำเป็น" ของ "กำลังพลสำรอง" ในยามที่ไม่พบความเสี่ยงต่อภัย "สงครามเต็มรูปแบบ" ที่เน้นปริมาณเพื่อทำการรบแบบประจัญหน้า หากจะมีก็มีเพียงแต่ "สงครามนอกแบบ" ที่เป็นส่วนรับผิดชอบโดยตรงของทหารประจำการ อย่างหน่วยเฉพาะกิจหรือรบพิเศษเท่านั้น ซ้ำร้ายยังมีข่าวคราวไม่สู้ดีเกิดขึ้นในกองทัพ เกี่ยวกับการตายแบบผิดธรรมชาติของเหล่าทหารเกณฑ์น้องใหม่ที่เป็น "ผู้ถูกกระทำ"

 

    เหล่านี้เพียงพอที่จะทำให้ในทุกๆ ปี ผบ.ทบ. ต้องคอยออกมาตอบคำถามต่อสังคมถึงกรณีความเป็นไปได้ที่จะลดกำลังพลหรือยกระดับคุณภาพ รวมถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิก "การเกณฑ์ทหาร" ล่าสุดจึงตกเป็นหน้าที่ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ บิ๊กแดง ผบ.ทบ. คนที่ 41 ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งมาหมาดๆ ได้ออกมาให้ความมั่นใจว่ากองทัพจะดูแลทหารใหม่ให้ดีที่สุดประดุจน้องคนสุดท้องของหน่วยทหาร ด้วยการออกระเบียบใหม่เกี่ยวกับเรื่องโภชนาการตลอดจนความปลอดภัยในการฝึก นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ว่าเป็นแค่เสียงของคนกลุ่มเดียว เพราะขณะนี้ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีทหาร ดังนั้นการยกเลิกการเกณฑ์จึง "เป็นไปไม่ได้"
 

 

ถอดความ ข้อเสนอ "ไอติม" ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารสู่กองทัพยุคใหม่ แนะหนทางสู่ความเป็นไปได้

 

    จนเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลานชายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เพิ่งจะปลดประจำการภายหลังสมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารด้วยการยื่นวุฒิปริญญาตรี ลดระยะเวลาการประจำการจาก 2 ปี (กรณีจับใบดำใบแดง) เหลือเพียง 6 เดือน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงข้อเสนอให้ปรับปรุงระบบเกณฑ์ทหารมาเป็นระบบสมัครใจ หนทางที่จะนำไปสู่ความเป็นไปได้นั้นมีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน

    กองทัพจะต้องมีกำลังทหารเพียงพอ สำหรับปฏิบัติหน้าที่หลักในการป้องกันประเทศ ซึ่งต้องมาจากทั้งการประเมิน และลดยอดพลทหารที่ไม่จำเป็นต่อความมั่นคง อาทิ พลทหารรับใช้ พร้อมกับเพิ่มคุณภาพชีวิตพลทหาร ด้วยการรับรองค่าตอบแทนต่อเดือนที่เหมาะสมต่อค่าครองชีพ และต้องกำจัดความรุนแรงในค่ายทหารให้หายไป อีกประการคือต้องไม่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง หรือถูกมองว่าเป็นการต่อสู้กับกองทัพ เพราะการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดก็ตามจะประสบความสำเร็จได้ดีที่สุด ถ้าเราได้รับความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายการเมืองจึงจำเป็นต้องทำให้กองทัพให้การยอมรับข้อเสนอนี้ เพื่อจะปรับตัวไปพร้อมกัน

 

 

ถอดความ ข้อเสนอ "ไอติม" ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารสู่กองทัพยุคใหม่ แนะหนทางสู่ความเป็นไปได้

 

 

ถอดความ ข้อเสนอ "ไอติม" ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารสู่กองทัพยุคใหม่ แนะหนทางสู่ความเป็นไปได้
 

 

    พร้อมทิ้งท้ายว่าแนวทางดังกล่าวจะตอบโจทย์ทุกฝ่าย และจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งผู้ที่ต้องการเป็นทหาร และผู้ที่ต้องการทำอาชีพอื่น อีกทั้งจะคืนศักดิ์ศรีให้กองทัพพ้นจากข้อครหา "สถาบันอำนาจนิยม" ไปสู่ "กองทัพยุคใหม่" ที่แม้เล็กลงด้วยขนาด แต่แข็งแกร่งด้วยประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยบุคลากรที่สมัครใจทำงาน

 

