ทุจริตสหกรณ์รถไฟ2พันล้าน คนรถ-เลขาซื้อบ้านหรู ลุ้นปปง.อายัดทรัพย์

ทุจริตสหกรณ์รถไฟ2พันล้าน คนรถ-เลขาซื้อบ้านหรู ลุ้นปปง.อายัดทรัพย์

     คดีทุจริตกว่า 2 พันล้านสหกรณ์ฯรถไฟยังวุ่นไม่จบ กรมส่งเสริมฯ เร่งประสานสน.บางรัก พร้อมสั่งสอบเชิงลึกสหกรณ์ทั่วไทย หวั่นเกิดเหตุลุกลาม-ป้องกันเกิดใหม่ สมาชิกกว่า 6 พันคนลุ้นตำรวจชงปปง.สั่งอายัดทรัพย์คนที่เกี่ยวข้องก่อนยักย้ายถ่ายเท

     นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ภายหลังสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ได้เข้าร้องเรียนและขอความช่วยเหลือให้เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดการทุจริตภายในสหกรณ์จนสร้างความเสียหายต่อการเบิกจ่ายเงินกู้ของสมาชิกว่า ได้ทำหนังสือถึงสถานีตำรวจนครบาลบางรัก เพื่อขอทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีตามที่รองนายทะเบียนสหกรณ์ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ร้องทุกข์กล่าวโทษแทนสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด เพื่อขอให้พนักงานสอบ สวนทำการไต่สวนคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ชุดที่ 7, 8, 9, 10, 11 จำนวน 25 คน และผู้จัดการสหกรณ์ จำนวน 1 คน รวมเป็น 26 คน ในกรณีอนุมัติเงินกู้ให้ตนเองและพวกซึ่งขัดต่อระเบียบของสหกรณ์มาตั้งแต่ปี 2556-2559 รวม 199 สัญญา เป็นเงินทั้งสิ้น 2,285 ล้านบาท โดยหากพบการกระทำผิดขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด

++ขอปปง.สืบเส้นทางเงินทุจริต
นอกจากนั้นเรื่องนี้ยังสั่งให้ตรวจเข้มผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องที่ตรวจไม่ละเอียด ยืน ยันว่าได้สั่งแก้ไขปัญหามาเป็นลำดับ อีกทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้มีบันทึกความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อสืบเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องใน เรื่องนี้ ล่าสุด เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยังได้เข้ามาประสานเรื่องนี้แล้วเบื้องต้นให้จัดทำแผนฟื้นฟูแล้วมานำเสนอในวันที่ 23 มีนาคมนี้ ซึ่งคณะกรรมการชุดปัจจุบันจะเป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็มีการร้องให้ปลดออกเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่

เรื่องนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ตรวจพบจากการรายงานของเจ้าหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2558 และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและนายทะเบียนสหกรณ์ได้สั่งดำเนินการทางคดีไปบางส่วนแล้วตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข เช่นเดียวกับที่สมาชิกมีการเสนอให้ตรวจสอบการปลอมแปลงเอกสารการประชุมที่ใช้ยื่นกู้เงินและยื่นอุทธรณ์กับกรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมเสนอให้ปลดคณะกรรมการชุดที่ 12 นั้น ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสหกรณ์แห่งชาติซึ่งเบื้องต้นกลุ่มผู้ร้องเรียนมีพยานบุคคลยืนยันชัดเจนในเรื่องนี้แล้ว

“ดังนั้นในแต่ละขั้นตอนหากจะออกคำสั่งใดๆ จะต้องมีพยานหลักฐานครบถ้วนเพียงพอ ซึ่งภายใน 15 วันนี้ จะเห็นภาพชัดเจนว่าเพียงพอที่จะออกคำสั่งปลดคณะกรรมการชุดที่ 12 หรือไม่ ต่อจากนั้นจะแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราวเข้าไปดำเนินการเพื่อบริหารสหกรณ์ให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้”

++สั่งตรวจสอบสหกรณ์ทั่วไทย
ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังสั่งไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศให้มีการตรวจสอบเชิงลึกด้านการเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เงินฝากของสหกรณ์ต่างๆ ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนดไว้หรือไม่ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซํ้าซ้อนที่จะเกิดขึ้นอีก

“กรณีเกิดเหตุทุจริตของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟจำกัด กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการมาเป็นลำดับแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบการเชื่อมโยงการฟอกเงินของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องและสั่งให้ดำเนินการทั่วประเทศ ให้สหกรณ์จังหวัดตรวจสอบสหกรณ์ทุกแห่งถึงความไม่ชอบมาพากลในการนำเงินไปฝากว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ ปัจจุบันกรมกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ 4.5% และการนำเงินไปฝากก็ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้น”

