เปิดมุมมองอดีตเด็กรับทุนหลายมูลนิธิ ปัจจุบันสวมหมวกสองใบ รับราชการแวดวงสาธารณสุขควบนายกสมาคมพี่น้องพุทธรักษา พร้อมส่งต่อความดีให้รุ่นน้อง

เปิดมุมมองอดีตเด็กรับทุนหลายมูลนิธิ ปัจจุบันสวมหมวกสองใบรับราชการแวดวงสาธารณสุขควบนายกสมาคมพี่น้องพุทธรักษา พร้อมส่งต่อความดีให้รุ่นน้อง

เปิดมุมมองอดีตเด็กรับทุนหลายมูลนิธิ ปัจจุบันสวมหมวกสองใบ รับราชการแวดวงสาธารณสุขควบนายกสมาคมพี่น้องพุทธรักษา พร้อมส่งต่อความดีให้รุ่นน้อง

เปิดมุมมองอดีตเด็กรับทุนหลายมูลนิธิ ปัจจุบันสวมหมวกสองใบรับราชการแวดวงสาธารณสุขควบนายกสมาคมพี่น้องพุทธรักษา พร้อมส่งต่อความดีให้รุ่นน้อง

 - แนะการบริหารจัดการเงินให้ลงตัว ทำบัญชีรับจ่ายทุกวัน มีน้อยใช้น้อย

 - เกรดเฉลี่ยทำให้คนมีงานทำ กิจกรรมทำให้คนทำงานเป็น

 - ทำวันนี้ให้ดีที่สุด และทำทุกอย่างด้วยใจ

ชวนากร วรินทรโชคถาวร หรือชาโด้  อดีตนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร เพิ่งจบการศึกษาในปี 2561นี้ พร้อมกับการได้เข้าทำงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ งานที่ได้รับคือ งานโรคติดต่อนำโดยแมลง โรคมาลาเรีย เป็นการจัดประชุม อบรม และทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้เป็นการพัฒนาชุมชนด้วยการให้ความรู้และจัดกิจกรรมด้านสุขภาพในพื้นที่กำแพงเพชร  ชาโด้เป็นชาวจังหวัดตาก และได้รับโอกาสดีจากการสมัครขอทุนการศึกษามูลนิธิพุทธรักษาในระหว่างที่มูลนิธิฯ เดินทางมาเปิดรับสมัครขณะที่เขากำลังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง (โรงเรียนบางเสด็จวิทยาคม อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง) หลังเรียนจบและมีงานทำแล้ว ชาโด้ได้จัดสรรเวลาส่วนหนึ่งมาทำหน้าที่บริหารจัดการสมาคมพี่น้องพุทธรักษาอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อตอบแทนบุญคุณของมูลนิธิฯ ด้วยการมอบโอกาสดีๆ ที่เขาเคยได้รับส่งต่อไปยังรุ่นน้องที่กำลังจะทยอยจบการศึกษา ด้วยภารกิจ นายกสมาคมพี่น้องพุทธรักษา ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา เขาเล่าถึง  พันธกิจหลักของสมาคมฯ ประการแรก คือการสนับสนุนและมอบโอกาสการพัฒนาศักยภาพแก่นักเรียนทุนมูลนิธิพุทธรักษาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประการที่สองคือการจัดให้มีกิจกรรมหรือโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และประการสุดท้ายคือการประสานงานร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดการขยายผลให้เกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น

