UN แต่งตั้ง "วิทิต มันตาภรณ์"  เป็น "ผู้เชี่ยวชาญอิสระสอบสวนการละเมิดต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ" คนแรกของยูเอ็น

กลุ่มประเทศแอฟริกาเสนอร่างข้อมติต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการหารือเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งแต่งตั้งนายวิทิต มันตาภรณ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระสอบสวนการละเมิด

กลุ่มประเทศแอฟริกาเสนอร่างข้อมติต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการหารือเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งแต่งตั้งนายวิทิต มันตาภรณ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระสอบสวนการละเมิดต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศคนแรกของยูเอ็น แต่ประเทศกลุ่มละตินอเมริกาเสนอร่างข้อมติฉบับแก้ไขโดยลบคำร้องให้ชะลอการแต่งตั้งนายวิทิตออกไปก่อนทิ้งเสีย ที่ประชุมมีมติรับร่าง 84 ต่อ 77 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง

แอฟริกาใต้แตกแถวมีมติสนับสนุนร่างแก้ไข ประเทศยุโรป สหรัฐ แคนาดา และประเทศอเมริกาใต้ลงมติสนับสนุนให้นายวิทิตอยู่ในตำแหน่งต่อไป โซมาเลียและรวันดา งดออกเสียง จีน รัสเซีย อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่สนับสนุนคำร้องของแอฟริกาให้เลื่อนการแต่งตั้งนายวิทิตออกไปก่อน

บอตสวานา ผู้นำชาติแอฟริกาที่ขอให้สมัชชาใหญ่สหประชาชาติเลื่อนการแต่งตั้งนายวิทิต ให้เหตุผลว่า กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่ได้กำหนดเรื่องรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศ ชาติแอฟริกาจึงสงสัยว่า มีกฎหมายฉบับใดระบุถึงแนวคิดในเรื่องนี้

ในบรรดาสมาชิกยูเอ็น 193 ประเทศ มี 73 ประเทศ หรือเกือบ 40% มีกฎหมายกำหนดว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม เฉพาะในแอฟริกาทวีปเดียว มี 33 ประเทศรวมทั้งยูกันดา ไนจีเรีย ซูดาน และมอริเตเนีย มีกฎหมายต่อต้านเกย์

นายวิทิต อาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศชาวไทย ได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือน ก.ย. ทำหน้าที่สอบสวนการล่วงละเมิดต่อเลสเบี้ยน เกย์ คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ (แอลจีบีที) ทั่วโลก หลังจากเปิดให้สมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และชาติแอฟริกาลงมติต่อต้านการแต่งตั้ง 

นายวิทิตซึ่งเริ่มงานในตำแหน่งใหม่เดือนนี้ จะดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ด้านการละเมิดสิทธิกลุ่มแอลจีบีทีร่วมกับรัฐบาล และทำงานเพื่อปกป้องคนกลุ่มนี้

 

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์