โดนบ้าง "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" แฉยับ "สหรัฐฯ" เข้าข่าย ก่ออาชญากรรมสงคราม ในอัฟกานิสถาน

ศาลอาญาระหว่างประเทศ ( ไอซีซี ) เผยแพร่รายงานของนางฟาตู เบนซูดา อัยการสูงสุด มีสาระสำคัญเรื่องการพบข้อมูลพื้นฐานในเบื้องต้นที่เชื่อถือได้ ว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดกองทัพสหรัฐฯ ต้องสงสัยทรมานร่างกายของผู้

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศ ( ไอซีซี ) เผยแพร่รายงานของนางฟาตู เบนซูดา อัยการสูงสุด มีสาระสำคัญเรื่องการพบข้อมูลพื้นฐานในเบื้องต้นที่เชื่อถือได้ ว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดกองทัพสหรัฐฯ ต้องสงสัยทรมานร่างกายของผู้ที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวอย่างน้อย 61 คนในอัฟกานิสถาน ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. 2546 ถึง 31 ธ.ค. 2557  โดยใช้การดูแล อย่างโหดร้าย รวมถึงการทรมาน และละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

 รายงานของเบนซูดายังมีการตั้งสมมติฐานเชื่อมโยงเจ้าหน้าที่ของสำนักข่าวกรองกลาง ( ซีไอเอ ) อีกจำนวนหนึ่ง ว่าร่วมกันทรมานร่างกายและละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อยู่ภายใต้การควบคุมตัวอย่างน้อย 27 คน ตามคุกลับ หลายแห่ง ที่กระจายอยู่ในอัฟกานิสถาน โปแลนด์ โรมาเนียและลิทัวเนีย ระหว่างเดือนธ.ค. 2545- มี.ค. 2551 อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ล่วงละเมิดส่วนใหญ่ซึ่งเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม เกิดขึ้นระหว่างปี 2546-2547


ทั้งนี้ คณะตุลาการของไอซีซีจะมีมติร่วมกันอีกครั้ง ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ ว่าจะขอใช้อำนาจตามกฎหมายในการเปิดการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการหรือไม่ ขณะที่ ร.อ.เจฟฟ์ เดวิส โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวเพียงว่ากำลังรอรายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้จากไอซีซี เพื่อเตรียมดำเนินการในลำดับต่อไป ด้านกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อรายงานดังกล่าว ที่หากไอซีซีได้รับอำนาจให้ดำเนินการอย่างเป็นทางการจริง จะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อาจมีการดำเนินคดีกับพลเมืองของสหรัฐฯ ทั้งที่ไม่ได้ร่วมให้สัตยาบันกับไอซีซี

ไอซีซีก่อตั้งเมื่อปี 2545 ตามกรอบของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ถือเป็นศาลสถิตยุติธรรมเพียงแห่งเดียวในโลกที่มีอำนาจในการพิพากษาคดีอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปัจจุบันมี 124 รัฐร่วมเป็นภาคี  ยกเว้น 3 ประเทศมหาอำนาจคือสหรัฐ รัสเซีย และจีน โดยในส่วนของสหรัฐนั้น แม้ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมเมื่อปี 2543 แต่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช ถอนชื่อในอีก 2 ปีต่อมา โดยอ้างเหตุผลว่าชาวอเมริกันอาจได้รับการพิพากษาอย่างไม่เป็นธรรม
 
ขณะที่การที่คดีส่วนใหญ่ของไอซีซีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและตัดสินไปแล้วเกิดขึ้นในแอฟริกา สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้แก่หลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งแอฟริกาใต้ บุรุนดี และแกมเบีย แสดงความประสงค์ขอถอนตัวออกจากการเป็นภาคีแล้ว 

 

 

 

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์
ขอขอบคุณข้อมูล Reuter , Vice News