“ผมในฐานะตัวแทนนักเรียนทุนมูลนิธิพุทธรักษา มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคม ตลอดหลายปีในการได้รับทุน มูลนิธิพุทธรักษาได้ปลูกฝังให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง รับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัว และไม่ละเลยการทำดีตอบแทนสังคม สมาคมพี่น้องพุทธรักษาจึงเป็นเสมือนผลผลิตจากเมล็ดพันธุ์ที่มูลนิธิได้บ่มเพาะปลูกฝังไว้ตลอดมา”  พร้อมกล่าวขอบคุณคุณธนินท์และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ และครอบครัว ที่ให้การสนับสนุนทั้งการเป็นผู้บริจาคหลัก ตลอดจนผลักดันและสนับสนุนพวกเขาให้จัดตั้งสมาคมพี่น้องพุทธรักษาขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่สานต่อเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เยาวชนที่เคยได้รับโอกาสได้ตอบแทนบุญคุณต่อสังคมด้วยการทำงานจิตอาสาในด้านการช่วยพัฒนาสนับสนุนให้ตนเองและผู้รับทุนทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ก้าวเข้ามาทำงาน เพื่อสังคม พัฒนาชุมชนที่ตนเองอยู่อาศัย ซึ่งในระยะแรกของการทำงาน ตนเองและทีมงานซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่เคยได้รับทุนจากมูลนิธิพุทธรักษาด้วยกัน ประกอบด้วย สุธิดา แซ่ม้า เป็นอุปนายกคนที่ 1 ชานนทร์ ลีลาพิพิธพัฒน์ อุปนายกคนที่ 2 ศวิตา ศรีวิชัย อุปนายกคนที่ 3 เป็นคณะทำงานหลัก

เปิดมุมมองอดีตเด็กรับทุนหลายมูลนิธิ ปัจจุบันสวมหมวกสองใบ รับราชการแวดวงสาธารณสุขควบนายกสมาคมพี่น้องพุทธรักษา พร้อมส่งต่อความดีให้รุ่นน้อง

ชาโด้เป็นตัวแทนเล่าถึงตัวอย่างวิธีการทำงานของพวกเขาว่า " เริ่มแรกเลยจะเข้าไปหาข้อมูลในพื้นที่ก่อนว่าชุมชนต่างๆ ที่เรามีภูมิลำเนาหรือทำงานอยู่นั้น ต้องการความช่วยเหลือในด้านใด มีปัญหาอะไรที่ชุมชนอยากได้รับความช่วยเหลือให้เข้าไปแก้ไข จากการศึกษาข้อมูลร่วมกันมาระยะหนึ่ง พบว่าปัญาส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านในชุมชนต้องการ มักจะเป็นความต้องการด้านสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตมากขึ้น เช่น อยากได้ถนนเข้าหมู่บ้าน อยากมีน้ำประปาใช้ อยากมีไฟฟ้าใช้ ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เราได้ข้อสรุปว่า ปัญหาบางประการเราไม่มีกำลังมากพอที่จะช่วยแก้ไขได้ มันเกินกำลังของเรา เราจะมองหาวิธีการอื่นที่อาจได้ผลลัพธ์เหมือนกันคือช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชนได้และไม่เกินกำลังของเรา เช่น เราเลือกที่จะทำฝายชะลอน้ำให้ชุมชนแทน เมื่อเราศึกษาและเห็นว่าสภาพแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ สามารถที่จะสร้างฝายได้ เราก็จะระดมกำลังและขอความร่วมมือกับชุมชนเข้าไปช่วยกันทำฝายครับ"

ชาโด้และเพื่อนๆ กล่าวว่า แม้ว่าทุกวันนี้พวกเขายังไม่สามารถจะพูดได้ว่า "ตั้งตัว" ได้ ยังไม่มีกำลังทรัพย์มากพอ แต่ก็คิดว่าเขาก็สามารถจะทำงานหรือช่วยเหลือชุมชนที่เขาอยู่อาศัยหรือเกี่ยวข้องได้ในจุดที่พวกเขามีกำลังและสามารถจะช่วยแก้หรือบรรเทาปัญหา และตั้งเป้าว่าจะทำงานเพื่อสังคมควบคู่ไปกับการทำงานหาเลี้ยงชีพไปด้วย เพราะพวกเขารู้สึกผูกพันกับการทำงานเพื่อสังคมและขอบคุณโอกาสดีๆ ที่ตนเองเคยได้รับ  พร้อมกันนี้เขาได้ถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตในหัวข้อต่างๆ ที่เขาอยากจะแชร์กับเพื่อนๆ และรุ่นน้องที่สนใจดังนี้

 

 

