ย้อนรอยวีรกรรมหุ้นจองIPO ...รู้ลึกให้รู้ทัน "บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง" และ "มนตรี ศรไพศาล" กับวิธีวิเคราะห์ลงทุนหุ้นIPO

ย้อนรอยวีรกรรมหุ้นจองIPO ...รู้ลึกให้รู้ทัน "บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง" และ "มนตรี ศรไพศาล" กับวิธีวิเคราะห์ลงทุนหุ้นIPO

อดใจไม่ได้ต้องค้นหามาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง  กับเรื่องร้อนๆในวงการตลาดหุ้นจากผลพวงที่เกิดขึ้น  หลังวีรกรรม “พาคนไปเจ๊ง” หุ้นจองที่ชื่อ “บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์” หรือ “NER” ของ “บล.โนมูระ พัฒนสินฯ”ที่นำทีมโดย “สุเทพ พีตกานนท์” ประธานบริษัท และ “นิมิต วงศ์จริยกุล” หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจผู้รับผิดชอบโดยตรง  กระทั่งเกิดคำถามขึ้นมากมายว่า  เกิดอะไรขึ้นกับหุ้น IPO ปี 2561 นี้  

 

ย้อนรอยวีรกรรมหุ้นจองIPO ...รู้ลึกให้รู้ทัน "บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง" และ "มนตรี ศรไพศาล" กับวิธีวิเคราะห์ลงทุนหุ้นIPO

 

(คลิกอ่านขาวประกอบ : เปิดขาใหญ่ IPO NER และ "พาเจ๊งทั่วบาง พาตายทั้งเบือ" ของ "บล.โนมูระ พัฒนสิน" )

 

ที่ผ่านมากว่า 30 ปีในวงการตลาดหุ้น ส่วนมาก “หุ้นจอง” หรือ “หุ้น IPO” ถือเป็น “สินค้ายอดนิยม” ที่นักลงทุนแห่กันแย่งมาตลอดเพราะหุ้น IPO มัก “สร้างโอกาสในการทำกำไรสูง” ให้แก่นักลงทุน เช่นจอง 2 บาท ราคาเปิด 4 บาท เป็นต้น   จากประสบการณ์ส่วนตัว 3 ปัจจัยที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งความสำเร็จของ “หุ้น IPO”  คือ

 

1.กระแสหุ้นจอง IPO ณ ช่วงเวลานั้นๆ

2.พื้นฐานและราคาของบริษัทที่เข้าจดทะเบียน

3.กลยุทธ์และศาสตร์การกระจายหุ้น และการทำ “Bookbuild” ของ “บริษัทหลักทรัพย์ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์” หรือที่วงการการเงินเรียกกันว่า “Underwriter”

 

ออกจะวิชาการหน่อยนะเจ้าคะวันนี้  ดิฉันมีมากกว่าแค่ฝีปากและความลับที่ต้องเปิดนะเจ้าคะ...คริ คริ .  มาดูหุ้นจองตัวต่อไป “บมจ.เจ้าพระยามหานคร” หรือ “CMC” ที่ได้เปิดจองแล้วระหว่างวันที่ 8-13 พ.ย.ที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าซื้อขายวันแรกวันที่ 19 พ.ย.นี้  หากนำ 3 องค์ประกอบข้างต้นมาวิเคราะห์หาโอกาสในการลงทุนก็จะพบว่า

1.  กระแสหุ้นจอง IPO ปีนี้ไม่รุ่ง โดยจากข้อมูลพบว่า ปีนี้หุ้นเข้าจดทะเบียนทั้งสิ้น 15 บริษัทแบ่งเป็น SET 8 บริษัท และ MAI 7 บริษัท โดย

