ลามไปยันเมีย!! เรียก "เมียเจ้าสัว" แจงมีชื่อ ครอบครอง งาช้างแอฟริกา

ลามไปยันเมีย!! เรียก "เมียเจ้าสัว" แจงมีชื่อ ครอบครอง งาช้างแอฟริกา

จากกรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำงาช้าง 2 คู่ หรือ 4 กิ่ง ที่ยึดมาได้จากการเข้าตรวจค้นบ้านพัก นายเปรมชัย กรรณสูต ผู้ต้องหาคดีร่วมกันล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ในซอยศูนย์วิจัย 3 เมื่อวันที่ 7 ก.พ.61 ที่ผ่านมา เพื่อตรวจเก็บสารพันธุกรรม หรือ DNA ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ บก.ปทส. เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่องาช้างแต่ละกิ่ง เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการทางนิติวิทยาศาตร์พิสูจน์ว่าเป็นงาช้างเอเชียหรือแอฟริกา โดยขั้นตอนแรก เจ้าหน้าที่ทำการชั่งน้ำหนักงาช้าง และวัดขนาด ก่อนนำชิ้นส่วนเข้าห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ด้าน พันตำรวจเอกสุวัฒน์ อินทสิทธิ์ รองผู้บังคับการ ปทส. ระบุว่า การเก็บเนื้อเยื่องาช้าง ทำได้ยาก เนื่องจากมีการตัดแต่งเพื่อความสวยงาม ทำให้ต้องใช้ระยะเวลา

   ล่าสุดรายงานข่าวแจ้งว่า หลังผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเองาช้าง จำนวน 4 กิ่งหรือ 2 คู่ ที่พบในบ้านของนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด มหาชน แล้วพบว่าเป็นงาช้างแอฟริกานั้น จากการตรวจสอบพบว่าชื่อในการนำงาช้างดังกล่าว มาขึ้นทะเบียนกับกรมอุทยานฯ เป็นชื่อของนางคณิตา วิทยานันท์ ภรรยานายเปรมชัย ซึ่งกรมอุทยานฯ จะแจ้งให้นางคณิตานำเอาหลักฐานการได้มาของงาช้างซึ่งอ้างว่าเป็นงาช้างบ้าน มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ก่อนแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 19 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ต่อไป
  ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.งาช้าง 2558 หากพบว่างาช้างที่นำมาขึ้นทะเบียนไม่ใช่งาช้างบ้านโดยมีผลดีเอ็นเอยืนยันชัด กรมอุทยานฯ ต้องทำหนังสือไปยังผู้ครอบครองให้ส่งมอบงาช้างเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดิน ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ยินยอมส่งมอบก็จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท และอาจแจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติมในคดีอาญากรณีแจ้งข้อมูลเท็จนำงาช้าง แอฟริกามาขึ้นทะเบียนเป็นงาช้างบ้านด้วย

   ทั้งนี้ที่ผ่านมาก่อนขึ้น ทะเบียนงาช้างบ้านกับกรมอุทยานฯ ผู้ครอบครองต้องนำเอกสารหลักฐานการได้มาของงาช้างมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ หรือหากไม่มีหลักฐานการได้มา ก็ต้องเซ็นรับรองในแบบฟอร์มว่างาช้างดังกล่าวเป็นงาช้างบ้านจริง ซึ่งหากไม่แน่ใจก็สามารถตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอก่อนได้ โดยฝ่ายผู้ครอบครองจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจดีเอ็นเอ