อัศจรรย์! ความเชื่อ 3 ประการ ที่เกิดขึ้นในวันพระ?!

ความเชื่อ 3 ประการที่เกิดขึ้นในวันพระ… โน้มน้าวจิตใจมนุษย์เข้าสู่ทางสายบุญ

 “วันพระ”  เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ  เป็นวันแห่งการถือศีล ฟังธรรม ประกอบคุณงามความดีในคติพุทธ โดยในเดือนหนึ่งจะมีวันพระอยู่ทั้งหมด ๔ วันได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ หรือแรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด

อัศจรรย์! ความเชื่อ 3 ประการ ที่เกิดขึ้นในวันพระ?!

วันพระจึงเป็นวันพิเศษในทางพระพุทธศาสนา ในสมัยก่อนหากถึงวันพระ พุทธศาสนิกชนก็มักจะเดินทางไปที่วัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา จวบจนในปัจจุบันพุทธศาสนิกชนก็ยังคงให้ความสำคัญกับวันพระ หลายคนถือเอาวันพระเป็นวันของการถือศีล เป็นวันทำบุญใส่บาตร และอื่นๆอีกมาก วันพระจึงเป็นวันสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีความเชื่อ 3 ประการที่โน้มน้าวจูงใจให้คนทำความดีละเว้นจากความชั่ว ดังนี้

เทวดาลงมาตรวจโลกมนุษย์ในวันพระ   ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ ท้าวเวสสุวรรณ  เทพทั้ง ๔ องค์นี้ เรียกว่า ท้าวจตุมหาราช หรือ ท้าวจตุโลกบาล  คือ เทพผู้เป็นใหญ่ คุ้มครองรักษา ทั้ง ๔ ทิศ ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑  และมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองดูแลสอดส่องโลกมนุษย์อีกด้วย ทำให้ในทุกวันพระ จะต้องมาตรวจตราโลกมนุษย์ โดยในวัน ๘ ค่ำ ท่านจะใช้บริวารลงมาตรวจ  ในวัน ๑๔  ค่ำ บุตรของท้าวจตุมหาราชจะลงมาตรวจ ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ วันพระ ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระใหญ่ ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ ท่านจะลงมาตรวจด้วยตนเอง  โดยทุกวันพระของการมาตรวจโลกมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบริวารของท่านมาตรวจ บุตรท้าวจตุมหาราชมาตรวจ หรือท้าวจตุมหาราชมาตรวจเองก็ตาม สิ่งที่ทำคือ ท่านจะมาตรวจดูว่า มนุษย์ผู้ใดได้ทำความดี  แล้วก็จะจดชื่อ สกุล ในแผ่นทองคำ นำไปถวายแด่คณะเทวดาในชั้นดาวดึงส์  ซึ่งมาประชุมกัน ณ สุธรรมาสภา หากรายชื่อมนุษย์ที่ทำบุญมีน้อยกว่าทำบาป  เหล่าเทวดาก็จะเสียใจ เนื่องจากเห็นว่า จะไม่มีเทวดาใหม่ๆ มาเกิดบนเทวโลก  แต่ในอบายภูมิ จะมากไปด้วยผู้ที่ประพฤติตนไม่ดี  ขณะเดียวกัน หากดูรายชื่อแล้ว มนุษย์ทำบุญมีมากกว่าทำบาป เหล่าเทวดาจะดีใจ เพราะต่อไปจะมีเทวดาใหม่ๆมาเกิด ส่วนพวกที่เกิดในอบายภูมิก็จะลดลง  

 

อัศจรรย์! ความเชื่อ 3 ประการ ที่เกิดขึ้นในวันพระ?!

 เรื่องนี้มิใช่เป็นความเชื่อของคนในสมัยก่อนเท่านั้น แต่ยังปรากฎใน พระไตรปิฎก  เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ราชสูตรที่ ๑  http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=3717&Z=3740 ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสถึงเรื่องดังกล่าวไว้ ปรากฏดังนี้  

[๔๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในดิถีที่ ๘ ของปักษ์ เทวดาผู้เป็น บริวารของท้าวจาตุมหาราชย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ

 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในดิถีที่ ๑๔ ของปักษ์ พวกโอรสของท้าวจาตุมหาราชย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา ... ทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำนั้น ท้าวจาตุมหาราชย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ด้วยตนเองทีเดียวว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดาเกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา ... ปฏิบัติ ทำบุญมีอยู่น้อย ท้าวจาตุมหาราชย่อมบอกถึงเหตุที่กล่าวมานั้น แก่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ซึ่งมาประชุมกันอยู่ ณ สุธรรมาสภาว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา ปฏิบัติ ทำบุญ มีน้อย  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมพากันเสียใจว่า ดูกรผู้เจริญทั้งหลาย กายทิพย์จักเสื่อมหาย อสุรกายจักเต็มบริบูรณ์ ดังนี้

 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา ... ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มาก ท้าวจาตุมหาราชย่อมบอกถึงเหตุที่กล่าวมานั้น แก่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ซึ่งมาประชุมกัน ณ สุธรรมาสภาว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มากแล เพราะเหตุนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมพากันดีใจว่า ดูกรผู้เจริญทั้งหลาย กายทิพย์จักเต็มบริบูรณ์ อสุรกายจักเสื่อมสูญ ฯ

 

อัศจรรย์! ความเชื่อ 3 ประการ ที่เกิดขึ้นในวันพระ?!