    หากถอดความจากข้อเสนอของไอติม จะพบว่าโครงสร้างของกองทัพไทยจัดเป็นองค์การแบบประเพณีนิยม ทีมีกฏข้อบังคับที่ชัดเจนเป็นมิติเดียว ความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคลากรในองค์การ จึงเป็นไปในทิศทางเดียวแบบผู้ใหญ่กับผู้น้อย หรือ ผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา กล่าวคือการกระทำและการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค เป็นลักษณะจำเพาะของความเป็น "อำนาจนิยม" สูง

 

    หากนำมาเปรียบเทียบกับกองทัพในประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐฯ ธรรมเนียมการปฏิบัติบางประการจะแตกต่างออกไป เพราะถึงแม้ว่าจะมีสายบังคับบัญชาเฉกเช่นระบบทหารทั่วไป แต่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีความยืดหยุ่นมากกว่า เห็นได้จากนอกเวลางาน ที่พวกเขาสามารถเปลี่ยนสถานภาพให้เป็นแบบ "เพื่อน" โดยไม่ขึ้นอยู่กับ "ชั้นยศ"

    ถัดมากับการเพิ่มปริมาณกำลังพลของกองทัพไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอดจากข้อมูลเชิงประจักษ์ จนในบางครั้งถูกนำมาโยงกับเรื่อง "การเมือง" อย่างมีนัยสำคัญเป็นต้นว่า เพื่อเป็นการเพิ่มเสถียรภาพทางอำนาจแก่กองทัพ หรือเพิ่มโอกาสในการก่อ "รัฐประหาร" แม้ว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าความสำเร็จของการก่อรัฐประหารมิได้ขึ้นอยู่กับกำลังพลก็ตาม จากเหตุการณ์กบฏ 1 เม.ย. 2524 ที่ใช้กำลังทหารกว่า 40 กองพันแต่สุดท้ายผู้ก่อการก็พ่ายกลายเป็นกบฏไป 

 

 

ถอดความ ข้อเสนอ "ไอติม" ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารสู่กองทัพยุคใหม่ แนะหนทางสู่ความเป็นไปได้
 

 

    จากทรรศนะของคนบางกลุ่มที่มองว่า การเข้าไปเป็นรั้วของชาติ (แบบไม่เต็มใจ) เป็นเวลา 2 ปีนั้นถือเป็นการพลาดโอกาสบางอย่างในชีวิต เช่น การเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ช้ากว่าปกติ หรือกระทั่งบางรายที่มีภาระอยู่เบื้องหลัง อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งทางกองทัพก็มิได้ดูดายแต่ให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตามการยกระดับคุณภาพในที่นี้ อาจเป็นความต้องการเรียกร้องให้กองทัพ มอบบางสิ่งบางอย่างให้เขาเหล่านั้นรู้สึกว่า ไม่เสียดายเวลาหรือรู้สึกคุ้มค่าต่อการเข้ามาเป็นรั้วของชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจเป็นการจ่ายเงินเดือนที่สมน้ำสมเนื้อ มอบสวัสดิการอย่างเพียงพอตามอัตภาพ เป็นต้น

 

    สุดท้ายกับความรุนแรงในกองทัพซึ่งเป็นผลสืบเนื่องของความเป็น "อำนาจนิยม" ที่มีให้พบเห็นมาโดยตลอด ถือเป็นการก่ออาชญากรรมที่การตัดสินคดีไม่ถูกแทรกแซงโดยพลเรือนหากถูกผูกขาดอำนาจตุลาการในกองทัพผ่านศาลทหาร การให้ความกระจ่างต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือการลงโทษ "ผู้กระทำผิด" จึงไม่ค่อยปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม บางคดีที่เกิดขึ้นได้หายเข้ากลีบเมฆอย่างไร้ร่องรอย แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกองทัพนั้นเป็นไปได้ยากยิ่งหากไม่มีแรงสนับสนุนจากสถาบันอื่นหรืออำนาจทางการเมือง เพราะนับแต่อดีตกองทัพเป็นองคาพยพหนึ่งของสถาบันการเมืองมาโดยตลอด

 

    อย่างไรแล้ว การเกณฑ์ทหารก็ได้มอบคุณค่าอย่างวาจาที่ผู้บังคับบัญชาคอยพร่ำกล่าว ว่าคือการฝึกวินัย คือความภาคภูมิใจ คือครั้งหนึ่งในชีวิตของชายไทย แต่การยกระดับคุณภาพของกองทัพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศไทยรับมือกับภัยคุกคามในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างเท่าทัน "ทหารสมัครใจ ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่นใจ" ดั่งเช่นคำกล่าวของ "ไอติม" ก็เป็นได้

 

 

ถอดความ ข้อเสนอ "ไอติม" ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารสู่กองทัพยุคใหม่ แนะหนทางสู่ความเป็นไปได้