ศาลฎีกาสั่งจำคุก"กำนันเซี้ย" 5 ปี เมีย-ลูกน้องคนละ 4 ปี คดีฮั้วประมูล

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

ศาลฎีกาพิพากษาแก้ จำคุก 5 ปี "กำนันเซี้ย" คดีฮั้วประมูลงานก่อสร้างในกาญจนุบรี-เพชรบุรี ระหว่างปี 42-44 ส่วนเมียกับลูกน้อง จำคุกคนละ 4 ปี พร้อมออกหมายจับจำเลยทั้งสามเหตุไม่มาศาล

 

วันนี้ (25 ม.ค.)   ที่ห้องพิจารณา 808  ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก  ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.4077/2546 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายประชา โพธิพิพิธ หรือ กำนันเซี้ย อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ นางเขมพร ต่างใจเย็น ภรรยา น.ส.วรรณา ล้อไพบูลย์ คนสนิทนางเขมพร และนายถวิล สวัสดี (เสียชีวิตแล้ว) เป็นจำเลย ที่ 1-4 ในความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ , หน่วงเหนี่ยวกักขัง และกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (ฮั้วประมูล)
      
      
คดีนี้ โจทก์ฟ้องบรรยายความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อระหว่างปี 2542 - 2544  จำเลยร่วมกันฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ใน จ.กาญจนบุรี และเพชรบุรี หลายโครงการ กระทั่งเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2544  จำเลยที่ 4 พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ศรีสุข เลขานุการของกำนันเซี้ย กับพวกอีกหลายคนที่ศาลอาญาพิพากษาลงโทษไปแล้วเมื่อปี 2546 ได้ร่วมกันกระทำความผิดข้อหาอั้งยี่  เข้าขัดขวางไม่ให้ บริษัท วัสดุเซ็นเตอร์ จำกัด เข้าเสนอราคา โดยได้กักตัวนายเดชา มาศวรรณา ตัวแทนบริษัทไว้  พร้อมเสนอให้รับเงิน 1 หมื่นบาท เพื่อไม่ให้เข้าร่วมการเสนอราคา แต่เมื่อนายเดชา ไม่ยินยอม นายสมศักดิ์กับพวกได้ใช้กำลังประทุษร้าย  ต่อมาจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พร้อมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
      
      
คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำคุก นายประชา หรือ กำนันเซี้ย เป็นเวลา 5 ปี ฐานเป็นหัวหน้า หรือผู้มีตำแหน่งในอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 วรรค 2 ส่วนจำเลยที่สองถึงสี่ ให้จำคุกคนละ 4 ปี ฐานเป็นอั้งยี่ แต่ต่อมาเมื่อมีการอุทธรณ์คดี ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2550 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด  ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย
      
      
ในวันนี้จำเลยทั้งสามไม่มาศาล  มีเพียงทนายความผู้รับมอบอำนาจ  ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลได้ออกหมายจับจำเลยจนครบ 1 เดือนแล้วหลังจากที่ไม่มาศาลหลายนัด  ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย   

 

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า  โจทก์มีพยาน 14 ปาก  ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มบ้านใหญ่ หรือ กลุ่มกำนันเซี้ย ซึ่งพยานต่างเบิกความสอดคล้องกันว่า  เดิมมีผู้ก่อตั้งกลุ่มดังกล่าวเพื่อรวบรวมสมาชิกที่จะยื่นซองประกวดราคาโครงการของรัฐต่างๆ ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี โดยกีดกันบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกเข้ายื่นซองประกวดราคาแข่งขัน  ขณะที่การเป็นสมาชิกต้องให้ค่าตอบแทน  โดยแบ่งสัดส่วนให้ 5 เปอร์เซ็นต์ก่อนยื่นซอง และเมื่อชนะการประกวดราคาแล้วต้องให้ค่าตอบแทนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ของราคาที่ประกวด  และการเข้าเป็นสมาชิกต้องจ่ายเงิน 1 แสนบาทเพื่อเป็นค่าดำเนินการ  โดยภายหลังจำเลยที่ 1  เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  เป็นที่รู้จักของเอกชนในพื้นที่  จึงถูกเชิญมาเป็นที่ปรึกษาของกลุ่ม และภายหลังถูกเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม  ซึ่งได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 5 หมื่นบาท  ซึ่งมีการจัดประชุมกลุ่มทุกเดือนที่บ้านพักของจำเลยที่ 1 อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี  โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานการประชุม จำเลยที่ 2 เป็นรองประธาน ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเลขานุการจดบันทึกการประชุม รวมทั้งเป็นผู้ติดตามทวงถามเงินค่าตอบแทนจากการประมูล  ซึ่งภายหลังมีการประชุมบ่อยครั้งจะมีจำเลยที่ 2 นั่งเป็นประธานการประชุม เพื่อแจกแจงรายละเอียดในการยื่นซองประมูลโครงการต่าง ๆ แทนจำเลยที่ 1
      
      
นอกจากนี้  โจทก์ยังมีผู้เสียหาย  ซึ่งเป็นบริษัทวัสดุก่อสร้างเบิกความว่า  วันเกิดเหตุที่ 17 พ.ค.44  จะเข้ายื่นซองประกวดราคาโครงการของกรมชลประทาน  แต่ถูกกลุ่มของจำเลยกีดกันและหน่วงเหนี่ยวตัวเพื่อที่จะไม่ให้เข้าร่วมการยื่นซองประมูล  ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ขณะเกิดเหตุ  มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แฝงตัวได้เข้าจับกุมกลุ่มของจำเลยดังกล่าว 7 คน ซึ่งถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาไปแล้วฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกาย โดยกลุ่มของจำเลยนี้เป็นผู้ช่วย ส.ส.ของจำเลยที่ 1 ที่นำกำลังคน ซึ่งเป็นทหารมาคอยกีดกันบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกห้ามยื่นซองประกวดราคา
      
      
โดยพยานโจทก์ดังกล่าวถือเป็นประจักษ์พยาน  เชื่อว่าต่างเบิกความตามที่ได้รู้เห็น จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย  ส่วนที่จำเลยที่ 1-3 นำสืบต่อสู้อ้างว่า  ไม่รู้เห็นเรื่องการประชุม และไม่ทราบเรื่องการกีดกันการประมูลในที่เกิดเหตุนั้น  เป็นการปฏิเสธต่อสู้ลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น      การกระทำของจำเลยที่ 1-3 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 วรรคสอง 210 213 310 317 และ 391 และ พ.ร.บ.ฮั้วประมูลมาตรา 4-6 ซึ่งเป็นความผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดมาตรา 209 วรรคสอง ฐานเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งในคณะบุคคล ซึ่งเป็นอั้งยี่
      
      
จึงพิพากษาแก้ให้จำคุกนายประชา หรือ กำนันเซี้ย จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 5 ปี และให้จำคุกนางเขมพร และน.ส.วรรณา จำเลยที่ 2-3 คนละ 4 ปี โดยให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสามมารับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกา