ตาต่อตา ฟันต่อฟัน!! "ปูติน" สั่งถอนชื่อรัสเซีย ออกจากสนธิสัญญา "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" หลังสหรัฐฯ แถลงไม่ยอมรับการตรวจสอบขององค์กรนี้

กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียออกแถลงการณ์ เรื่องการดำเนินการถอนชื่ออกจากธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียออกแถลงการณ์  เรื่องการดำเนินการถอนชื่ออกจากธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาในการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ( ไอซีซี ) เมื่อปี 2545 ซึ่งเป็นไปตามการใช้คำสั่งภายใต้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน โดยแถลงการณ์ระบุเหตุผลของการถอนเชื่อเพียงว่า การทำงานของไอซีซีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นกลาง และไม่มีความเที่ยงธรรมอย่างแท้จริง

รัสเซีย ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมเมื่อปี 2545 แต่ยังไม่ถือเป็นรัฐภาคีของไอซีซีอย่างเต็มตัว เนื่องจากยังไม่ให้สัตยาบัน และความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพียงวันเดียว หลังรัฐบาลแกมเบียยื่นหนังสือต่อสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) เพื่อ แจ้งให้ทราบ ว่ากำลังจะถอนตัวออกจากไอซีซี ตามหลังบุรุนดีและแอฟริกาใต้ ขณะที่นายซิดิกี กาบา รมว.กระทรวงยุติธรรมของเซเนกัล ซึ่งปัจจุบันควบตำแหน่งประธานสมัชชารัฐภาคีไอซีซีด้วย กล่าวยอมรับว่าไอซีซีกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียทบทวนการตัดสินใจ เช่นเดียวกับแกมเบีย แอฟริกาใต้ และบุรุนดี

ด้านนายจอห์น เคอร์บีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวแสดง "ความผิดหวัง" ต่อการตัดสินใจของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ถอนชื่อออกจากธรรมนูญกรุงโรมเมื่อเดือนพ.ค. 2545 เพียง 2 ปีหลังการลงนามโดยประธานาธิบดีบิล คลินตัน  ส่วนจีนปฏิเสธลงชื่อในธรรมนูญกรุงโรมมาตั้งแต่ต้น

 

 

 

ซึ่งการถอนตัวนั้น เกิดขึั้นหลังจากที่ ก่อนหน้านี้ ทางด้าน สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ปฏิเสธ และยืนยันว่าไม่มีทหารหรือสายลับในปฏิบัติการที่อัฟกานิสถานคนใดถูกดำเนินคดีโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) หลังมีการเปิดเผยรายงานของนางฟาตู เบนซูดา อัยการสูงสุดไอซีซี ระบุว่า มีข้อมูลบ่งชี้ถึงการทรมานผู้ต้องสงสัยอย่างน้อย 61 คน ในอัฟกานิสถานโดยกองทัพสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ระหว่างปี 2546-2547

 

นางเอลิซาเบธ ทรูโด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การสืบสวนใดๆ ก็ตามของไอซีซีที่มีต่อปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน เป็นสิ่งที่ ไร้หลักฐาน และ ไม่เหมาะสม โดยรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังดำเนินการสอบสวนอย่างรอบคอบต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว นอกจากนี้ยังเสริมว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ให้การรับรองต่อธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute) ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งศาลอาญาโลกแห่งนี้ที่กรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ จึงไม่มีข้อผูกพันใด

 

ขณะที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรงในซีเรีย ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีโดยไอซีซี แต่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เองกลับรอดพ้นจากกติกาดังกล่าวเนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของไอซีซี และเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ได้วิจารณ์ต่อการที่ประเทศในแอฟริกาบางส่วนประกาศถอนตัวจากไอซีซี โดยนายจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ  กล่าวว่า ไอซีซีเป็นกลไกที่ทรงคุณค่าที่สนับสนุนต่อการรับผิดชอบ ต่อการกระทำ แต่ไม่เคยเอ่ยอ้างว่าสหรัฐฯผู้สวมบทบาทมหาอำนาจของโลกจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์แห่งความรับผิดชอบนั้น

 

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์
ขอขอบคุณข้อมูล Reuter