"Weather Modification by Royal Rainmaking Technology" สิทธิบัตรฝนหลวง ที่ 30 ประเทศยุโรป ให้การยอมรับ และคุ้มครองสิทธิ์ (รายละเอียด)

ประเทศที่ออกสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการให้จำนวน 10 ประเทศ คือ แอลเบเนีย ไซปรัส กรีช ลิทัวเนีย โมนาโก มาซิโดเนีย โรมาเนีย ตุรกี เดนมาร์ก และฝรั่งเศส

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498  ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ

ใน พ.ศ. 2499 จึงได้พระราชทาน โครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" ให้ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ การรับสนองพระราชดำริได้ร่วมมือกันระหว่าง ม.ล.เดช สนิทวงศ์ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น รับไปดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนากรรมวิธีการทำฝนให้บังเกิดผลโดยเร็ว ในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 เป็นวันปฐมฤกษ์ในการปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดิน บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยการใช้น้ำแข็งแห้ง (Dry-Ice) โดยที่ยอดของกลุ่มก้อนเมฆ ปรากฏว่าหลังการปฏิบัติการประมาณ 15 นาที ก้อนเมฆในบริเวณนั้นเกิดมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจนเห็นได้ชัด สังเกตได้จากสีของฐานเมฆได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพียงแต่ยังไม่อาจควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยให้เปลี่ยนพื้นที่ทดลองไปยังจุดแห้งแล้งอื่นๆ เช่น ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น  ด้วยความสำเร็จของโครงการฝนหลวง จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นใน พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2545 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งฝนหลวง" พร้อมกันนี้ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง

 

 

"Weather Modification by Royal Rainmaking Technology" สิทธิบัตรฝนหลวง ที่ 30 ประเทศยุโรป ให้การยอมรับ และคุ้มครองสิทธิ์ (รายละเอียด)

โครงการฝนหลวงไม่เพียงแต่ส่งผลให้พสกนิกรชาวไทยได้รับประโยชน์ แต่ยังสร้างประโยชน์ให้หลายประเทศในโลกได้นำเอาสิ่งที่พระองค์ ทรงได้คิดค้น จนกระทั้งหลายประเทศให้การยอมรับ ด้วยการถวายสิทธิบัตร แด่พระองค์ท่าน ในปี พ.ศ. 2552  ดังเช่นการเปิดเผยข้อมูลจาก ศาสตราจารย์อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในขณะนั้น  เปิดเผยว่า  นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ซึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ในการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตรฝนหลวง นำคณะซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานในโครงการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตรถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช  และคณะทำงานจัดทำจดหมายเหตุสิทธิบัตรฝนหลวง เข้าเฝ้าฯ ณ วังไกลกังวล เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง ซึ่งออกโดยสำนักสิทธิบัตรของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และสำนักสิทธิบัตรเขตบริหารพิเศษฮ่องกง รวมจำนวน 11 ประเทศ พร้อมหนังสือจดหมายเหตุสิทธิบัตรฝนหลวง ที่รวบรวมการดำเนินงานของคณะทำงานในโครงการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตรฯ ตั้งแต่ปี 2545-2550
       
       การถวายสิทธิบัตรครั้งนี้เป็นผลมาจากสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรฝนหลวงในชื่อ “Weather Modification by Royal Rainmaking Technology” เลขที่ 1491088 พร้อมได้ประกาศโฆษณาการรับจดทะเบียนใน European Patent Bulletin เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2548 โดยวช.ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้แทนพระองค์ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2549 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา ซึ่งสิทธิบัตรฝนหลวงได้รับความคุ้มครองสิทธิในประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป จำนวน 30 ประเทศ ได้แก่ แอลเบเนีย สาธารณรัฐเช็ค สโลวาเกีย ออสเตรีย เบลเยี่ยม บัลแกเรีย สวิตเซอร์แลนด์และลิกเตนสไตน์ ไซปรัส เอสโตเนีย สเปน ฟินแลนด์ กรีช ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก ลัตเวีย โมนาโก มาซิโดเนีย เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สวีเดน สโลวีเนีย ตุรกี เยอรมนี เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร
       
       ทั้งนี้ มีประเทศที่ออกสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการให้จำนวน 10 ประเทศ คือ แอลเบเนีย ไซปรัส กรีช ลิทัวเนีย โมนาโก มาซิโดเนีย โรมาเนีย ตุรกี เดนมาร์ก และฝรั่งเศส
       
       สำหรับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้รับอนุญาตให้นำสิทธิในกลุ่มสหภาพยุโรปไปขยายความคุ้มครองได้และต่อมาสำนักสิทธิบัตรเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ออกสิทธิบัตรฝนหลวงเป็นสิทธิบัตรเลขที่ HK 1072525 เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2549 โดยมีอายุความคุ้มครอง 20 ปี นับจากวันยื่นคำขอรับจดสิทธิบัตรในสหภาพยุโรปคือตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. 2546  

"Weather Modification by Royal Rainmaking Technology" สิทธิบัตรฝนหลวง ที่ 30 ประเทศยุโรป ให้การยอมรับ และคุ้มครองสิทธิ์ (รายละเอียด)
สิทธิบัตรฝนหลวงจากประเทศโรมาเนีย

"Weather Modification by Royal Rainmaking Technology" สิทธิบัตรฝนหลวง ที่ 30 ประเทศยุโรป ให้การยอมรับ และคุ้มครองสิทธิ์ (รายละเอียด)
สิทธิบัตรฝนหลวงจากประเทศสาธารณรัฐแอลเบเนีย


เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์