ทรัมป์ ต่ออายุ GSP ให้ ไทย กว่า 3,400 รายการ "ไทยได้แต้มต่อการค้า"

ทรัมป์ ต่ออายุ GSP ให้ ไทย กว่า 3,400 รายการ "ไทยได้แต้มต่อการค้า"

ประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ลงนามเห็นชอบร่างกฎหมายต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 แล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2561 และย้อนหลัง (Retroactive) ตั้งแต่วันที่โครงการฯ ปัจจุบันหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 พร้อมเพิ่มเติมเกณฑ์การพิจารณาและเลื่อนระยะเวลาการระงับสิทธิฯ รายการสินค้าที่เข้าข่ายเกินเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ (Competitive Need Limitations: CNL)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) และประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามเห็นชอบร่างกฎหมายแล้วในวันที่ 23 มี.ค. 2561 โดยสาระสำคัญของการต่อโครงการฯ ในครั้งนี้ จะมีการเพิ่มเติมเกณฑ์การพิจารณารายการสินค้าที่จะขอผ่อนผันให้สหรัฐฯ คงสิทธิฯ กรณีเข้าข่ายมีการนำเข้าสหรัฐฯ เกินเพดานที่กำหนด (CNL Waiver) โดยกำหนดว่า หากสินค้ามีการนำเข้าสหรัฐฯ เกินเพดาน CNL แต่ไม่มีการผลิตในสหรัฐฯ ติดต่อกันเป็นระยะ 3 ปี นับจากปีที่พิจารณาทบทวนสินค้าดังกล่าวจะได้รับการผ่อนผันให้สามารถใช้สิทธิฯ ได้ต่อไป นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้เลื่อนกำหนดเวลาตัดสิทธิฯ สินค้าที่ถูกระงับสิทธิกรณีนำเข้าสหรัฐฯ เกินเพดาน CNL ในการพิจารณาทบทวนโครงการฯ ประจำปี (Annual Review) จากเดิมวันที่ 1 ก.ค. เป็นวันที่ 1 พ.ย. ของปีถัดไป ซึ่งการยืดเวลาตัด/ระงับสิทธิฯ ดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการวางแผนการส่งออก-นำเข้าได้มากขึ้น ทั้งนี้ สหรัฐฯ กำหนดเพดานการนำเข้า (CNL) ไว้เบื้องต้น ดังนี้ มูลค่าการนำเข้าในปี 2561 กำหนดที่ 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ  มีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าในสหรัฐฯ ตั้งแต่ 50%

 

ทรัมป์ ต่ออายุ GSP ให้ ไทย กว่า 3,400 รายการ "ไทยได้แต้มต่อการค้า"

 

ปัจจุบัน สหรัฐฯ ให้สิทธิพิเศษฯ GSP สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ประมาณกว่า 3,400 รายการ โดยสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ (เหลือ 0%) ซึ่งจากสถิติการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐฯ พบว่า มีการขอใช้สิทธิฯ ในบัญชีรายการที่ได้รับสิทธิฯ เพียง 1,385 รายการ โดยในปี 2560 สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีการขอใช้สิทธิพิเศษฯ คิดเป็นสัดส่วน 70% ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ กลุ่มสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษฯ สูง ได้แก่ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้า ยานยนต์/อุปกรณ์ ยางและผลิตภัณฑ์ พลาสติก อาหารปรุงแต่ง และเครื่องดื่ม เป็นต้น โดยกลุ่มสินค้าเหล่านี้มีอัตราภาษีนำเข้าปกติระหว่าง 1% ถึง 10%

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสถิติภาพรวมของสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในรายการสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูง 20 รายการแรกของปี 2560 พบมีสินค้า 14 รายการ ภาษีนำเข้าปกติเป็นศูนย์ จึงไม่จูงใจให้ใช้สิทธิ GSP เช่น หน่วยเก็บเครื่องประมวลข้อมูลอัตโนมัติ เครื่องส่งสัญญาณเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องพิมพ์ กล้องถ่ายโทรทัศน์ เป็นต้น ในขณะที่รายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงบางรายการเป็นสินค้าที่ไทยถูกระงับสิทธิ GSP แต่ยังสามารถแข่งขันได้ในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ ยางรถยนต์นั่ง ยางรถบรรทุก เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง มอนิเตอร์และเครื่องฉาย เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจากโครงการ GSP ได้รับการต่ออายุแล้ว ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ที่ขอสงวนการใช้สิทธิพิเศษดังกล่าวและจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN) ตั้งแต่วันที่โครงการ GSP เดิมหมดอายุ คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 สามารถยื่นขอคืนภาษีอากรขาเข้าย้อนหลังได้ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป จึงขอให้ผู้ส่งออกไทยประสานแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้ลูกค้าปลายทางที่สหรัฐฯ ทราบ และขอให้สิทธิฯ ต่อไปด้วย เพื่อให้สินค้าไทยที่ได้รับสิทธิ GSP มีต้นทุนลดลงและมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
 

 

ขอบคุณที่มา ฐานเศรษฐกิจ