"We will make America great again!" โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้อเมริกาดีขึ้นอีกครั้ง

“We will make America great again!” เป็นสโลแกนจากแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ประโยคนี้ก็ถูกใช้เป็นประโยคสุดท้ายในคำปราศรัยของเขา

“We will make America great again!” เป็นสโลแกนจากแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ประโยคนี้ก็ถูกใช้เป็นประโยคสุดท้ายในคำปราศรัยของเขา ในงานประกาศรับตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯกับตัวแทนพรรคเดโมแครต

 

ส่องดูนโยบายของทรัมป์ที่ประกาศอย่างคราวๆ ในงานรับตำแหน่งตัวแทนพรรค

 
นโยบายภายในประเทศ

ไม่พูดพร่ำทำเพลง ทรัมป์ใส่ประโยคแรกด้วยคำว่า “Law and Order” โดยสัญญาว่าถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี ประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องเป็นระเบียบสังคม“มีขื่อมีแป”อีกครั้ง ทรัมป์อ้างสถิติอาชญกรรมที่สูงขึ้นในเมืองใหญ่ช่วงปีที่ผ่านมา แต่แท้จริงแล้วทรัมป์ต้องการสื่อถึงเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่คนผิวดำสังหารตำรวจ และการประท้วง  “Black Lives Matter” ของคนผิวสีในหลายๆ เมืองที่ทำให้เกิดความรุนแรงทำลายอาคารข้าวของ และทำให้เกิดการปะทะบาดเจ็บต่อบุคคลรวมทั้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

การประท้วง Black Lives Matter เริ่มต้นเมื่อประมาณสองปีก่อน ที่มีคนผิวสีถูกวิสามัญโดยตำรวจในหลายวาระ แม้ในสถานการณ์ที่พวกเขาไม่มีอาวุธติดตัวเลยก็ตามการประท้วงที่ก่อเหตุรุนแรงรวมทั้งการซุ่มยิงตำรวจ(เพื่อการแก้แค้น)มักจะเกิดภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการวิสามัญหลุดพ้นคดี แม้ว่าทรัมป์จะหมายถึงเหตุการณ์ความไม่สงบเหล่านี้ที่ทำให้ประเทศดูไม่มีขื่อมีแป แต่ก็ไม่สามารถพูดเจาะจงไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ชัดเจน เพราะจะเป็นการเสียคะแนนฆ่าตัวตายเสียเปล่าๆ แต่ที่ชัดเจนคือนัยยะสำคัญของการพูดเรื่อง Law and Order เป็นการพูดให้กำลังใจและหาเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าคนผิวสี

 

ทรัมป์ยังพูดถึงปัญหาความยากจนในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นปัญหาการว่างงาน ปัญหาคนจนที่พึ่งพาสวัสดิการของรัฐอยู่มากมาย อาทิเช่น Food Stamp โดยยกเอาสถิติเยาวชนผิวดำที่ไม่มีงานทำกว่า 50% มาเป็นตัวอย่าง และพูดถึงหนี้สาธารณะที่เติบโตสูงขึ้นในรัฐบาลโอบามา แต่อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่ได้พูดถึง ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่มีมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งทางพรรคเดโมแครตเสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเก็บภาษีจากคนรวยมากระจายลงในโปรแกรมสวัสดิการช่วยเหลือคนจน ส่วนพรรครีพับลิกัน

 

แม้ว่าทรัมป์จะไม่ได้ลิงก์ประเด็นนโยบายเศรษฐกิจกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้เข้าด้วยกันในการปราศรัย แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พรรครีพับลิกันเชื่อว่านโยบายลดภาษีให้บริษัทธุรกิจเป็นทางแก้ไขความเหลื่อมล้ำ โดยเชื่อว่าเมื่อลดภาษีรายได้ของบริษัทและธุรกิจรายใหญ่แล้ว บริษัทเหล่านี้จะเอาเงินกำไรไปลงทุนเพิ่ม ทำให้เกิดการจ้างงานเป็นวงจรกลับไปสู่คนจน ซึ่งจะทำให้คนตกงานสามารถหางานและมีรายได้เลี้ยงตัวเองในที่สุด

