เปิดปูม ความอัปยศศึกสถาบัน อุเทน-ปทุมวัน กับค่านิยมเลือดแลกเลือด

อุเทนถวาย - ปทุมวัน ศึก 2 สถาบัน มีที่มาความขัดย้งมาจากอะไร จึงทำให้เกิดเป็นค่านิยมแบบผิดๆ

ศึกสถาบันเลือดแลกเลือด คำนี้อาจฟังดูโหดร้ายแต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ใช่เมื่อพูดถึงวีรกรรมต่างๆ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เปิดศึกยกพวกฆ่าแกงกันบ่อยครั้งศพแล้วศพเล่าที่ต้องสังเวยให้กับอารมณ์และค่านิยมที่ถูกฝังหัวมาอย่างผิดมหันต์ตั้งแต่ครั้งอดีตจากรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นมรดกตกทอดชั้นเลวทรามที่สุดทั้งที่สถาบันการศึกษาทุกสถาบันสอนสั่งให้ความรู้ ให้ปัญญา แต่กลับต้องถูกดึงปลั๊กสติออกเพียงแค่ค่านิยมที่ว่า "รักพวกพ้อง"

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 225 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ยึดคติพจน์ที่ว่า "ถ้าเรารักสมัครจิต ก็ต้องคิดสมัครมือ ถิ่นสีน้ำเงิน คือ ที่รวมรักสมัครคง"

 

วิทยาเขตอุเทนถวาย เดิมทีชื่อ "โรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวาย" เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2475 เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รมว.ศึกษาธิการ ดำริให้ก่อตั้งขึ้นในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบนเนื้อที่ 2 ไร่ มีการเปลี่ยนหลักสูตรการสอนเรื่อยมาจนปี 2542 ไดเริ่มเปิดสอนในระดับปริญญาตรีต่อเนื่องจากระดับ ปวส.ในสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการจัดการงานก่อสร้าง สาขาวิศวกรรมโยธา และเชื่อว่าระดับปวช.เป็นระดับชั้นที่เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทบ่อยที่สุด จึงได้ยุบการสอนระดับชั้น ปวช.ออกไป และเปิดสอนในระดับปริญญาตรีแทนแต่ปัญหาเหมือนจะแก้ไม่ตรงจุด เพราะยังคงมีการทะเลาะวิวาทรายวันให้ได้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

ม.ราชมงคล

สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เป็นสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ยกฐานะขึ้นมาจาก "วิทยาลัยช่างกลปทุมวัน" เป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษาด้านอาชีวศึกษาเข้ามาศึกษาต่อเฉพาะทางในระดับปริญญา

 

โรงเรียนช่างกลแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ในนาม "โรงเรียนอาชีพช่างกล" ณ ตึกพระคลังข้างที่ ตรอกกัปตันบุช ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2477 โรงเรียนอาชีพช่างกลจึงย้ายไปตั้งแทนที่กรมแผนที่ทหารบก ซึ่งได้ย้ายไปจากบริเวณท่าเรือ โรงเรียนราชินีล่าง จนปีต่อมาได้โอนโรงเรียนอาชีพช่างกลมาอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พร้อมชื่อโรงเรียนใหม่ว่า โรงเรียนมัธยมอาชีพช่างกล

 

ในปี พ.ศ. 2480 ได้ดำเนินการเช่าที่ดินตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เดิม มีเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ ได้จัดสร้างอาคารเรียน 1 หลัง โรงฝึกงานอีก 8 หลัง แล้วย้ายโรงเรียนมัธยมอาชีพช่างกลมาอยู่ที่โรงเรียนใหม่นี้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2482 ตั้งชื่อโรงเรียนใหม่ว่า "ช่างกลปทุมวัน"

 

ปี พ.ศ. 2518 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยช่างกลปทุมวัน เปิดสอนหลักสูตร ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในปี พ.ศ. 2533 เริ่มเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) และ พ.ศ. 2537 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิศวกรรมศาสตร์ (ป.วศ.) สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ในปี พ.ศ. 2540 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวิทยาลัยช่างกลปทุมวัน ว่า "ปทุมวัน" 

 

2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 วิทยาลัยช่างกลปทุมวัน ได้ยกฐานะเป็นสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พ.ศ. 2541 และเปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) เป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน

 