ในช่วงเรียนชาโด้ได้รับทุนอะไรบ้าง ได้ทุนเท่าไร และพอใช้จ่ายหรือไม่ ระหว่างเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้าง

ผมได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิพุทธรักษา ตั้งแต่ปี 2557 โดยมูลนิธิพุทธรักษาได้เปิดรับสมัครนักเรียนทุน ประมาณช่วงเดือน มีนาคม 2557 ตอนนั้นผมกำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ใกล้จบการศึกษาแล้ว  ซึ่งมีพี่ๆตัวแทนจากมูลนิธิพุทธรักษามาเปิดรับสมัคร และคัดเลือกโดยการสัมภาษณ์  โดยมีคณะครูของโรงเรียนช่วยการคัดเลือกในครั้งนี้ด้วย รุ่นผมก็มาสมัครกันเยอะพอสมควร แต่ก็มีเพื่อนหลายคนที่ไม่ผ่านการในครั้งนี้ด้วย (รู้สึกเสียดายและเสียใจกับเพื่อนๆด้วย จึงทำให้เราคิดว่าเราจะตั้งใจเรียน และเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ)  ถามว่าทราบข่าวเรื่องการเปิดรับสมัครทุนการศึกษาจากทางไหน)? พอรู้และทราบข่าวเรื่องการให้ทุนกาศึกษา ตอนกำลังเรียนเรียนช่วง ม. 4 ม.5 แล้ว แต่ตอนนั้นคือโรงเรียนของผมมีโควต้าจำกัด ปีละประมาณ 10 คน (ณ ขณะนั้น)

ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิพุทธรักษา ในระดับชั้นปริญญาตรี ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2557 – มีนาคม 2561 เป็นไตรมาสๆละ 9,000 บาท (ปีละ 36,000 บาท) ถามว่าพอใช้จ่ายไหม? อยากจะบอกว่าพอบ้าง ไม่พอบ้าง ซึ่งผมก็กู้เงิน กยศ. หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จะได้เงินทุนส่วนนี้มาจ่ายค่าเทอม และหอพัก ส่วนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) นั้น จะได้ล่าช้ากว่าปกติ ได้อีกทีก็จบการศึกษาไปหนึ่งภาคเรียนแล้ว อีกอย่าง ณ ตอนนั้น กยศ. มีเงินให้ไม่พอจ่ายค่าเทอมอีกด้วย ทำให้เราต้องจ่ายส่วนต่างของค่าเทอมที่เหลืออีก เนื่องจาก กยศ. มีจำนวนเงินไม่พอ รวมทั้งระบบการทำงานที่ซับซ้อน และจำนวนนักศึกษาที่มีจำนวนมากด้วย ก็จะได้เงินทุนการศึกษามูลนิธิพุทธรักษา ที่ให้มาเป็นไตรมาสช่วยเป็นค่าใช้จ่าย และจ่ายค่าเทอมที่เหลือ ชีวิตช่วงนั้นลำบากมาก ต้องอดทน และประหยัดสุดๆ ทำให้ชีวิตนักศึกษาช่วงปีแรกๆ ต้องเจอมรสุมชีวิตที่ยากลำบากเหลือเกิน ส่วนทางบ้านนั้นนานๆครั้งค่อยขอ รู้ว่าก็ไม่มีเหมือนกัน ในช่วงที่ชีวิตกำลังลำบาก มักจะมีโอกาสอยู่ในนั้น คือ ผมได้ร่วมกิจกรรมของห้องสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร โดยเขียนเรียงความ เรื่อง “แรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มโปรด” สุดท้ายผลประกาศผล ผมได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ของรางวัลคือ ทุนการศึกษา 2,000 บาท ต้องขอบคุณตนเองที่ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก และขอขอบคุณมูลนิธิพุทธรักษาที่ค่อยชุบชีวิตจากวิกฤติชีวิตในยามลำบาก เหมือนได้รับของขวัญหรือกำลังใจเป็นไตรมาสๆ

