จีน รัสเซีย ลงทุนร่วม 7 แสนล้าน ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ ท้าทายมหาอำนาจการบินตะวันตก

ความร่วมมือ ระหว่าง จีนกับรัสเซีย ขยับก้าวสำคัญ ในโครงการร่วมกันลงทุนเป็นมูลค่าที่อาจจะสูงถึงระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวประมาณ 700,000 ล้านบาท

รอยเตอร์ รายงาน ความร่วมมือ ระหว่าง จีนกับรัสเซีย ขยับก้าวสำคัญ ในโครงการร่วมกันลงทุนเป็นมูลค่าที่อาจจะสูงถึงระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวประมาณ  700,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเครื่องบินไอพ่นลำตัวกว้างเดินทางระยะไกล ซึ่งแน่นอนว่า ท้าทายฐานะครอบงำอุตสาหกรรมการผลิตอากาศยานเชิงพาณิชย์ของ 2 กิจการชาติตะวันตกอย่าง โบอิ้ง และแอร์บัส 
       
       แผนการมหึมาที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักอึ้งนี้ บรรษัทอากาศยานเพื่อการพาณิชย์แห่งประเทศจีน (Commercial Aircraft Corporation of China หรือ COMAC) ซึ่ง เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน  และบรรษัทสหอากาศยาน (United Aircraft Corporation หรือUAC) ซึ่งรัฐบาลรัสเซียถือหุ้นข้างมาก อีกทั้งมีผลิตภัณฑ์ชื่อดังๆ อย่างเช่น ซูคอย ซูเปอร์เจ็ต 100 ได้ตกลงกันเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตอนที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย พบปะหารือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนในกรุงปักกิ่ง


 

บรรษัททั้งสองได้เปิดแสดงแบบจำลองของเครื่องบินซึ่งยังมิได้มีการตั้งชื่อนี้ในงานแอร์โชว์ ไชน่า ที่เมืองจูไห่ ทางภาคใต้ของจีน เมื่อวันพุธ โดยที่ประกาศด้วยว่าได้เริ่มมองหาซัปพลายเออร์ที่จะมาช่วยทำชิ้นส่วนต่างๆ ของอากาศยานรุ่นนี้แล้ว
       
       ทางด้าน บรรษัทอากาศยานเพื่อการพาณิชย์แห่งประเทศจีน ระบุในคำแถลงว่า กิจการร่วมทุนซึ่งกำหนดจัดตั้งขึ้นในนครเซี่ยงไฮ้ภายในปีนี้ จะพัฒนาเครื่องบินลำตัวกว้างขนาด 280 ที่นั่ง ซึ่งสามารถบินในระยะทางไกล 12,000 กิโลเมตร
       
       สเปคเช่นนี้เท่ากับว่า เครื่องบินชนิดนี้จะกลายเป็นคู่แข่งขันโดยตรงของ โบอิ้ง 787 และ แอร์บัส เอ350 

 

  โครงการนี้จะมีมูลค่าระหว่าง 13,000 ล้าน ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่แต่ละฝ่ายจะออกเงินทุนกันคนละครึ่ง เครื่องบินร่วมพัฒนานี้จะสามารถออกบินเที่ยวแรกได้ในระยะเวลา 7 ปี และเริ่มต้นส่งมอบแก่ผู้สั่งซื้อได้ในอีก 3 ปี หลังจากนั้น

 

 จีน รัสเซีย ลงทุนร่วม 7 แสนล้าน ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ ท้าทายมหาอำนาจการบินตะวันตก

 

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์
ขอบคุณข้อมูลจาก Reuter