 

นอกจากนั้น ปัญหาเรื่องผู้อพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายนั้น เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอยู่หลายครั้งในคำปราศรัย โดยทรัมป์ต้องการใช้วิธีเนรเทศผู้อพยพเหล่านี้ออกนอกประเทศ โดยเฉพาะคนที่เป็นอาชญากรและมีคดีติดตัว โดยระบุว่าจะต้องสร้างกำแพงกั้นระหว่างเม็กซิโกและอเมริกาเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ทรัมป์ไม่ได้แตะประเด็นอ่อนไหวที่เกี่ยวกับผู้อพยพเช่น เรื่องครอบครัวโดยเฉพาะลูกของคนอพยพเหล่านี้ที่เกิดในอเมริกา ถ้าพ่อแม่ถูกเนรเทศ จะทำให้เด็กต้องแยกจากผู้ปกครอง หรือเด็กที่เกิดในอเมริกาและกลายเป็นคนอเมริกันไปแล้วต้องย้ายออกนอกประเทศตามพ่อแม่ไป ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีกับเด็กที่ต้องการเรียนต่อและหางานทำในอเมริกา และมีความผูกพันและเติบโตอยู่กับสังคมอเมริกันตั้งแต่เกิด

 

สรุป นโยบายภายในประเทศที่ทรัมป์พูดถึงคือ การรักษากฎหมายและกฎระเบียบของบ้านเมือง แต่ไม่ลงรายละเอียดว่าจะจัดการอย่างไร การกำจัดความยากจนและหนี้ของรัฐบาล โดยการลดภาษีรายได้บริษัทธุรกิจและยกเลิกObamacareเป็นต้น และแก้ปัญหาผู้อพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก และใช้วิธีการเนรเทศ

นโยบายต่างประเทศ

นโยบายต่างประเทศเป็นประเด็นสำคัญในการใช้โจมตีฮิลลารี คลินตันได้ตรงเป้าที่สุดเพราะเธอเคยเป็นรมต.ต่างประเทศ โดยทรัมป์โจมตีความไม่ซื่อสัตย์และความไม่น่าไว้วางใจของคลินตัน เช่นในกรณีการรับส่งข้อมูลสำคัญทางราชการด้วยอีเมลล์ส่วนตัว และการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการดูแลรักษาระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐฯ ทำให้หลายประเทศในปัจจุบันกลายเป็นประเทศล่มสลาย

 

เช่นลิเบียในกรณีล้มล้างรัฐบาลกัสดาฟี ส่งผลให้ลิเบียเกิดความโกลาหลไร้กฎระเบียบ ซึ่งทำให้เอกอัครราชทูตของสหรัฐฯต้องเสียชีวิตจากการบุกทำลายสถานทูตสหรัฐฯ เป็นต้น และกล่าวโจมตีรัฐบาลโอบามาว่าการไม่เข้าแทรกแซงซีเรียเป็นผลให้ประเทศนี้ต้องล่มสลาย รวมทั้งการปล่อยวางทางการทหารของสหรัฐในอิรัก ทำให้ทั้งอิรักและซีเรียกลายเป็นแหล่งซ่องสุมเพาะเชื้อผู้ก่อการร้ายไอซีส ที่กำลังสร้างความไม่สงบสุขไม่เว้นแต่ละวันทั้งในสหรัฐฯและประเทศภาคีชาติตะวันตก

 

นอกจากนั้น ยังพูดถึงการทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านของรัฐบาลโอบามาว่าช่างไร้เดียงสา เพราะเห็นว่าการยกเลิกการคว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่านนั้นง่ายดายเกินไป ไม่สามารถเป็นแครอทที่จะเอามาล่อให้อิหร่านเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือยุติการทำอาวุธนิวเคลียร์ได้จริง และยังกลัวว่าถ้าอิหร่านมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ก็จะยิ่งทำให้รัฐบาลอิหร่านมีโอกาสสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จในอนาคต

 