เปิดมุมมองอดีตเด็กรับทุนหลายมูลนิธิ ปัจจุบันสวมหมวกสองใบ รับราชการแวดวงสาธารณสุขควบนายกสมาคมพี่น้องพุทธรักษา พร้อมส่งต่อความดีให้รุ่นน้อง

ช่วงเรียนก็ทำกิจกรรมบ้าง ไม่เยอะครับ แค่เข้าร่วมหรือทำกิจกรรมพอให้เราทำงานร่วมกับคนอื่นเป็น และเข้าสังคมได้ ดังคำที่ว่า “เกรดเฉลี่ยทำให้คนมีงานทำ กิจกรรมทำให้คนทำงานเป็น” เท่านั้น โดยกิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมของมหาวิทยาลัย คณะหรือสโมสร โปรแกรมวิชา และชมรม เช่น

  คณะกรรมการสภานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

  คณะกรรมการสโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

  ประธานนักศึกษาโปรแกรมวิชาสาธารณสุขศาสตร์

  รองประธานชมรมนักศึกษาวิชาทหารมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

  ออกหน่วยปฐมพยาบาลในกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยและคณะ

  ช่วยงานพยาบาล ณ ห้องพยาบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

  จัดโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุใน อ.เมืองกำแพงเพชร

  จัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กอนุบาล

  ออกหน่วยนวดตัวและนวดเท้าเพื่อสุขภาพ

  ผู้ช่วยสอนนวดตัว นวดเท้า และนวดตัวเองเพื่อสุขภาพ

  ออกค่ายจิตอาสาในชมรม และนอกชมรม รวมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย

  ช่วยดูแลจราจร วันซ้อมรับปริญญา และการสอบต่างๆ

  ช่วยงานซ้อมรับปริญญา

  พิธิกร งานต่างๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย

  วิทยากร ทั้งใน และนอกมหาวิทยาลัย

  จัดกิจกรรมนันทนาการทั้งใน และนอกมหาวิทยาลัย

  จัดงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์

  ผู้ช่วยจัดงานคาราวานวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ อพวช. เป็นต้น

เปิดมุมมองอดีตเด็กรับทุนหลายมูลนิธิ ปัจจุบันสวมหมวกสองใบ รับราชการแวดวงสาธารณสุขควบนายกสมาคมพี่น้องพุทธรักษา พร้อมส่งต่อความดีให้รุ่นน้อง

