ปิยะพร นักเขียนนวนิยาย เผยที่มากว่าจะมาเป็นละคร รากนครา ออกอากาศโทรทัศน์ พร้อมกับแรงบันดาลใจจากเรื่องตริงในประวัติศาสตร์

ละครรากนครา

            จากกระแสละครเรื่อง "รากนครา" ที่ออกอากาศทางช่อง ๓ มีการพูดถึงตัวละครในละครเรื่องนี้มากพอสมควร จึงกลายเป็นกระแสที่มีคนพูดถึงมากในสังคมโซเซียล ทั้งเรื่องของเนื้อเรื่อง การแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผม และบุคลิคของตัวละครแต่ละบทบาท ที่แฟนออกปากชมว่า งดงามอย่างไม่มีที่ติ สำหรับรากนครา เป็นเรื่องราวของ เจ้าศุขวงศ์ แห่งเมืองเชียงพระคำ เกิดตกหลุมรัก เจ้าแม้นเมือง หญิงสาวผู้ยึดมั่นรักแผ่นดินและแน่วแน่ในอุดมการณ์ของบรรพบุรุษ ที่ต้องการให้เชียงเงินได้เป็นเอกราชจากสยาม ซึ่งมีน้องสาวต่างแม่คือ เจ้ามิ่งหล้า หญิงสาวผู้เอาแต่ใจและอิจฉาริษยาที่พี่สาวมีชายหนุ่มมาตกหลุมรัก เจ้ามิ่งหล้าจึงวางอุบายดึงเจ้าศุขวงศ์มาใกล้ชิดตัวและวางแผนทำให้เจ้าแม้นเมืองเข้าใจผิด จนเกิดเป็นรักสามเส้า โศกนาฏกรรมทางความรักจึงอุบัติขึ้น โดยมีแผ่นดินเกิดเป็นเดิมพัน

นิยายรากนครา

ทั้งนี้จากเพจนักเขียนนิยายชื่อดัง "ปิยะพร ศักดิ์เกษม" ได้โพสต์ข้อความบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมีแรงบันดาลใจที่เป็น จุดเริ่มต้นของ "รากนครา" ความว่า

โพสต์นิยายรากนครา

 

                        "โดยก่อนจะลงเขียน ๒-๓ ปี คือช่วงเวลาที่เกิดกระแสพูดถึง "พระสุพรรณกัลยา" ขึ้นในสังคมไทยพระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และทั้งสองพระองค์ต้องเสด็จไปเป็นองค์ประกัน ณ หงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จหนีกลับพิษณุโลกหนึ่งปีให้หลัง แต่พระสุพรรณกัลยาต้องอยู่ต่อ เนื่องจากเพิ่งประสูติพระธิดาให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง และการเสด็จอยู่ของพระองค์กับพระธิดาทำให้ความสัมพันธ์ที่เรามีต่อหงสาวดีราบรื่นขึ้น

 

พระสุพรรณกัลยา

             การได้อ่านเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้น เป็นแรงบันดาลใจให้สร้างเรื่อง "รากนครา" เพราะดิฉันมีความคิดขึ้นมาระหว่างการอ่านว่า อันที่จริงทุกกลการศึกในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานนั้น ล้วนมีตัวละครสำคัญที่ค้ำจุนชาติบ้านเมืองไว้อีกกลุ่มหนึ่ง และกลุ่มนั้นก็คือผู้หญิงที่ถูกส่งไปเป็นเครื่องบรรณาการหรือตัวประกัน
ผู้ชาย ได้ออกรบทัพจับศึก เมื่อสำเร็จ ก็ได้ขนานนามเป็นมหาราช เป็นวีรบุรุษ ขณะที่กลุ่มสตรีเหล่านี้ไม่มีใครกล่าวถึง ไม่ได้รับการยกย่องใดๆ  ทั้งๆ ที่ต้องเสียสละทุกข์ตรมมากมาย ทั้ง ๆ ที่มีบทบาทเป็นประดุจดั่งรากแก้วที่ค้ำจุนต้นไม้ทั้งต้น และรากแก้วนี้เองที่ถูกกลบฝังอยู่ในดิน เมื่อไม่มีใครมองเห็น ก็ทำให้น้อยคนนักที่จะนึกถึง แม้ว่าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แม้ว่าจะกระทำการด้วยการยินยอมอุทิศทั้งชีวิตของตนเอง"
 

              เมื่อได้ประเด็น เมื่อเกิดความคิดกระทบใจ ดิฉันก็ค้นคว้าหาอ่านต่อไป...ได้พบว่านอกจากพระสุพรรณกัลยาแล้ว ยังมีอีกมากมายที่บันทึกไว้ หาอ่านได้ไม่ยาก เรื่องที่ได้อ่านส่วนมากมักเป็นเจ้าหญิงจากเมืองเหนือ...มีมาตั้งแต่สมัยก่อนจนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เรื่อยมาต้นรัตนโกสินทร์ทุกรัชกาลจนกระทั่งถึงพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทำให้สยามรวมเป็นราชอาณาจักรใหญ่ และดินแดนล้านนาหลุดรอดพ้นเงื้อมมือพวกฝรั่งกุลาขาว

              ดิฉันผูกเรื่องแล้วเลือกห้วงเวลาในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากสมัยนี้มีกลเกมการเมืองทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศของเราเอง มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของรูปแบบการปกครองซึ่งทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ ทั้งหมดนี้สามารถใช้เป็นฉากหลังของเรื่องที่เรากำลังจะสร้างขึ้นมาได้ และยังค้นหาข้อมูลได้ไม่ยากทั้งจากเอกสารและ/หรือรูปถ่าย เมื่อเลือกปักหมุดเวลากับสถานที่ (ล้านนา)ได้แล้ว ดิฉันก็ใช้เวลาประมาณสองปีเศษในการรวบรวมข้อมูลและรูปภาพจากหนังสือทุกเล่ม วิทยานิพนธ์ทุกฉบับที่ได้อ่าน เมื่อได้มากพอควร พอแก่การอุ่นใจว่าเราจะไม่โซเซพลัดหลงกลางทางระหว่างการเขียน จนทำให้เรื่องขาดความสมจริงแล้วจึงได้ลงมือเขียน บทที่ ๑ โดยใช้เรื่องของความเปลี่ยนแปลงเป็นเสาหลักของเรื่อง และใช้ความเสียสละ ยอมกลบฝังตัวเองไว้ใต้ดินของบรรดา “ราก”เป็นเนื้อหนัง เป็นโครงเรืองห่อหุ้มเสาหลักนั้นไว้ นี่แหละค่ะ คือจุดกำเหนิดของ รากนครา และคือจุดกำเหนิดในการเขียนงานทุกชิ้นของดิฉัน แค่วิธีการเดียวกันเนื้อหาต่างกันเท่านั้น   

 

คนเขียน     

             ที่สำคัญนี่คือคำตอบของคำถามที่ว่า อะไรคือแรงบันดาลใจในการเขียน? นักเขียนได้แรงบันดาลใจมาจากไหน? แสวงหาแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างไร?จากเรื่องที่เล่ามานี้ดิฉันมีคำตอบจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า แรงบันดาลใจมีอยู่ทุกที่ จากผู้คนรอบ ๆ ตัว จากเรื่องเล่า จากทุกเรื่องที่ได้อ่าน แม้กระทั่งข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวัน ดิฉันจึงได้ย้ำเสมอทุกครั้งที่มีโอกาสได้เล่าประสบการณ์ว่าควรสังเกตทุกสิ่งและทุกชีวิตรอบ ๆ ตัวให้มาก เมื่อมีสิ่งใดกระทบใจสิ่งนั้นแหละคือแรงบันดาลใจ มันมีอยู่ทุก ๆ อณูของอากาศรอบ ๆ ตัวเรา เราไม่ต้องไปตามหาเพราะมันไม่ใช่สัตว์ประหลาดในเกมโปเกมอนโกหรือสมบัติโจรสลัดสุดขอบฟ้า มันจะเกิดขึ้น..."รู้สึก" ขึ้น...ในใจของเราเอง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ คือจุดเริ่มต้นของเรื่อง...เป็นจุดเริ่มต้นการเขียนเรื่องแต่ละเรื่อง และเป็นเป้าหมาย...เป็นจุดหมายปลายทาง เป็นบทสรุปของเรื่องทั้งเรื่องด้วย

นักแสดง

           

         รากนครา เป็นนวนิยายที่แต่งโดย ปิยะพร ศักดิ์เกษม เริ่มลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารสกุลไทย พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ดินแดนล้านนา หัวเมืองเหนือของสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ และถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายครั้ง  นอกจากนี้ พ.ศ. ๒๕๔๓ รากนครา เข้ารอบ ๖ เล่มสุดท้าย จากรางวัลซีไรต์

        ทั้งนี้ ละครเรื่อง "รากนครา" ถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ออกอากาศทาง ช่อง ๗ ผลิตโดย บริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด บทโทรทัศน์ ศัลยา สุขะนิวัตติ์ กำกับการแสดงโดย จรูญ ธรรมศิลป์ นำแสดงโดย ดนุพร ปุณณกันต์ , พัชราภา ไชยเชื้อ, วรนุช วงษ์สวรรค์ ออกอากาศทุกวันศุกร์ - อาทิตย์ เวลา๒๐.๒๐ - ๒๒.๒๐ เริ่ม ๖ ตุลาคม - ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๓

นักแสดงรากนครา

                และในครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.๒๕๖๐ ออกอากาศทาง ช่อง ๓ ผลิตโดยบริษัท แอคอาร์ต เจเนเรชั่น บทโทรทัศน์โดย ยิ่งยศ ปัญญา กำกับการแสดงโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง นำแสดงโดย ณฐพร เตมีรักษ์, ปริญ สุภารัตน์, นิษฐา จิรยั่งยืน, ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต ใช้ภาษาเหนือ(คำเมือง หรือ ภาษาล้านนา) ในการดำเนินเรื่องทั้งหมด โดยยึดถือตามสำเนียงมาตรฐานเชียงใหม่ และชุดสำหรับสวมใส่ในการแสดงได้มีการอิงตามประวัติศาสตร์ของจริงที่เห็นและปรากฏตามดินแดนต่างๆในเรื่อง ออกอากาศทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา ๒๐.๒๐- ๒๒.๕๐ น. เริ่มตอนแรกวันอังคารที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐
 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ ปิยะพร ศักดิ์เกษม  

                              https://th.wikipedia.org/wiki/รากนครา

ขอบคุณภาพจากละคร : รากนครา


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เบื้องหลังแรงบันดาลใจ!! "เจ้านางจ่ายุ้นท์" เผยเรื่องราวเบื้องหลังรูปถ่ายแห่งประวัติศาสตร์ ชะตาชีวิตที่แตกต่างจาก "เจ้ามิ่งหล้า" แห่งรากนครา

 

ที่สุดของละครแห่งปี!!! เมื่อละครบ้านๆ ที่ไม่ใช่ "นาคี" ทุบสถิติ "เพลิงพระนาง" ด้วยเรตติ้งที่สูงปี๊ด ถึงกับอึ้งไปเลย !!