ไร้มาตรฐาน !!!  กางข้อกฏหมาย "พ.ร.บ.มวย"  ปัญหาสังเวียนผ้าใบ เด็กกว่าหนึ่งแสนคนต่อยไม่ถูกต้อง

นับเป็นเหตุสลดสะเทือนสังเวียนผ้าใบรุ่นเล็กยิ่ง เมื่อโลกออนไลน์ได้เผยแพร่คลิปการแข่งขันต่อยมวยครั้งสุดท้ายของ น้องเล็ก หรือ "เพชรมงคล ป.พีณภัทร" ที่ต้องจบชีวิตลง จากสาเหตุเลือดคั่งในสมอง

ไร้มาตรฐาน !!!  กางข้อกฏหมาย "พ.ร.บ.มวย"  ปัญหาสังเวียนผ้าใบ เด็กกว่าหนึ่งแสนคนต่อยไม่ถูกต้อง

  นับเป็นเหตุสลดสะเทือนสังเวียนผ้าใบรุ่นเล็กยิ่ง เมื่อโลกออนไลน์ได้เผยแพร่คลิปการแข่งขันต่อยมวยครั้งสุดท้ายของ น้องเล็ก หรือ "เพชรมงคล ป.พีณภัทร" ที่ต้องจบชีวิตลง จากสาเหตุเลือดคั่งในสมอง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ย. 2561 ในรายการแข่งขัน ชกมวยการกุศลโครงการต้านภัยยาเสพติดครั้งที่ 1 ชิงถ้วยรางวัลของ พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 
 
  การแข่งขั่นเข้าสู่ยกที่ 3 น้องเล็ก ถูกรัวหมัดจนน็อกกลางอากาศคาเวทีหัวฟาดพื้นสนาม  ก่อนที่ทีมงานจะเร่งหามตัวน้องเล็ก ส่งยังโรงพยาบาลพระประแดงโดยด่วน  จากการวินิจฉัยของแพทย์ผู้ทำการรักษาน้องเล็กพบว่าบริเวณศีรษะของคนไข้ได้รับแรงกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ก่อนโรงพยาบาลพระประแดงจะส่งตัวน้องเล็กไปยังโรงพยาบาลสมุทรปราการต่อและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทั้งแง่ของกฏหมายกีฬาและกฏหมายคุ้มครองเด็กที่มีความขัดแย้งไม่สอดคล้องกัน รวมถึงวิจารณญาณของกรรมการผู้ตัดสิน ที่ "ไม่มีมาตรฐาน" 

  เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนหน้าเมื่อสองปีก่อน เคยมีการเสนอให้มีการปฏิรูปนักมวยเด็ก เพราะปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีนักเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมากกว่าหนึ่งแสนคน พวกเขาเหล่านี้มีสภาพความอยู่แบบอัตคัต จึงจำต้องต่อยมวยเพื่อเลี้ยงชีพ ทั้งชกเดิมพัน ชกชิงเงินรางวัลตามเวทีงานวัด งานเทศกาลต่างๆ แน่นอนว่าในระยะยาวนั้นการบาดเจ็บสะสมจากการชกย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในอนาคตได้

ไร้มาตรฐาน !!!  กางข้อกฏหมาย "พ.ร.บ.มวย"  ปัญหาสังเวียนผ้าใบ เด็กกว่าหนึ่งแสนคนต่อยไม่ถูกต้อง

  ขณะเดียวกัน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีประเด็นที่สับสนระหว่างมวยอาชีพกับมวยสมัครเล่น ใน พรบ.กีฬามวย พ.ศ.2542 ไม่สอดคล้องกับ พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กฎหมายค้ามนุษย์  และอนุสนธิสัญญาสิทธิเด็ก กล่าวว่า
 
  ตาม พรบ.มวย 2542 มาตรา 29 ระบุว่า นักมวยที่จะจดทะเบียนได้ต้อง (1) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์ (2) ไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคที่ คณะกรรมการกำหนด (3) ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ (4) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความ เสียหายแก่วงการกีฬามวย ผู้เยาว์ที่จดทะเบียนเป็นนักมวยแล้ว อาจทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับการเข้าแข่งขัน กีฬามวยได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมอีก 

  แต่ในความเป็นจริงคือ ทุกวันนี้มีนักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมากกว่าหนึ่งแสนคน แต่มีการลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทยไม่ถึง 1 % เท่านั้น ซึ่งการชกมวยเด็กก็เป็นลักษณะมวยอาชีพ ได้รับค่าตอบแทน จึงถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากตามพรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 ระบุว่า ห้ามไม่ให้จ้าง บังคับ ขู่เข็ญ ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก เล่นกีฬาเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า หรือเข้าไปในสถานที่เล่นพนัน อย่างไรก็ตามการผลักดันการแก้ตัวบทกฏหมายก็ยังไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดี จนมาเกิดเหตุสลดครั้งนี้ขึ้นในที่สุด

ไร้มาตรฐาน !!!  กางข้อกฏหมาย "พ.ร.บ.มวย"  ปัญหาสังเวียนผ้าใบ เด็กกว่าหนึ่งแสนคนต่อยไม่ถูกต้อง

  จากคำบอกเล่าของนายดำรงค์ ทาสะโก ลุงของน้องเล็ก เผยว่าไม่ขอกล่าวโทษบุคคลใดแต่อยากให้ให้มีมาตรฐานในการตัดสินมากกว่านี้ เนื่องจากกรณีนี้ถือว่าเป็นความประมาทและความสะเพร่า เพราะก่อนที่หลานตนจะเสียชีวิตนั้นมีจังหวะที่น้องเล็กล้มลงก่อนแล้ว แต่ลุกขึ้นมาเพราะเป็นสัญชาตญาณของนักมวย ซึ่งทางฝั่งของคู่ต่อสู้พยายามชี้ให้กรรมการเห็นว่า น้องเล็กสู้ต่อไม่ไหวแล้วรวมถึงผู้ชมบางคนก็ตะโกนบอกกรรมการให้ยุติการชก แต่กรรมการกลับปล่อยให้สู้ต่อจนต้องจบชีวิตลงในที่สุด

 

ไร้มาตรฐาน !!!  กางข้อกฏหมาย "พ.ร.บ.มวย"  ปัญหาสังเวียนผ้าใบ เด็กกว่าหนึ่งแสนคนต่อยไม่ถูกต้อง
 
  ด้านผู้สัดทัดกรณี คร่ำหวอดวงการมวยอย่าง นายสมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักกีฬาทีมชาติ ให้ความเห็นว่า ประวัติการชกของน้องเล็กถือว่ามากจนผิดปกติ ทั้งๆที่อายุเพียง 13 ปี แต่เคยขึ้นชกมากถึง 170 ครั้ง เพราะการชกมวยตามกฎหมายต้องชก 1 ครั้ง พัก 21 วัน แล้วถึงจะขึ้นเวทีชกใหม่ได้ อีกทั้งการแข่งขันในครั้งนี้ น้องเล็กโดนชกในจุดที่อันตรายที่สุดคือ "ศรีษะ" ซึ่งตกก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน และขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย

  คงต้องดูกันต่อไปว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะกลายเป็นอุทาหรณ์เพื่อสร้างบทเรียนในอนาคต ด้วยการปฏิรูปวงการมวยเด็กให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ เพราะถือเป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น