ทรัมป์กล่าวว่าฮิลลารีให้มรดกสามอย่างแก่สหรัฐฯคือ “ความตาย  ความย่อยยับ และความอ่อนแอ” (Death, Destruction and  Weakness)

 

ฉะนั้น นโยบายของทรัมป์คือแก้ไขดีลกับอิหร่าน ถล่มไอซิสให้ราบคาบ และเคยบอกว่าจะไม่ให้สหรัฐฯเข้าร่วมปฎิบัติการนาโตและช่วยปกป้องประเทศสมาชิกภาคีนาโต ถ้าประเทศเหล่านั้นไม่ช่วยลงขันด้วย

นโยบายเศรษฐกิจ

ในคำปราศรัย ทรัมป์ชักชวนกลุ่มผู้สนับสนุนของเบอร์นี แซนเดอร์ส ที่ผิดหวังจากพรรคเดโมแครต ให้มาร่วมแนวทางเดียวกันเพื่อล้มล้างคลินตัน ทรัมป์กล่าวว่าแนวนโยบายเศรษฐกิจของแซนเดอร์สกับเขานั้นเหมือนกันคือเน้นที่การสร้างความแข็งแกร่งของฐานการผลิตภายในประเทศ แทนที่จะเน้นการทำสัญญาเปิดการค้าเสรีเหมือนที่บิล คลินตัน และฮิลลารีสนับสนุน เช่นเขตการค้าเสรีนาฟต้าและหุ้นส่วนการค้าเสรีทรานส์แปซิฟิก

ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะเน้นกระบวนการ “Americanism” ไม่ใช่ “Globalism” เหมือนที่ผ่านมา ทรัมป์ไม่ได้อธิบายอะไรมากว่า คำว่า Americanism แท้จริงสำหรับเขาหมายถึงกระบวนการที่มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร แค่พูดเป็นคอนเซ็ปต์กว้างๆ ไว้ในคำปราศรัย ซึ่งน่าจะหมายถึงการให้ความสำคัญกับคนอเมริกันก่อนชาติอื่น และถ้าพูดในบริบททางเศรษฐกิจก็คงหมายถึง การสร้างฐานทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง แต่ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าทรัมป์จะทำได้อย่างไร เมื่อสินค้ายี่ห้อ Trump ก็ผลิตจากต่างประเทศและนำเข้ามาขายในสหรัฐอเมริกาทั้งนั้น แถมตัวเองกับลูกชายเพิ่งไปลงทุนเปิดสนามกอล์ฟใหม่ที่สก็อตแลนด์  ที่สำคัญคือ การใช้คำว่า Americanism นั้นมันมีกลิ่นไอความเป็นชาตินิยมอยู่เยอะทีเดียว ซึ่งจากการณรงค์หาเสียงแซนเดอร์สนั้นไม่ได้เน้นแนวทางปลุกระดมการคลั่งชาติ หรือมองว่าอเมริกันดีกว่าชาติอื่นและควรเป็นศูนย์กลางของโลกแต่อย่างใด

 

ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็เช่น การลดภาษีแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น จะปลดล็อกลดกฎระเบียบการควบคุมทางการเงิน (deregulation) และการฟื้นกลุ่มธุรกิจพลังงานเช่นพวกเหมืองแร่ถ่านหินในรัฐ West Virginia ให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง ซึ่งจะทำอย่างไรนั้นทรัมป์ไม่ได้ลงรายละเอียด ว่าจะฝ่ากระแสรักษาโลกร้อนไปได้อย่างไร ถ้าจะมีนโยบายให้อเมริกากลับมาเน้นการใช้ถ่านหินหรือแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบไม่ลืมหูลืมตาเหมือนเดิม นอกจากนั้น จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสร้างและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคเช่นถนนหนทาง สะพาน ท่าเรือ หรือระบบน้ำใหม่ และที่น่าสนใจคือ ทรัมป์ประกาศว่าถ้าได้เป็นประธานาธิบดีจะเปิดเจราจาการค้าเสรีนาฟต้าเสียใหม่

 

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สรินณา อารีธรรมศิริกุล