"บุคลิกผู้สมัคร" ปัจจัยสำคัญชี้ขาดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

วันที่ 8 พฤศจิกายน ก็จะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และแม้ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศจะเป็นประเด็นสำคัญต่อการตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครคนใด แต่ผลสำรวจหลายชิ้นระบุว่า

วันที่ 8 พฤศจิกายน ก็จะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ  และแม้ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศจะเป็นประเด็นสำคัญต่อการตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครคนใด แต่ผลสำรวจหลายชิ้นระบุว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากตัดสินใจจากบุคลิกลักษณะของผู้สมัครทั้งสองคน คือนางฮิลลารี คลินตัน  และนายโดนัลด์ ทรัมป์  เป็นหลัก

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดูเหมือนผู้สมัครทั้งสองคน คืออดีต รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ยังคงเน้นโจมตีความผิดพลาดและบุคลิกลักษณะของอีกฝ่ายหนึ่ง

มหาเศรษฐีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่ากรณีการสืบสวนรอบใหม่ต่อการใช้เซิร์ฟเวอร์อีเมล์ส่วนตัวของนางฮิลลารี  คลินตัน ถือเป็นข่าวอื้อฉาวทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่คดีวอเตอร์เกต และตนหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมในเรื่องนี้

 

ด้านนางฮิลลารี คลินตัน แม้จะกำลังตกเป็นฝ่ายตั้งรับ แต่ก็ยังคงพยายามชี้ให้เห็นคำพูดและคุณลักษณะที่ไม่เหมาะสมของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการดูถูกสตรีและชนกลุ่มน้อย

อดีต รมต. ฮิลลารี คลินตัน กล่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามสร้างคะแนนเสียงโดยใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือ นอกจากเขาจะทำให้ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ แปดเปื้อนแล้ว เขายังดูถูกชนกลุ่มต่างๆ ในอเมริกาหลายต่อหลายครั้ง

นักวิเคราะห์หลายคน รวมทั้งอาจารย์ Matt Dallek จากมหาวิทยาลัย George Washington ชี้ว่าการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะต่างฝ่ายมุ่งเน้นโจมตีบุคลิกลักษณะของฝ่ายตรงข้าม มากกว่าการประกาศนโยบายของตนเอง นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่าการกล่าวโจมตีลักษณะนี้จะยังไม่หายไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง

ผลการสำรวจความเห็นคนอเมริกัน ชี้ให้เห็นว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของนางฮิลลารี คลินตัน  ขณะที่มีจำนวนมากกว่านั้นที่มองว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ขาดการควบคุมอารมณ์ที่ดีพอสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดี

 

แพทริก ฮิคกี้  นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเวสเวอร์จิเนีย ชี้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ค่อนข้างแปลก ที่ไม่มีผู้สมัครคนไหนได้รับความชื่นชมจากคนอเมริกันส่วนใหญ่ ซึ่งปกติแล้วเหตุการณ์แบบนี้มักจะเกิดกับผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งสองคนเหมือนในครั้งนี้

นักวิเคราะห์ แพทริก ฮิคกี้  ยังเชื่อด้วยว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครคนไหนสามารถโน้มน้าวให้ผู้สนับสนุนตนเองออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนได้มากกว่ากัน

วันอังคารนี้ตามเวลาในสหรัฐฯ ก็จะทราบกันแล้วว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ แต่สำหรับคนอเมริกันจำนวนมาก ดูเหมือนการเลือกตั้งครั้งนี้จะยาวนานเกินไปเสียด้วยซ้ำ