-  7 บริษัท ราคาต่ำกว่าราคาจอง

- 2 บริษัท มีบางวันซื้อขายต่ำกว่าราคาจอง

- 2 บริษัท ราคายืนจมูกปริ่มน้ำเหนือราคาจองไม่ถึง 5%

- มีเพียง 4 บริษัทที่ราคาสูงกว่าราคาจองอย่างตลอดรอดฝั่ง

 

2.  ด้านพื้นฐานของ “CMC” ในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่มีอะไรโดดเด่น ไม่มี Story อนาคต ชวนลงทุน มีแต่โครงการที่รอรับรู้รายได้ (ย้ำ...หากขายได้)

 

โดยเงินเพิ่มทุนที่ได้ก็นำไปใช้หนี้บางส่วน แทนที่จะไปพัฒนาหรือลงทุนให้ออกดอกออกผล

 

ใครๆ ก็รู้นะเจ้าคะว่า ธุรกิจอสังหาฯนั้นต้องเน้นที่ Concept และ Capital (เงินทุน) ดังนั้นบริษัทไซซ์เล็กอย่าง CMC จะมีโอกาสแค่ไหนต้องรอดู

3.ประเด็นสุดท้ายคือกลยุทธ์การกระจายหุ้นของ “บริษัทหลักทรัพย์ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์”  และที่ปรึกษาการเงินของ “CMC” ซึ่งคือ “บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ (MBKET)”!!

 

ย้อนรอยวีรกรรมหุ้นจองIPO ...รู้ลึกให้รู้ทัน "บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง" และ "มนตรี ศรไพศาล" กับวิธีวิเคราะห์ลงทุนหุ้นIPO

มนตรี ศรไพศาล

 

เชื่อได้ว่านักลงทุนรุ่นเก๋าหลายรายพอเห็นชื่อ “บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง” แล้วอยากอุทานดังๆ ด้วยความขยาดและความกลัวว่า “แม่เจ้า...ไม่นะ...!” เพราะประวัติและวีรกรรมอันฉาวโฉ่ในการทำนักลงทุนเจ๊งหุ้นจอง IPO ของบริษัทหลักทรัพย์นี้ที่นำโดยผู้ชายที่ชื่อ “มนตรี ศรไพศาล” CEO ใหญ่ และ “ประเสริฐ ตันตยาวิทย์” กรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ

 

จำได้มั้ยเจ้าคะว่ามีหุ้นอะไรบ้างที่ “บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ” และ “มนตรี  ศรไพศาล” นำมาขายให้นักลงทุน  IHL, BSBM, KTIS, BMCL, Thai Nox, CCP, CMO, DCON, UOBKH และอีกมากมาย แต่ละตัวแสบๆ ทั้งนั้น และที่สำคัญมักมีเลือดให้นักลงทุนเสียหายเสมอ

 

จากข้อมูลนี้ยังไม่จบ มีสัญญาต่อท้ายคอลัมน์  ว่าจะขอไล่เลียงและสังเคราะห์วีรกรรมย้อนอดีต “บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ” และ “มนตรี ศรไพศาล” ให้อีกนะเจ้าคะ กันนักลงทุนลืม และจะได้รู้ว่า “เทพกับมารต่างกันตรงไหน?!?”

 

ขอจบบทความนี้กับความรู้สึก “ครั่นคร้าม… คร้ามกลัว…เข็ดหลาบ...” กับหุ้นจองที่ “บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ” และ “มนตรี ศรไพศาล” ประเคนให้...ด้วยความรัก

 

ส่วนสื่อไหนอยากเชียร์คนไปตาย ไปเสี่ยง ไปเจ๊งก็ตามสบาย นะเจ้าคะ ดิฉันไม่ขอลอก Press ประชาสัมพันธ์ ดิฉันมีหน้าที่ให้ข้อมูลนักลงทุนอย่างครบถ้วนเพื่อตัดสินใจอย่างมีสติก่อนเข้าซื้อขายหุ้นตัวนี้...

 

 

 

ที่มา  :  คอลัมน์มารยาตลาดหุ้น   หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