หมดยุคดอกเบี้ยถูก เล็งขยับสินเชื่อบ้าน

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

แบงก์กรุงศรีอยุธยา ส่งสัญญาณหมดยุคแข่งแคมเปญดอกเบี้ยบ้านถูก ชี้กลางปีเห็นสถาบันการเงินขยับดอกเบี้ยเฉลี่ย 0.10-0.25% ต่อปี ลดคงที่เหลือ 2 ปี ลั่นไม่กระทบผู้กู้ แนะควรรีบตัดสินใจซื้อล็อกต้นทุนก่อนกลางปี เชื่อแคมเปญ ดอกเบี้ยคงที่ 10 ปี ของธอส.จะกระทบต่อตลาด เหตุวงเงินน้อย

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในระดับตํ่ากำลังจะผ่านไปในไตรมาสแรกปีนี้ เพราะช่วงครึ่งหลังของปีจะกลายเป็นดอกเบี้ยขาขึ้นตามภาพรวมทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยจะเห็นการขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยต่อปีสูงขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.10-0.25% และโอกาสที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ระยะยาวจะลดลง จากเดิมเฉลี่ย 3 ปี จะเริ่มเห็นทยอยลดเหลือ 2 ปี และ 1 ปี ซึ่งธนาคารจะพยายามคงอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี ไว้ให้ได้ประมาณ 1 ไตรมาส เพื่อลดผลกระทบจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

หมดยุคดอกเบี้ยถูก เล็งขยับสินเชื่อบ้าน

ณัฐพล ลือพร้อมชัย

 

ดังนั้นจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น การแข่งขันด้วยอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงเริ่มทยอยลดลง เพราะธนาคารทุกแห่งมีแรงกดดันจาก ต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ย ทำให้การเสนอแคมเปญพิเศษอัตราดอกเบี้ยที่ตํ่าเกินไปอาจจะกระทบต่อรายได้ เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะแคบลง ซึ่งในช่วง 3-4 เดือนจากนี้ ผู้บริโภคควรจะรีบตัดสินใจซื้อ และโอนทันที เพื่อล็อกต้นทุนและอัตราดอกเบี้ยคงที่ให้นานที่สุด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยคงที่ ที่ธนาคารเสนอกับลูกค้าจะแตกต่างกันตามเซ็กเมนต์ และตามแคมเปญผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3%

ส่วนกรณีที่ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) ได้ออกสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ 3.99% นาน 10 ปีนั้นนายณัฐพลกล่าวว่า เป็นไอเดียที่ดีมากสมกับบทบาทและภารกิจที่ธอส.ได้รับนโยบายจากภาครัฐ แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำตรงนี้ได้ และเชื่อว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อตลาดสินเชื่อบ้าน เพราะวงเงินที่ปล่อยเพียง 3,000 ล้านบาท และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีไซน์มาเจาะเฉพาะกลุ่ม และธอส.คงไม่ได้ตั้งใจจะปล่อยวงเงินจำนวนมากนัก

“ยุคดอกเบี้ยถูกกำลังผ่านไป ดอกเบี้ยคงที่นานๆ คงไม่มี เพราะกระทบต่อรายได้ ดังนั้นจะเห็นธนาคารพาณิชย์ทำแคมเปญในลักษณะเดียวกับธอส.คงทำไม่ได้ และการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่า จะไม่มีผลกระทบ เพราะลูกค้ายังคงผ่อนชำระในอัตราเดิม แต่ยอดตัดวงเงินต้นอาจจะหายไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

 

ขอบคุณที่มา     ฐานเศรษฐกิจ