"สนช." จ่อเชิญ"กรมทรัพย์สินฯ" แจงสิทธบัตรกัญชา จี้ต้องเพิกถอนที่ต่างชาติยื่นไว้ เหตุหากรับรอง-กระทบไทยวงกว้างแน่

"สนช." จ่อเชิญ"กรมทรัพย์สินฯ" แจงสิทธบัตรกัญชา จี้ต้องเพิกถอนที่ต่างชาติยื่นไว้ เหตุกระทบไทยวงกว้าง

"วิป สนช." เผยจ่อเชิญ"กรมทรัพย์สินฯ" แจงสิทธบัตรกัญชาที่ ครม. ยอมคลายล็อคให้ใช้ทางการแพทย์ได้ จี้ต้องเพิกถอนสิทธิบัตรที่ต่างชาติยื่นไว้ เหตุหากรับรอง จะกระทบไทยวงกว้าง เหตุต้องไปขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรต่างชาติก่อน จึงทำการวิจัยได้

 

วันนี้ (14 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "นายสมชาย แสวงการ" เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิป สนช.เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ได้รับหลักการมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งปลดล็อคให้นำกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ตามที่สมาชิก สนช.ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายไปก่อนหน้านี้ โดยตามกำหนดเดิมวิป สนช.จะเสนอให้ประธาน สนช.บรรจุระเบียวาระเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระที่1 วันที่ 16 พ.ย. แต่มีเหตุขัดข้องทำให้ต้องเลื่อนวาระดังกล่าวออกไปก่อน

 


นายสมชาย ระบุด้วยว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากวิป สนช.ได้ทราบถึงข้อห่วงใยในกรณีที่มีบริษัทต่างชาติดำเนินการมาขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการนำกัญชาไปในทางการแพทย์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ที่ประชุมวิป สนช.มีความเห็นว่าจำเป็นต้องเชิญอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามาชี้แจงต่อวิป สนช.ในวันที่ 20 พ.ย.ก่อนที่ สนช.จะบรรจุร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช.ต่อไป 

 

"เท่าที่ สนช. ส่วนใหญ่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่า ปัจจุบันกัญชายังเป็นยาเสพติดต้องห้ามตามกฎหมาย จึงไม่สามารถเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่จะได้รับการคุ้มครองทางสิทธิบัตรตามกฎหมายได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 9 (5) ของพ.ร.บ.สิทธิบัตรพ.ศ.2522 ที่กำหนดว่า การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน จะไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องไม่รับการจดสิทธิบัตรดังกล่าวเอาไว้ และจำเป็นต้องเพิกถอนคำร้องขอยื่นจดสิทธิบัตรทันที"  นายสมชาย ระบุ ทั้งยังกล่าวว่า


สนช.เป็นห่วงว่า หากไม่ดำเนินการเพิกถอนการขอจดสิทธิบัตรออกไปก่อน เกรงว่า หากต่อไปเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน สนช. และมีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้ต่างชาติได้รับรองการจดสิทธิบัตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการที่หน่วยงานภาครัฐหรือมหาวิทยาลัยจะทำการวิจัยค้นคว้าทางการแพทย์ เนื่องจากต้องไปขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรที่เป็นต่างชาติก่อน