น่าห่วง!! ทนายชี้"ธัมมี่"มีสิทธิ์รอด ถ้าดีเอสไอหลักฐานไม่แน่น-แจงศาลไม่ชัด

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 24 พ.ย.)  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้องพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายกับพวก ข้อหารับของโจรและฟอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ทางเพจ "ทนายคู่ใจ" ซึ่งเป็นของนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า

โธ่หลวงพ่อโดนข้อหาหนักเลย
อัยการแถลงส่งตัวฟ้องวันที่ 30 พ.ย. 2559 นี้
1.ข้อหารับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 ในความผิดข้อหานี้มักจะนำมาฟ้องหรือลงโทษต่อจากบุคคลที่กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ยักยอก ฉ้อโกง ฯลฯ จากกรณีนี้ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร นักโทษในคดียักยอกทรัพย์จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยิ่งตามการสืบสวนของดีเอสไอก็คือเขายักยอกเงินเข้ามาถ่ายเทกับทางผู้ต้องหา ข้อหานี้อัตราโทษจำคุกสูงถึง 5 ปีเชียวนะ ที่พบเจอมาถ้าฟังว่าผิดมักจะติดคุกจริงๆ เพราะถือว่ารู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดก็ยังรับทรัพย์นั้นไว้

 

ความผิดฐานรับของโจร "ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ....ซื้อหรือรับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด"ถ้าผิดจะผิดฐานรับไว้นี่แหละ ส่วนจะรู้หรือไม่รู้ว่าทรัพย์นั้นมาจากการกระทำความผิด ตามแนวฎีกาที่ศาลเคยวินิจฉัยไว้ โดยมากถ้าไม่ได้เปิดร้านรับซื้อของเก่าหรือรับต่ำกว่าราคาตลาดมากๆ ศาลจะมองว่าผิด แต่กรณีนี้เป็นเงินสด ก็ต้องรอติดตามกันข้อหานี้ยังไม่แน่ว่าจะผิดหรือถูกเพราะมีประเด็นเรื่องการบริจาควัด แต่ถ้ามีหลักฐานมากกว่าการบริจาคเช่นเจตนาพิเศษซึ่ง DSI มีข้อมูลอยู่ก็ไม่แน่งานนี้จบไม่สวย

 

2.ข้อหาฟอกเงินนี่ เป็นความผิดอาญาแผ่นดินรัฐเป็นผู้เสียหาย ถ้าฟังว่าผิดฐานนี้ก็ยึดทรัพย์ได้ แต่เมื่อไปดูกฎหมายฉบับนี้ตามแนวที่ศาลเคยลงไว้ว่าในบางกรณีก็ไม่ได้ผิดเสมอไป คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2267/2550 "ความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นคดีอาญาที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ศาลเชื่อว่าโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่เมื่อพยานหลักฐานโจทก์นำสืบมาแล้วนั้นยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย" ข้อหาฟอกเงินนี่ก็ไม่รู้ว่าDSIมีอะไรในมือบ้าง แต่ถ้าอ้างลอยๆนี่ผมว่าเผลอๆจะสู้ไม่ได้นะ

 

แต่เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 3 "ความผิดมูลฐาน" หมายความว่า (4) ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อ ทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกระทำโดย กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน นั้น"ยังไงก็ต้องฟ้องไปก่อนแล้วมาพิสูจน์กันในศาล เพราะอัยการสูงสุดได้ชี้ขาดแล้วว่าคดีมูลให้ฟ้องศาล