รำลึกพระปกเกล้าฯ ความเสียสละเบื้องแรกประชาธิปไตยในสยาม สู่การเลือกตั้งครั้งที่ 28 ของชนชาวไทย กุมภาพันธ์ 2562

8 พฤศจิยายน เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จปกพระเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 หรือที่ถูกเรียกขานในนามเหตุการณ์ "อภิวัฒน์สยาม"

รำลึกพระปกเกล้าฯ ความเสียสละเบื้องแรกประชาธิปไตยในสยาม สู่การเลือกตั้งครั้งที่ 28 ของชนชาวไทย กุมภาพันธ์ 2562

 

    8 พฤศจิยายน เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จปกพระเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 หรือที่ถูกเรียกขานในนามเหตุการณ์ "อภิวัฒน์สยาม" 

 

    24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 พลันที่ฟ้าสาง คณะราษฎรได้ทำการ "ฉกฉวย" และ "ช่วงชิง" พระราชอำนาจจาก พระปกเกล้าฯ ด้วยหมายมั่นว่าจะทำลายระบบศักดินา ปลาสนาการระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช สถาปนาระบอบประชาธิปไตย บนหลักการ สิทธิ เสมอภาค และเสรีภาพ ผลบั้นปลายที่เกิดขึ้นก็ประจักษ์ชัดว่า เป็นการปฏิวัติยึดอำนาจอย่างละมุนละม่อมเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า "การประนีประนอม" ของทั้งสองฝ่ายแต่ในอีกแง่มุมหนึ่งกลับปรากฏกรณีน่าศึกษายิ่งว่าเพราะเหตุใดปฏิบัติการทั้งหมดที่ฝ่ายก่อการมีกำลังพลเพียง 102 คน จึงเป็นไปอย่างราบรื่นไร้ซึ่งความสูญเสียและการนองเลือด 

 

รำลึกพระปกเกล้าฯ ความเสียสละเบื้องแรกประชาธิปไตยในสยาม สู่การเลือกตั้งครั้งที่ 28 ของชนชาวไทย กุมภาพันธ์ 2562

 

 

รำลึกพระปกเกล้าฯ ความเสียสละเบื้องแรกประชาธิปไตยในสยาม สู่การเลือกตั้งครั้งที่ 28 ของชนชาวไทย กุมภาพันธ์ 2562
 

 

    ทั้งที่หัวหน้าคณะฯ พระยาพหลพลพยุหเสนา มีตำแหน่งเป็นเพียงจเรทหารบก มิได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกตามแบบฉบับนักปฏิวัติยุคปัจจุบัน อีกทั้งแกนนำแทบไม่มีอำนาจทางการทหาร เพราะเหล่าทหารที่ยืนจังก้าอยู่หน้าลานพระบรมรูปทรงม้านั้น ล้วนจับผลัดจับผลูถูกหลอกมาเป็นเบี้ยหมากแทบทั้งสิ้น  เหตุที่การปฏิวัติสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีส่วนหนึ่งมาจากการวางแผนอันรัดกุมของฝ่ายคณะราษฏร แต่ย่อมมิใช่ตัวแปรทั้งหมด เพราะหากพระปกเกล้าฯ มิทรงยินยอมเสียสละพระราชอำนาจ เส้นทางการยึดอำนาจก็มิอาจเป็นไปได้โดยสะดวกดายนัก
  

 

    การปฏิรูปพุทธศักราช 2435 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ชนชั้นนำรวมถึงตัวพระมหากษัตริย์ทรงตระหนักดีว่า วันหนึ่งในภายภาคหน้า สยามจักต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบใหม่ในที่สุด เพียงแต่ว่าเมื่อใดและอย่างไรเท่านั้น จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วหน่ออ่อนของประชาธิปไตยได้ปรากฏอยู่ใน สังคมสยามมายาวนานแบบค่อยเป็นค่อยไป มิได้อุบัติขึ้นอย่างฉับพลันทันใดในรัชสมัยของพระปกเกล้าฯ อย่างที่เข้าใจกันอยู่ดาษดื่น

    การวางแผนของคณะราษฎรใช้เวลา 7 ปี แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีความคิดที่แตกแยกในหมู่แกนนำผู้ก่อการ โดยเฉพาะพระยาทรงสุรเดชที่เสนอแผนการให้นำกำลังทหารที่มีอยู่เพียงหยิบมือ เข้ายึดพระที่นั่งอัมพรสถาน อันเป็นที่ประทับของพระปกเกล้าฯ แล้วจึงบังคับให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญ การกระทำเช่นว่านี้หากเกิดขึ้นจริง แน่นอนว่าฝ่ายที่ต้องพ่ายหาใช่ใครอื่นแต่ย่อมเป็นคณะราษฎร 

 

 

รำลึกพระปกเกล้าฯ ความเสียสละเบื้องแรกประชาธิปไตยในสยาม สู่การเลือกตั้งครั้งที่ 28 ของชนชาวไทย กุมภาพันธ์ 2562

 

    เพราะแผนการปฏิวัติได้รั่วไหลไปยังพระราชวังอยู่ก่อนแล้ว เหล่าอัศวินคู่พระทัยต่างหมายมั่นปั้นมือเตรียมตั้งปราการแนวรบ ดุจราชสีห์รอในถ้ำพร้อมขย้ำเหยื่อ พร้อมเสนอให้พระองค์ใช้กำลังเข้าปราบปรามคณะราษฎรในฐานเป็นกบฏ หากแต่เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ทรงทัดทานพระปกเกล้าฯ ด้วยเกรงว่าจะนำมาซึ่งการนองเลือด

 

    ท้ายที่สุดพระองค์ได้ทรงสละพระราชอำนาจปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยด้วยการยอมรับเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญพระองค์แรก เพื่อให้สยามก้าวเข้าสู่ความศิวิไลซ์เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ทั้งยังทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวร ฉบับแรกของไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475

 

 

รำลึกพระปกเกล้าฯ ความเสียสละเบื้องแรกประชาธิปไตยในสยาม สู่การเลือกตั้งครั้งที่ 28 ของชนชาวไทย กุมภาพันธ์ 2562

    ในกาลนั้นพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชหัตถเลขาความว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร" 

 

    แต่จวบจนบัดนี้ เป็นเวลากว่า 86 ปี ระบอบประชาธิปไตยก็ยังคงดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่น รูปการปกครองไทยถูกสับเปลี่ยนไปตามวาระและโอกาส การก้าวขึ้นสู่อำนาจหรือการเปลี่ยนถ่ายมีลักษณะของความเป็น "คณาธิปไตย" ที่สูงยิ่ง ส่งผลให้การเมืองถูกกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม "อภิสิทธิ์ชน" จากข้อมูลเชิงประจักษ์ นับตั้งแต่พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทย มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปมาแล้ว 27 ครั้ง แต่จากการฉกฉวยช่วงชิงผลประโยชน์ผ่านการใช้อำนาจอันฉ้อฉลของรัฐบาลในห้วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ได้นำมาซึ่งวิกฤตการณ์การเมือง เป็นเหตุให้กองทัพต้องเข้ามายุติความรุนแรงอย่างเสียมิได้

 

 

รำลึกพระปกเกล้าฯ ความเสียสละเบื้องแรกประชาธิปไตยในสยาม สู่การเลือกตั้งครั้งที่ 28 ของชนชาวไทย กุมภาพันธ์ 2562

 

    นับตั้งแต่ ปี 2557 ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร คสช. ที่ถึงแม้จะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยสากลอย่างเต็มปากนัก แต่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็ประสบพบกับความสงบอย่างที่หลายคนพึงปรารถนา ภายหลังต้องเผชิญเจตคติทางการเมืองที่ขับเคี่ยวระหว่างสองขั้วมาเป็นเวลานาน แต่แล้วกลไกแห่งประชาธิปไตยกำลังจะกลับมาอีกครั้ง เพราะล่าสุด 8 พ.ย. 2561 คสช. ได้ทำการกำหนดวัน "เลือกตั้ง" คือวันที่  24 ก.พ. 2562 โดยจะมีการเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศ 500 คน ส่งผลให้รัฐบาลเก่าและคสช. จะสิ้นสุดอำนาจลงเมื่อครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่ คือภายในเดือน มิ.ย. 2562

 

    นับเป็นการเดิมพันของประชาชนที่สูงยิ่ง เพราะการเลือกตั้งในครั้งนี้ย่อมเป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศหลังจากนี้ เป็นต้นไป . . .