บริหารจัดการเรื่องการเงิน การเรียน และการทำงานอย่างไร ช่วยแชร์ให้เพื่อนๆ ทราบ

อย่างที่บอกคือ ตอนเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี ช่วงปีหนึ่ง เจอมรสุมชีวิต เจอความยากลำบากจึงทำให้ผมได้เรียนรู้ และวางแผนการใช้เงินอย่างมีคุณค่า ซึ่งเรื่องการเงิน ผมจะได้มาทั้งหมด 3 ช่องทางคือ 1.ทุนการศึกษาจากมูลนิธิพุทธรักษา 2.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ 3.งานพิเศษ เช่น ทำงาน Part time และงานที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ เป็นต้น โดยทุนการศึกษาจากมูลนิธิพุทธรักษา จะได้เป็นไตรมาสๆ 9,000 บาท  เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของส่วนค่าใช้จ่ายจะได้ล่าช้า บางครั้งได้เป็นก้อนมาทีเดียว และเงินจากการทำงานพิเศษ ได้เดือนละประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน โดยผมจะวางแผนการใช้คือ 1.เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นค่าใช้จ่ายของค่าเทอมกับค่าพัก  2. ทุนการศึกษาจากมูลนิธิพุทธรักษา ได้มา 9,000 บาทต่อไตรมาสนั้น ผมจะแบ่งออกเป็นสามส่วน ใช้สามเดือน ตกเดือนละ 3,000 บาท รวมกับเงินจากการทำงานพิเศษ ได้เดือนละ 1,500 บาทต่อเดือน เฉลี่ยแล้ว 1 เดือน ผมจะมีเงินทั้งสิ้นประมาณ 4,500 บาท เป็นค่าใช้จ่ายของค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าหนังสือ ค่าชุดนักศึกษา ค่ากิจกรรมต่างๆ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ผมจะใช้เงินส่วนนี้ให้พอดีกับเดือนนั้น ถ้ามีเงินเหลือก็เก็บออมไว้ หรือสมทบกับเดือนต่อไป และต้องใช้จ่ายอย่างชัดเจน ไม่ฟุ่มเฟือย ถ้าหากอยากได้โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำใจยากมาก เพราะเราเป็นเด็กนักเรียนทุน ถ้ามีโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ใช้ คนอื่นๆจะมองว่า เป็นนักเรียนทุนนั้น แต่มีของพวกนี้ใช้ คนอย่างพวกผมอาจจะไม่ยากจนก็ได้ ซึ่งผมขอตอบแทนนักเรียนทุนทุกคนว่า จริงๆแล้ว ทุกคนต้องมีเหตุผลในการใช้ ใช้เพื่ออะไร? สิ่งที่ได้มานั้น ไม่ใช่แบมือขอแล้วได้เลย กว่าจะซื้อได้มาใช้นั้น ต้องประหยัด อดออม และเก็บเงินมาเป็นปี จากเงินที่ได้รับและหามา อย่ามองว่านักเรียนทุนนั้น ไม่เหมาะกับสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากทุกคนมีเหตุผลในการใช้ครับ อีกอย่างเรื่องของการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่มูลนิธิพุทธรักษาให้ทำทุกเดือน ให้รู้ว่าต้องใช้จ่ายอะไร ใช้อย่างมีเหตุผล และวางแผนการใช้เงินในเดือนต่อๆไป ผมไม่รู้ว่าคนอื่นทำอย่างไง แต่ผมทำทุกวัน (อยากบอกว่าผมถอนเงินออกจากบัญชีทุกวัน วันละ 100 บาท เป็นค่าอาหาร และใช้จ่ายอื่นๆ ที่ผมไม่อยากถอนทีเดียว 500 บาท หรือ 1,000 บาท หรืออาจมากไปกว่านี้ เพราะว่าแม่บอกว่าถ้าเราถอนออกมาเยอะ เราก็จะใช้จ่ายเยอะ ถ้าเราถอนออกมาน้อย มันก็จะใช้จ่ายน้อย นี่แหละครับ คือเหตุผลของการถอนเงินของผม และการใช้จ่ายในแต่ละวัน อดทนมาก เป็นแบบนี้ตั้งแต่เข้าปริญญาตรี ปี 1 จนจบปริญญาตรี)

ส่วนเรื่องการเรียน เราต้องตั้งเป้าหมายในการเรียนด้วย ไม่ใช่แค่เรียนให้จบ และผ่านเท่านั้น เพราะจะทำให้เราไม่มีสีสันในการเรียน ไม่มีความตั้งใจ และขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองในเรื่องๆนั้น ผมก็ตั้งเป้าเรียนการเรียนออกเป็นภาคการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น ภาคการศึกษานี้ มี 7 วิชา ผมจะตั้งใจ เอา A 5 ตัว และห้ามต่ำกว่า C 2 ตัวในวิชาที่ยาก เป็นต้น การที่ผมมีเป้าหมายในการเรียน จึงทำให้ได้ “เกียรตินิยมอันดับ 1”

เรื่องงานทำงาน ผมจะเน้นคำว่า “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด และทำทุกอย่างด้วยใจ” สองคำนี้จะช่วยให้เราทำงานได้เต็มที่ และเต็มใจ ทั้งยังคอยช่วยย้ำเตือนผมทุกวันว่า ผมเป็นใคร มาจากที่ไหน ทั้งนี้หลักการทำงาน ของผมคือ ต้องให้เกียรติ และเคารพซึ่งกันและกัน และรับผิดชอบงานในส่วนที่ได้รับมอบหมาย อย่าทำงานให้คนอื่นเดือนร้อน รวมทั้งเรียนรู้ตลอดเวลา และอย่าลืมพัฒนาตนเองด้วย 

