เชียงรายฮับการบิน5เชียง เชื่อมการลงทุน4ประเทศ

เชียงรายฮับการบิน5เชียง เชื่อมการลงทุน4ประเทศ

ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ประจำจังหวัดเชียงราย รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดเชียงราย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดเชียงราย ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “ความเชื่อมโยงของเส้นทางบก ทางเรือ ทางอากาศ กับโอกาสภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและการค้าการลงทุน” เพื่อผลักดันการท่องเที่ยว 5 เชียง 4 ประเทศ คือไทย เมียนมา สปป.ลาวและจีนตอนใต้

++จุดหมายท่องเที่ยวเอเชีย
นายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคำว่า 5 เชียง ภาคเอกชนของเชียงรายมีพูดคำนี้กันมานานกว่า 20 ปี นับวัน 5 เชียงก็ยิ่งจะมีความสำคัญ เพราะ 5 เชียงคือการเชื่อมอาเซียน-จีน และ 5 เชียงเป็นเมืองหลักสำคัญของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (ไทย-จีน-ลาว-เมียนมา) ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันเขียนแผน การท่องเที่ยวเพื่อออกไปสู่ตลาดทั่วโลกให้ได้ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น 5 เชียงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง จะเป็นโลเกชันการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพดีที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียอย่างแน่นอน

เชียงรายฮับการบิน5เชียง เชื่อมการลงทุน4ประเทศ

                         ด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย

 

++เชียงรายฮับการบิน5เชียง
นายวิสูตร คำยอด ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย เผยว่า ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ได้รับอนุมัติจาก สนง.การบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้เปิดบริการ 24 ชั่วโมงเพื่อเป็นท่าอากาศยานข้างเคียงรองรับ หากท่าอากาศยานเชียงใหม่เกิดปัญหาแออัด ปัจจุบัน ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย มีสายการบินภายในประเทศ 6 สายการบิน และสายการบินระหว่างประเทศ 5 สายการบิน อัตราการเติบโตช่วงเดือนกรกฎาคม 2560-มีนาคม 2561 มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึงกว่า 200% มีการบินเชื่อมทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ฮ่องกงและอีกหลายเมืองในประเทศจีน และตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไปจะมีการบินเชื่อม รุ่ยลี่-สิบสองปันนา-เชียงราย ทุกวันจันทร์, พุธและศุกร์

“เพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้อนุมัติงบจำนวนประมาณ 6,000 ล้านบาท มาทำโครงการการพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย เช่น การเพิ่มรันเวย์ให้มีช่องวิ่งเครื่องบินข้างรันเวย์หรือแท็กซี่เวย์ และอื่นๆ เดิมทีโครง การนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ แล้วเสร็จภายใน 5 ปี แต่เนื่องจากการขยายตัวสูง จึงได้เสนอปรับแผนเร่งให้เร็วขึ้นเหลือเพียง 2 ระยะ”

นายวิสูตร กล่าวอีกว่า ทอท.คาดการณ์ว่าอีกประมาณ 2 ปี ท่าอากาศยานเชียงใหม่จะมีศักยภาพไม่เพียงพอรองรับสายการบินต่างๆ โอกาสจึงเป็นของเชียงรายซึ่งมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ หลังโครงการการพัฒนาแล้วเสร็จ ตนเชื่อมั่นว่าท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย จะมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นฮับ (ศูนย์กลาง) การบินของ 5 เชียงได้เป็นอย่างดี

เชียงรายฮับการบิน5เชียง เชื่อมการลงทุน4ประเทศ

                              ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย

 

++รับนักท่องเที่ยว30ล้าน/ปี
ด้านนางสาวผกายมาศ เวียร์ร่า ประธาน บริษัท แม่โขงเดลต้าเอเยนซี่ จำกัด ผู้ประกอบการเดินเรือท่องเที่ยวแม่นํ้าโขง กล่าวว่า การเชื่อมโยงการคมนาคมของพื้นที่ 5 เชียงมีแนวโน้มดีมาก เชียงตุง รัฐฉาน ของเมียนมา มีด่านถาวรติดกับไทยคือ จ.ท่าขี้เหล็ก เชื่อมกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ห่างจากเชียงตุงเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังพิจารณาเปิดใช้ระบบวีซ่า ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ Visa On Arrival ส่วนการเดินทางด้วยรถยนต์ ก็มีข้อตกลงการใช้รถระหว่างเชียงราย-เชียงตุง อีกทั้งยังมี 8 สายการบินของ เมียนมาที่เปิดเส้นทางบินมายังท่าขี้เหล็ก

“ที่รัฐฉานยังมีเมืองมูเซ จ.ลาเชียว ที่เชื่อมกับเมืองรุ่ยลี่-เต๋อหง เขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่ มณฑลยูนนาน ซึ่งมีมูลค่าการค้าร่วมกันมหาศาล สามารถเชื่อมจีน-ตองจี-เชียงตุงได้ ด้านเชียงรุ้งหรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนามีการพัฒนาและมีนักท่องเที่ยวจีนทะลักลงมามากอยู่แล้ว

ที่ผ่านมาการคมนาคมในพื้นที่ 5 เชียงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าหากสามารถพัฒนาคมนาคมขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง และมีการใช้ Visa On Arrival อย่างสมบูรณ์ทั้ง 5 เชียง 4 ชาติ ยอดนักท่องเที่ยวที่เคยวาดฝันกันเอาไว้ ว่าจะมีจำนวนไม่ตํ่ากว่าปีละ 30 ล้านคน มีโอกาสเป็นจริงได้อย่างแน่นอน” นางสาวผกายมาศ ระบุ

ปัจจุบันจีนสร้างสะพานแม่นํ้าโขงแห่งใหม่และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจากกาลันป้า เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ไปทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะรัฐฉาน-หลวงพระบาง สปป.ลาว ด้วย ส่วนหลวงพระบางนั้นเป็นตลาดท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับเชียงใหม่-เชียงราย มีการเดินทางทางเรือผ่านแม่นํ้าโขงจาก อ.เชียงของ หรือทางบกผ่าน สปป.ลาว เป็นประจำ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

 

ขอบคุณที่มา   ฐานเศรษฐกิจ