ท่าจะไม่รอด!! เวียดนาม ลังเล ลงนามสัตยาบัน ทีพีพี หลังการเมืองสหรัฐฯ เปลี่ยนขั้ว

รายงานความคืบหน้าเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ (ทีพีพี) โดยนายเหงียน ซน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม แถลงต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติในกรุงฮานอย

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ (ทีพีพี) โดยนายเหงียน ซน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม แถลงต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติในกรุงฮานอย ว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่รัฐบาลชุดต่อไปแสดงความจำนงอย่างชัดเจน ว่าต้องการให้สภาคองเกรสระงับการประกาศสัตยาบันต่อความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ( ทีพีพี ) รัฐบาลฮานอยจึงเห็นควรว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรัดการให้รัฐสภามอบสัตยาบันต่อข้อตกลงฉบับนี้เช่นกัน

ทีพีพีเป็นความตกลงการค้าที่เป็นผลจากการเจรจาระหว่าง 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู  สิงคโปร์ สหรัฐ และเวียดนาม โดยการเจรจาอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2558 และมีพิธีลงนามอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่  4 กุมภาพันธ์ 2559  แต่ข้อตกลงทีพีพีซึ่งครอบคลุมตลาดการค้าโลกมากถึง 40% จะมีผลงบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อเมื่อรัฐสภาของสมาชิกตั้งต้น 12 ประเทศ ต้องให้สัตยาบันภายในเดือนกุมภาพันธ์  2561  

 

อย่างไรก็ตาม นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปซึ่งจะเริ่มบริหารงานในเดือนมกราคม 2560 ชูนโยบายการค้าในช่วงหาเสียงว่า จะ "เจรจาใหม่" หรือ "ยกเลิก" ข้อตกลงการค้าฉบับใดก็ตาม ที่ทำให้อเมริกาอยู่ในสถานะ "เสียเปรียบ"

 

 

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์
ขอขอบคุณข้อมูล Reuter