จ่อรออีกกระทงใหญ่!! "เปรมชัย"งานเข้าหลังไม่พบขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าของงาช้างมูลค่ากว่า 2ล้านบาท(รายละเอียด)

จ่อรออีกกระทงใหญ่!! "เปรมชัย"งานเข้าหลังไม่พบขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าของงาช้างมูลค่ากว่า 2ล้านบาท(รายละเอียด)

    จากกรณี นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี จับกุม พร้อมพวกรวม 4 คน เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2561  บริเวณป่าห้วยปะชิ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ท้องที่ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาน้ำโจน เจ้าหน้าที่พบซากสัตว์ป่าคุ้มครอง และอาวุธปืนอีกจำนวนหนึ่ง  และถูกแจ้งข้อหาทั้ง 6 ข้อหา ซึ่งในกระบวนการต่อมา
ทำการตรวจค้นบ้านของผู้ต้องหาอีก 3 คน คือบ้านนายยงค์ โดดเครือ บ้านเลขที่ 84 หมู่8 ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี , บ้านนางนที เรียมแสน บ้านเลขที่ 102 หมู่1 ต.ทุ่งสว่าง อ.ประทาย จ.นครราชสีมา และ บ้านนายธานี ทุมมาศ บ้านเลขที่ 47 หมู่3 ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
ด้านพ.ต.อ.สุวัฒน์ อินทสิทธิ์ รอง ผบก.ปทส. กล่าวหลังตรวจค้นบ้านหลังแรกว่า จากการตรวจค้นบ้านหลังแรกเจอปืนไรเฟิลติดลำกล้องมากกว่า 5 กระบอก และงาช้างอีกจำนวนหนึ่ง ไม่เจอซากสัตว์และร่องรอยการเคลื่อนย้ายของออกจากบ้าน โดยปืนไรเฟิลทุกกระบอกมีทะเบียนถูกต้อง เป็นชื่อของนายเปรมชัยและลูกชายอีก 1 กระบอก ซึ่งปืนทั้งหมดถูกเก็บในตู้ และไม่เจอหัวกระทิงหรือซากสัตว์อื่นๆ รวมทั้งไม่เจอนายเปรมชัยอยู่ในบ้าน แต่ภรรยาของนายเปรมชัยนำตรวจค้น
“งาช้างที่ตรวจพบได้ไปยื่นจดทะเบียนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งต้องให้กรมอุทยานฯตรวจสอบอีกครั้ง ส่วนตำรวจจะตรวจสอบอาวุธปืนไรเฟิลทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยทนายความและคนในบ้านไม่พูดถึงนายเปรมชัยว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน"

 

   ล่าสุดเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำงาช้าง 2 คู่ หรือ 4 กิ่ง ที่ยึดมาได้จากการเข้าตรวจค้นบ้านพัก นายเปรมชัย กรรณสูต ผู้ต้องหาคดีร่วมกันล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ในซอยศูนย์วิจัย 3 เมื่อวันที่ 7 ก.พ.61 ที่ผ่านมา เพื่อตรวจเก็บสารพันธุกรรม หรือ DNA ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ บก.ปทส. เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่องาช้างแต่ละกิ่ง เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการทางนิติวิทยาศาตร์พิสูจน์ว่าเป็นงาช้างเอเชียหรือแอฟริกา โดยขั้นตอนแรก เจ้าหน้าที่ทำการชั่งน้ำหนักงาช้าง และวัดขนาด ก่อนนำชิ้นส่วนเข้าห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ด้าน พันตำรวจเอกสุวัฒน์ อินทสิทธิ์ รองผู้บังคับการ ปทส. ระบุว่า การเก็บเนื้อเยื่องาช้าง ทำได้ยาก เนื่องจากมีการตัดแต่งเพื่อความสวยงาม ทำให้ต้องใช้ระยะเวลา
 

   ด้านนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า การตรวจสอบงาช้าง ว่าเป็นงาช้างเอเชียหรือแอฟริกา สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้จากลักษณะภายนอก หากเป็นงาช้างแอฟริกาจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก แต่หากลักษณะภายนอกพบงามีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ต้องตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์แทน หากเป็นงาช้างเอเชียจะต้องตรวจสอบว่ามีการขออนุญาตครอบครองตาม พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ.2558 หรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายหากไม่ขอครอบครองต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่หากเป็นงาช้างแอฟริกา จะเข้าข่ายความผิดตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือ ไซเตส นอกจากนี้ ยอมรับว่านายเปรมชัย เคยยื่นขอครอบครองงาช้างมาแล้ว เมื่อครั้งที่มีการเปิดให้ผู้ครอบครองงาช้างนำงาช้างมาลงทะเบียน แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองซึ่งประเมินราคางาช้างอยู่ที่ 4 ถึง 5 หมื่นบาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งจากการประเมินงาช้างทั้ง 2 คู่ มีราคามากกว่า 2 ล้านบาท

 

 

ขอบคุณข้อมูล  springnews