ปัจจุบันอายุเท่าไร  มีพี่น้องกี่คน 

เกิดวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2538 ปัจจุบัน อาย 23 ปี มีพี่น้อง 5 คน เป็นคนที่ 4 ครอบครัวมีฐานะยากจน เนื่องจากพื้นฐานของครอบครัวของผมไม่มีอะไรเลย พ่อกับแม่ ค่อยๆสร้างตัวขึ้นมาเท่าที่ท่านทั้งสองจะทำได้ ตอนเด็กๆจำความได้ว่า ต้องเข้าไปทำไร่กับครอบครัว ทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ รวมทั้งช่วงปิดเทอมด้วย เพราะพ่อกับแม่คิดว่าเราลำบาก ท่านทั้งสอนให้เรารู้จักทำมาหากินตั้งเด็กๆ ช่วงชีวิตประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นนั้น ผมไม่ได้เรียนพิเศษ ไม่ได้เรียนกีฬา ไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ และไม่ได้ทำในสิ่งที่เพื่อนๆได้ทำ เพราะเข้าใจฐานะของครอบครัว เข้าใจความรักของพ่อและแม่  และเข้าใจในสิ่งที่ต้องเจอ ทำให้ผมและพี่น้องในครอบครัวได้ใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง ที่คนอื่นๆไม่ได้เจอ ทำให้ผมเป็นนักสู้มาตั้งเด็ก ถึงเวลาเรียนจงเรียนให้เต็มที่ ถึงเวลาทำงานก็ต้องทำให้เต็มที่เหมือนกัน ด้วยความที่อยากเรียนสูงๆ แต่ไม่อยากให้พ่อกับแม่ต้องลำบากใจ เพราะผมมีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ทุกคนอยากเรียนจบสูงเหมือนกัน ณ ตอนนั้น พี่ชาย และพี่สาวผม กำลังศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีเหมือนกัน จึงเป็นเหตุผลให้ต้องจากบ้านมาเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนบางเสด็จวิทยาคม อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เพราะคิดว่าที่จะช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านได้

ชีวิตในช่วงมัธยมศึกษานั้น ได้พักในหอพักของโรงเรียน และกินข้าวในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าและยากจนวัดสระแก้ว ก็ต้องใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่งต้องคอยช่วยงานโรงเรียนและวัดสระแก้ว ที่ได้สอนอะไรหลายๆอย่าง แบบเด็กบ้านนอกต้องมาเจอ คือวัฒนธรรมของคนภาคกลาง ที่นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าเราก็ไม่ได้ด้อยหรือไม่มีอย่างคนอื่นเขา สิ่งที่ผมภาคภูมิใจคือ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน โดยการเข้าร่วมแข่งขันวิชาการ ศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 62 ในปีการศึกษา 2555 นั้น ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ในหัวข้อ “สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ระดับชั้น ม.4 – ม.6” สิ่งนี้จึงทำให้รู้ว่า ไม่ว่าจะเรียนที่ไหน อยู่ที่ไหน ถ้าไม่ขาดความพยายาม และไม่ขาดความอยากรู้อยากเรียน เราก็จะเหมือนคนอื่นได้ หรืออาจมากกว่าก็ได้

หลังจากเรียนจบระดับปริญญาตรี ก็สอบเข้าทำงานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชรได้นั้น อาจเป็นผลพวงมาจากที่สิ่งได้ทำในระหว่างกำลังศึกษา คือ ตั้งเป้าหมายในการเรียน และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทำให้ไม่ขาดการเรียนรู้ และหยุดพัฒนาตนเอง

สิ่งที่อยากฝากให้กับน้องๆทุกคนก็คือว่า “อย่าท้อ อย่ายอมแพ้ ถ้าเรายังมีโอกาส และทำชีวิตให้พร้อม ที่จะรับโอกาสต่างๆ รวมทั้งถ้าอยากเก่งอะไร จงให้เวลากับสิ่งนั้น”

เปิดมุมมองอดีตเด็กรับทุนหลายมูลนิธิ ปัจจุบันสวมหมวกสองใบ รับราชการแวดวงสาธารณสุขควบนายกสมาคมพี่น้องพุทธรักษา พร้อมส่งต่อความดีให้รุ่นน้อง

