ต่างชาติมอง ไทย หลุมหลบภัยลงทุน!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

นักวิชาการแจงยังเห็นเงินทุนไหลเข้าไทยต่อเนื่อง แม้เกิดการแลกหมัดการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เหตุมองเป็น “Safe Haven” โยกมาหลบภัย ชี้! เงินบาทแข็งค่าระยะสั้นกรอบ 30-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ... ตลาดทองแนะระวังราคายังไม่นิ่ง ลงทุนสั้น เพื่อดูเหตุการณ์อาจจะพลิกผัน
 

หลังจากเกิดความตึงเครียดหลายวันระหว่างจีนและสหรัฐฯ จากการตอบโต้ทางการค้า หลังจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราภาษีจากสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่าประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดการเงินทั่วโลก และจีนตอบโต้ด้วยการเผยรายชื่อสินค้าสหรัฐฯ 128 รายการ ที่จะถูกเก็บภาษี หากการเจรจาล้มเหลว แต่ล่าสุด ช่วงคืนวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า จีนและสหรัฐฯ เริ่มการเจรจาต่อรองหลังฉาก เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงของสหรัฐฯ ต่อตลาดภายในประเทศของจีน

 

ต่างชาติมอง ไทย หลุมหลบภัยลงทุน!

                         นริศ สถาผลเดชา

 

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytic) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลกระทบต่อไทยน่าจะเกิดทางอ้อม จากการที่ไทยส่งออกไปจีนและจีนส่งไปสหรัฐฯ เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้พึ่งพาสหรัฐฯ สัดส่วนส่งออกเพียง 10% ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทำให้ตลาดไทยถูกมองเป็นหลุมหลบภัย หรือ สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ตลาดถูกโยกจากจีน-สหรัฐฯ มาไทย จะเห็นกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี โดยแนวโน้มเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าขึ้น

ส่วนกรณีที่จีนตอบโต้กลับด้วยการลดซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งหากดีมานด์ลดลง จะส่งผลให้ราคาบอนด์ตกและอัตราผลตอบแทน (Yield) สูงขึ้น ทำให้สหรัฐฯ กู้เงินแพงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อไทยที่อาจเห็นบอนด์ยีลด์ไทยปรับขึ้น เพราะขณะนี้ ยังมีส่วนต่างประมาณ 0.30-0.40% โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อยู่ที่ 2.82% ของไทย อยู่ที่ 2.5% ดังนั้น ระยะสั้นจะยังเห็นเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง โดยมองกรอบค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ต่างชาติมอง ไทย หลุมหลบภัยลงทุน!

                         โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

ดังนั้น การที่สหรัฐฯ เปิดศึกการค้า จะเป็นการยิงปืนใส่เท้าตัวเอง เพราะสหรัฐฯ นำเข้ามาบริโภคค่อนข้างเยอะ ซึ่งท้ายที่สุด สหรัฐฯ อาจจะต้องนำเข้าของที่แพงขึ้น จึงต้องรอดูรายละเอียดและท่าทีของจีนด้วย

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดชัดเจนออกมาว่าจะเป็นอย่างไร แต่หากดูข้อมูลจะพบว่า สหรัฐฯ พึ่งพาจีนเยอะขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หากจะออกมาตรการตอบโต้ อาจจะเป็นผลลบให้กับสหรัฐฯ มากกว่า ส่วนผลที่เกิดต่อไทยนั้น กรณีที่เลวร้ายสุด คือ เกิด “Trade War” หากมองระยะยาว ประเทศที่เน้นการส่งออกจะโดนกระทบ แต่ไทยยังมีเรื่องการท่องเที่ยวมากกว่าการส่งออก และยังเป็นประเทศ “Safe Haven” เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
 

โดยช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญหรือเกิดปัญหาในโลก จะเห็นการลดการถือสินทรัพย์เสี่ยง หันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งนอกจากทองคำ เงินเยน (ญี่ปุ่น) จะเห็นเงินบาท (ไทย) เป็นอีกสินทรัพย์ที่ถูกมองว่าเป็น “Safe Haven” ประกอบกับ เรามีเงินดุลบัญชีเดินสะพัดและการท่องเที่ยวมาช่วยสนับสนุนเงินบาทอยู่ ทำให้ยังเห็นเงินบาทแข็งค่าตลอดทั้งปี โดยธนาคารให้กรอบกลางปีอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และปลายปีอยู่ที่ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ต่างชาติมอง ไทย หลุมหลบภัยลงทุน!

                         นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี

 

ขณะที่ นายจิตติ ตั้งสิทธิภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ราคาทองคำขยับขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ระดับ 1,340 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ จากก่อนหน้าที่ราคาเกือบจะหลุดมาระดับ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ โดยซื้อขายกันที่ 1,310 ต้น ๆ ซึ่งหากเป็นช่วงปกติที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ราคาทองคำจะลดลง แต่ภายหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ราคาทองกลับสวนทาง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความกังวลจากสงครามการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนในหุ้นเองก็ลดลง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่จบลงง่าย ๆ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง ก็ยังไม่ได้ขึ้นนัก ขณะเดียวกัน ก็จะมีผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจทั้งจีนและไทยด้วย ซึ่งแนวโน้มราคาทองคำก็ยังจะเพิ่มขึ้น แต่จะไม่รุนแรงนัก ส่วนนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในทองคำยังต้องใช้ความระมัดระวัง ลงทุนสั้น ๆ ได้ และยังต้องติดตามท่าทีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นระยะ ๆ เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะนายทรัมป์ไม่ใช่นักการเมือง เป็นนักธุรกิจ หากมีผลกระทบมาก ก็พร้อมที่จะกลับลำทันที

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,352 วันที่ 29-31 มี.ค. 2561 หน้า 15

 

ขอบคุณที่มา   ฐานเศรษฐกิจ