ปทุมวัน
 

สำหรับสาเหตุการทะเลาะกันของ 2 สถาบันได้มีการขบคิดกันหลายครั้งว่าอาจจะเป็นเพราะ 2 สถาบันอยู่ใกล้กัน เลือดวัยรุ่นมันร้อน วุฒิภาวะ ค่านิยมเลียนแบบ การเชื่อฟังรุ่นพี่้จนเกินเหตุ ใดๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุความรุนแรงได้ทั้งสิ้น ผู้ใหญ่หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้เคยประชุมเพื่อหาทางแก้ปัญหายุติการตีกันของ 2 สถาบันนี้มานับครั้งไม่ถ้วนแม้กระทั่งเมื่อปี 2552 พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.(ในขณะนั้น) ได้นัดหมายให้อาจารย์ และตัวแทนนักศึกษาจากอุเทนถวาย และเทคโนโลยีปทุมวัน มาจับมือเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างสถาบันที่ยืดเยื้อมานาน แม้ในตอนนั้นตัวแทนทั้ง 2 สถาบันได้จับมือแลกดอกไม้ด้วยกันเพื่อเป็นสัญลักษณ์ แต่ก็ทำไปแบบเสียมิได้เพราะทั้ง 2 ฝ่ายม่สีหน้าเรียบเฉยและไม่สบตากัน จนอาจารย์ทั้ง 2 สถาบันต้องพาเด็กในปกครอง (ที่ปกครองไม่ได้) กลับในทันที

 

ล่าสุดเกิดเหตุการณ์นักศึกษาทั้ง 2 สถาบันยกพวกตีกันที่สกายวอล์ก บีทีเอส สนามกีฬาเชื่อมกับห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ทำให้ชาวบ้านต้องหนีตายกันชุลมุนเพราะหวั่นว่าจะโดนลูกหลงกับเหตุการณ์สิ้นคิดนี้ไปด้วย ผลจากเหตุการณ์นี้สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน แก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการสั่งปิด สถานศึกษา 7 วัน หลังนักศึกษาสถาบันของตนก่อเหตุ แต่อย่างไรก็ตามทุกคนต่างรู้กันดีว่านี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะการสั่งปิดสถานศึกษา 7 วัน ไม่ได้ช่วยให้จิตสำนึกของนักศึกษาเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันช่วงที่ไม่มีการเรียนการสอนอาจทำให้เด็กมีเวลาในการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีกก็ได้

 

หากเปรียบเด็กเป็นเสมือนผ้าขาว ที่ผู้ใหญ่จะระบายสีอะไรลงไปก็จะกลายเป็นสีนั้นปัญหาการวิวาทระหว่างสถาบันก็ควรต้องเริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกหลาน หากพ่อแม่ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล หรือใช้อำนาจหน้าที่คอยเบียดบังทำร้ายผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นไปได้ยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกหลานได้ ซึ่งหลายครั้งที่เราพบลูกของคนมีสีกระทำความผิดเพราะพวกเขาเหล่านั้นเห็นต้นแบบที่ผิดๆ มาตลอดทั้งชีวิตและคิดว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง

 

อีกส่วนสำคัญคือรุ่นพี่ที่คอยนำข้อมูลใส่หัวตกทอดรุ่นต่อรุ่นให้รักพวกพ้อง รักพี่น้อง เลือดต้องแลกด้วยเลือด ซึ่งเป็นเรื่องน่าสลดที่นักศึกษาบางส่วนเชื่อฟังรุ่นพี่มากกว่าครูอาจารย์ ที่พยายามสอนสั่งปลูกฝังสิ่งดีงาม แต่สุดท้ายแล้วปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะหยุดปัญหาวิวาทต่างสถาบัน หรือหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวต่างๆ ได้ คือตัวของตัวเอง ตัวของนักศึกษาเหล่านั้นที่ต้องคิดให้ได้ว่าการเติบโตขึ้นมาบนโลกใบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย อุตส่าห์ร่ำเรียนมาเป็นสิบๆ ปี จะต้องมาจบชีวิตเยี่ยงหมาข้างถนนเพียงเพราะค่านิยมรักพวกพ้องอย่างนั้นหรือ?? สุดท้ายแล้วหากแก้ปัญหา 2 สถาบันไม่ได้การยุบรวมเป็นสถาบันเดียวกันก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ประชาชนเคยเสนอ และหากเลวร้ายที่สุดการสั่งปิดทั้ง 2 สถาบันเพื่อคืนความสงบสุขแก่ประชาชนก็เป็นสิ่งที่เชื่อว่าใครหลายคนอาจมีแวบเข้ามาในหัวสมองเช่นกัน 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศร้า! พ่อเเม่ "น้องเอก" นศ.อุเทนถวาย เดินทางมารับศพลูกชายที่นิติเวช(คลิป)
- เปิดโพสต์สุดท้าย "น้องเอก" หนุ่มอุเทนถวาย ก่อนถูกยิงดับ เพื่อนเศร้ายังทำใจไม่ได้

 

ศึกสองสถาบัน


ขอบคุณภาพ : ตำรวจ สน.ปทุมวัน