"ดูเตอร์เต" ขู่ ถอนตัวจาก ศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามรัสเซีย หลังสหรัฐฯ ไม่ยอมรับการตรวจสอบ "หนุน" จีน รัสเซีย ตั้งองค์กรใหม่ พร้อมเข้าร่วมทันที

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ขู่ จะเดินตามรอยของรัสเซียในการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) หลังจากที่ถูกประชาคมนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในเรื่องสงครามปร

สำนักข่าวเอเอฟพี ได้รายงานถึง ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ขู่ จะเดินตามรอยของรัสเซียในการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) หลังจากที่ถูกประชาคมนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในเรื่องสงครามปราบยาเสพติดที่สุดโต่ง

ก่อนหน้านี้ รัสเซียเพิ่งจะขอถอนตัวจากการลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าการทำงานของไอซีซีเป็นแบบ ด้านเดียวและไร้ประสิทธิภาพ

ผู้นำฟิลิปปินส์ ได้กล่าวเรื่องนี้ที่เมืองดาเวาบ้านเกิดของตนทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ก่อนที่จะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่ประเทศเปรูว่า รัสเซียอาจจะคิดว่าศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีประโยชน์ พวกเขาเลยขอถอนตัวจากความเป็นสมาชิก ผมอาจจะทำตามด้วย ทำไมน่ะหรือ เพราะพวกเกเรอย่างหน้าไม่อายมักจะเลือกเล่นงานแต่ประเทศเล็กๆ อย่างเรา

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็น 1 ใน 124 ชาติที่เป็นสมาชิกของไอซีซีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เป็นศาลอาชญากรสงครามถาวรเพียงแห่งเดียวของโลก

นอกจากนั้น ผู้นำฟิลิปปินส์ ยังออกมายืนยันคำขู่ก่อนหน้านี้ที่จะนำฟิลิปปินส์ถอนตัวออกจากยูเอ็นด้วยโดยระบุว่า ยูเอ็นล้มเหลวที่จะยุติสงครามซึ่งคร่าชีวิตผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก พร้อมทั้งกล่าวว่า “คุณรู้ไหม หากจีนกับรัสเซียตัดสินใจที่จะตั้งองค์การเพื่อการจัดระเบียบโลกใหม่ ผมจะเป็นคนแรกที่เข้าร่วม”

การที่รัสเซีย ถอนตัวในครั้งนี้ จากที่ให้เหตุผลว่า การปฎิบัติขององค์กรดังกล่าวไม่เป็นกลาง แต่หลายฝ่ายคาดว่าเป็นเพียงการอ้างเท่านั้น เพราะการถอนตัวนั้น เกิดขึั้นหลังจากที่ ก่อนหน้านี้ ทางด้าน สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ปฏิเสธ และยืนยันว่าไม่มีทหารหรือสายลับในปฏิบัติการที่อัฟกานิสถานคนใดถูกดำเนินคดีโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) หลังมีการเปิดเผยรายงานของนางฟาตู เบนซูดา อัยการสูงสุดไอซีซี ระบุว่า มีข้อมูลบ่งชี้ถึงการทรมานผู้ต้องสงสัยอย่างน้อย 61 คน ในอัฟกานิสถานโดยกองทัพสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ระหว่างปี 2546-2547

 

นางเอลิซาเบธ ทรูโด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การสืบสวนใดๆ ก็ตามของไอซีซีที่มีต่อปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน เป็นสิ่งที่ ไร้หลักฐาน และ ไม่เหมาะสม โดยรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังดำเนินการสอบสวนอย่างรอบคอบต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว นอกจากนี้ยังเสริมว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ให้การรับรองต่อธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute) ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งศาลอาญาโลกแห่งนี้ที่กรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ จึงไม่มีข้อผูกพันใด

 

ขณะที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรงในซีเรีย ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีโดยไอซีซี แต่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เองกลับรอดพ้นจากกติกาดังกล่าวเนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของไอซีซี และเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ได้วิจารณ์ต่อการที่ประเทศในแอฟริกาบางส่วนประกาศถอนตัวจากไอซีซี โดยนายจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ  กล่าวว่า ไอซีซีเป็นกลไกที่ทรงคุณค่าที่สนับสนุนต่อการรับผิดชอบ ต่อการกระทำ แต่ไม่เคยเอ่ยอ้างว่าสหรัฐฯผู้สวมบทบาทมหาอำนาจของโลกจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์แห่งความรับผิดชอบนั้น

 

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก AFP