เกี่ยวกับมูลนิธิพุทธรักษา

ทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ประธานกรรมการ มูลนิธิพุทธรักษา กล่าวถึงจุดตั้งต้นของมูลนิธิพุทธรักษาว่า มูลนิธิพุทธรักษาก่อกำเนิดขึ้นจากความตั้งใจของคุณพ่อคุณแม่ (คุณธนินท์และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์) ที่ต้องการช่วยเหลือเด็กที่ขาดโอกาส จึงมอบหมายให้ตนดูแลและขยายผล จนทุกวันนี้ สิ่งที่คุณพ่อและคุณแม่เริ่มต้นและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมากว่า 25 ปี ได้เกิดดอกออกผล ส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้เด็กกว่า 7,000 คนในแต่ละปี

 “คุณพ่อและคุณแม่ยังเน้นย้ำความกตัญญูและความดี ท่านต้องการให้เด็กๆเหล่านี้ได้ใช้โอกาสที่เขาได้รับ ตอบแทนสังคมและส่งต่อโอกาสให้ผู้คนอีกมากที่ยังขาดโอกาสอยู่ การเปิดตัวสมาคมพี่น้องพุทธรักษาจึงเป็นอีกก้าวย่างหนึ่งที่สำคัญ ในการเปิดพื้นที่ให้กับนักเรียนทุนมูลนิธิพุทธรักษาทั้งอดีตและปัจจุบัน ได้ทำประโยชน์ให้สังคม”

ดร. วิทย์ สุนทรนันท์ รองประธานกรรมการ มูลนิธิพุทธรักษา กล่าวว่า “เนื่องจากมูลนิธิพุทธรักษา ได้ดำเนินงานด้านการส่งเสริมสนับสนุนศักยภาพของเยาวชน ในประเทศไทยมาโดยตลอด ได้มุ่งมั่นในการบ่มเพาะวิชาการและทักษะที่เหมาะสมกับเยาวชน โดยร่วมกับองค์กรพันธมิตร รวมถึงการพัฒนาจิตใจ จิตสำนึกต่อสังคม ด้วยมุ่งหวังว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเติบโตเป็นผู้ส่งต่อการช่วยเหลือไปยังผู้อื่นให้มากขึ้น เพราะมั่นใจว่า ทุกคนมีศักยภาพในการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน สังคมจะดีได้หากสนับสนุนและผลักดันให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง และหาโอกาสในการหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่ผู้อื่น”

"เราได้นำปณิธานของคุณธนินท์ และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ มาปลูกฝังแก่นักเรียนทุนทุกคน เราอยากให้นักเรียนทุนใช้โอกาสที่ได้รับไปพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ ในขณะเดียวกันก็ให้มองหาโอกาสในการทำความดี ช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือสังคม แม้ในขณะที่พวกเขาอาจจะไม่พร้อม แม้ในขณะที่พวกเขายังเรียนอยู่ ไม่จำเป็นต้องรอจนกระทั่งจบการศึกษาแล้ว หรือมีงานทำแล้ว นักเรียนทุนมูลนิธิพุทธรักษาอีกจำนวนมากที่กำลังทยอยสำเร็จการศึกษา และจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม สร้างสังคมแห่งน้ำใจ พร้อมช่วยเหลือและเติมเต็มซึ่งกันและกัน"

ติดตามข้อมูลข่าวสารสมาคมพี่น้องพุทธรักษา และมูลนิธิพุทธรักษาได้ที่

http://www.buddharaksa.or.th/th

https://www.facebook.com/buddharaksafoundation

###

สำหรับท่านสื่อมวลชน  กรุณาติดต่อ : แผนกสื่อสารองค์กร มูลนิธิพุทธรักษา

คุณวรดนู นิมมิต (ทิมมี่/ทับทิม)   T: 081-309-7799, E: [email protected]

คุณมลทิพย์ เจนธรรมพัฒน์ (แอ๊ง) T: 089-921-1266,E: [email protected]