เทวดาฟังธรรม- มนุษย์เข้าวัดถือศีล ความเชื่อประการที่สอง คือ สมัยก่อนผู้คนบางส่วน เชื่อว่า วันพระเทวดาไม่อยู่ เพราะ เทวดาจะมาฟังธรรมที่ธรรมสภาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทวดาจึงไม่อาจมาดูแลปกป้องมนุษย์ได้  ทำให้คนสมัยก่อนหยุดทำงานในวันพระ แม้แต่ใบไม้สักใบก็จะไม่เด็ดออกจากต้น โรงฆ่าสัตว์ต่างๆก็จะหยุดทำลายชีวิต โดยเฉพาะในวันพระใหญ่ขึ้น 15 ค่ำ จะเคร่งครัดเป็นพิเศษ เพื่อละเว้นจากการทำความชั่ว รักษาศีล เข้าวัดฟังธรรม เพื่อปกป้องตนเองให้พ้นจากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย มีความเชื่อกันอีกว่าในวันพระ อาจจะมีการปล่อยของที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ ทำให้บางคนที่มีจิตใจอ่อนแอ ชะตาตก ถูกลมเพลมพัดได้ ดังนั้นจึงงดกิจทั้งปวง ทั้งการทำงาน การเดินทางไกลต่างๆ เข้าวัดฟังธรรมอย่างเดียวเท่านั้น  ความเชื่อในเรื่องนี้ที่ได้ยินได้ฟังสืบต่อกันมา ก็เพื่อจูงใจให้คนเข้าวัด ถือศีล ทำความดี  ละเว้นความชั่ว เป็นการสร้างบุญให้เกิดแก่ตนเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพราะบุญกุศลเท่านั้น จะเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากสิ่งไม่ดี

 

อัศจรรย์! ความเชื่อ 3 ประการ ที่เกิดขึ้นในวันพระ?!

ยมโลกงดทรมานสัตว์ มีความเชื่อว่าเฉพาะในวันพระใหญ่ขึ้น 15 ค่ำ ยมโลกจะงดการทรมานสัตว์ที่ได้รับโทษทัณฑ์หนึ่งวันและเปิดโอกาสให้สัตว์นรกเหล่านั้นสามารถรับบุญจากมนุษย์ได้ จึงทำให้เชื่อว่าในวันพระใหญ่จะมีวิญญาณออกมามากมายกว่าปกติ เพื่อมาขอส่วนบุญกับมนุษย์ ขณะที่ในบางความเชื่อก็ว่า ในยมโลกจะหยุดทรมานสัตว์นรกเท่านั้นแต่ไม่ได้ปล่อยให้ออกมา ส่วนในมหานรก หรือนรกขุมใหญ่ สัตว์นรกก็ยังคงรับกรรมของตนตามปกติ  อย่างไรก็ดี ความเชื่อนี้ เป็นสิ่งที่คนสมัยก่อนบอกเล่าสืบมา เพื่อให้ลูกหลานได้ทำบุญถือศีลในวันพระ แล้วอุทิศบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือวิญญาณทั้งหลายที่ไม่ใช่ญาติก็ตาม ซึ่งการอุทิศบุญให้วิญญาณ ก็เป็นการทำบุญอีกประการหนึ่งเช่นกัน

 

อัศจรรย์! ความเชื่อ 3 ประการ ที่เกิดขึ้นในวันพระ?!

สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับวันพระนั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นที่ได้ยินได้ฟังมา ส่วนจะเชื่อหรือไม่ก็สุดแท้แต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคล หากแต่พิจารณาแล้ว ความเชื่อเหล่านี้ก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย เพราะได้โน้มน้าวชักจูงให้คนทำความดี ละเว้นความชั่ว เพียงแค่ไม่กี่วันในหนึ่งเดือนก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำ เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นของใครหลายคนที่อยากทำความดีในทุกๆวัน ไม่ใช่เฉพาะวันพระเท่านั้น?!   

 

อัศจรรย์! ความเชื่อ 3 ประการ ที่เกิดขึ้นในวันพระ?!

 

 

 

หมายเหตุ : เฉพาะหัวข้อ “เทวดาลงมาตรวจโลกมนุษย์ในวันพระ” ได้อ้างอิงมาจาก พระไตรปิฎก  เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ราชสูตรที่ ๑ http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=3717&Z=3740

เครดิตภาพ : Napapawn