ดังนั้นจากการเกิดปัญหาของหลายสหกรณ์ในช่วงที่ผ่านมา กรมจึงไปคุมเข้มในหลายเรื่องพร้อมกับให้ออกเกณฑ์กำกับแบบเข้มข้นไปแล้ว เช่นเดียวกับการประเมินราคาที่ดินในราคาที่สูงมากแล้วนำมาเป็นหลักทรัพย์การจดจำนอง ก็ได้ส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

++เยียวยาสมาชิกสหกรณ์รถไฟ
สำหรับความเดือดร้อนของ สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟนั้น เบื้องต้นได้สั่งให้สหกรณ์สำนักงานเขตพื้นที่ 1 เข้าไปเยียว ยาสมาชิกพร้อมเร่งให้จัดทำแผนฟื้นฟูเพื่อนำเสนอให้สมาชิกเครือข่ายเห็นภาพชัดเจนต่อไป

ด้านนายกิ่งแก้ว โยมเมือง หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย กลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน กล่าวว่า ได้เสนอกรมส่งเสริมสหกรณ์ 3 เรื่องหลักคือ 1. กรณีที่นายบุญส่ง หงษ์ทอง กับพวกได้ปลอมแปลงเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการชุดที่ 7 ครั้งที่ 3 ในวาระเกี่ยวกับมติที่ประชุมให้มีการอนุมัติเงินกู้เพื่อจัดสรรที่ดินโครงการทั้งๆ ที่ในวันดังกล่าวไม่มีมติการประชุมในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใด อีกทั้งยังได้นำมายื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ด้วย 2. นายบุญส่ง กับพวกได้ทำการปลอมรายงานการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้จนสหกรณ์ได้รับความเสียหาย และ 3. สืบเนื่องจากการดำเนินงานของคณะกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 12 ซึ่งพบว่าเป็นผู้เคยทำหน้าที่ในคณะกรรมการชุดที่ 7, 8, 9, 10, 11 มาแล้ว ซึ่งกรมได้สั่งดำเนินคดีไปแล้วจึงขอให้มีคำสั่งปลดคณะกรรมการชุดดังกล่าวและแต่งตั้งคณะใหม่

++คนขับรถ-เลขามีบ้านหรู
“เรื่องนี้ยังแจ้งความไว้ที่กองปราบปรามแล้ว ประการสำคัญยังพบอีกว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์รํ่ารวยผิดปกติ อาทิ คนขับรถของประธานสหกรณ์มีบ้านหรูอยู่อาศัย ส่วนเลขานุการสหกรณ์มีบ้านพักตากอากาศอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ขับรถเบนซ์ SLK ที่สมควรตรวจสอบในข้อเท็จจริงเรื่องนี้กันต่อไป”

ขณะนี้กลุ่มได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่าสหกรณ์ยังมีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนในเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์กับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ให้กับสหกรณ์ทั้ง 14 แห่งที่เป็นพันธมิตรกว่า 8.8 ล้านบาท จ่ายเงินต้นให้กับทั้ง 14 สหกรณ์ และอีก 2 สถาบันการเงินอีกเดือนละ 33 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อีกเดือนละ 6 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายค่าบริหารประจำเดือน ค่าจ้างพนักงานประมาณ 1.1 ล้านบาท และจ่ายค่าตอบแทนค่าเบี้ยประชุมของคณะกรรมการประมาณเดือนละ3 แสนบาทรวมแล้วมี ค่าใช้จ่ายเดือนละ 51 ล้านบาท

ที่สำคัญยังพบว่าการกู้ยืมเงินทั้ง 199 สัญญานั้น ไม่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน โดยอาศัยรายงานการประชุมที่ทำปลอมแปลงขึ้นมาประกอบการอนุมัติเงินกู้ให้กับกรรมการทั้ง 6 คนพร้อมกับตั้งคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ดังกล่าวนี้ด้วย

“หากไล่เส้นทางการเงินกว่า 2,200 ล้านบาท จะพบว่ามีการนำไปจัดสรรที่ดินที่จังหวัดเพชรบุรีและเขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ที่ภูเก็ต และสมุทรสาคร ซึ่งบางแปลงนำมาจดจำนองที่ดินที่ซื้อมาราคา 7 หมื่นบาทต่อตารางวา แต่นำมาจดจำนองในราคาไร่ละกว่า 7 ล้านบาท อีกทั้งยังพบว่ามีการประเมินราคาร้านกาแฟไว้สูงถึง 1.9 ล้านบาท สร้างบังกะโลชั้นเดียวจำนวน 8 ห้องราคาประเมิน 2.5 ล้านบาท ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเร่งสั่งอายัดทรัพย์เพื่อป้องกันการยักยอกถ่ายเทโดยเร็ว”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,350 วันที่ 22 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2561

 

ขอบคุณที่มา    ฐานเศรษฐกิจ