1 ธันวาคม วันดำรงราชานุภาพ :: บุคคลไทยพระองค์แรก ที่ UNESCO ยกย่องให้เป็น บุคคลสำคัญของโลก

วันดำรงราชานุภาพ ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลไทยพระองค์แรกที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย

   วันดำรงราชานุภาพ ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลไทยพระองค์แรกที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย

          คนไทยหลายคนรู้จักพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่อาจยังไม่ทราบว่าพระองค์ทรงคุณูปการต่อประเทศไทยมากมายเพียงใด กระทั่งได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2505 ซึ่งนับเป็นบุคคลไทยพระองค์แรก และทรงได้รับการถวายพระนามเป็น "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย" โดยกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็น "วันดำรงราชานุภาพ"

แรกเริ่มนั้น วันดำรงราชานุภาพ กำหนดให้ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี เพื่อระลึกถึงวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการพัฒนาประเทศให้ได้รับความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะด้านวงการการศึกษาของไทยที่ทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกรมศิลปากร ราชบัณฑิตยสภา พิพิธภัณฑสถาน หอสมุดพระนคร อีกทั้งได้ทรงนิพนธ์หนังสือที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้มากกว่า 650 เรื่อง จึงทรงได้รับการถวายพระนามว่า "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย"

          ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยกำหนดให้วันดำรงราชานุภาพ ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีแทน เพื่อระลึกถึงวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์

 

  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 57 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม โดยมีพระอิสริยยศคือ "พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร"

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงศึกษาภาษาไทยชั้นต้นจากสำนักคุณแสง และคุณปาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาบาลีจากสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และหลวงธรรมนุวัติจำนง (จุ้ย) และทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากสำนักโรงเรียนหลวง ซึ่งมีนายฟรานซิส ยอร์ซ แปทเตอร์สัน เป็นอาจารย์ จากนั้นทรงศึกษาวิชาทหารในสำนักหลวงรัฐรณยุทธ์และเข้าเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อย กรมมหาดเล็ก จนสำเร็จการศึกษาเมื่อพระชนมายุ 15 พรรษา และได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก บังคับกองแตรวง

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลเสนอพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภาพระองค์แรก ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับหอสมุดพระนคร และพิพิธภัณฑสถาน กระทั่งในปี พ.ศ. 2472
ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศพระบรมวงศ์ต่างกรมเป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งสูงที่สุดสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์

          ภายหลังเมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในปี พ.ศ. 2475 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปประทับที่เกาะปีนัง เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายทางการเมือง ต่อมาเสด็จกลับประเทศไทยมาประทับที่วังวรดิศ พระองค์ประชวรด้วยพระโรคพระหทัยพิการ และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 รวมพระชนมายุได้ 81 พรรษา

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นต้นราชสกุลดิศกุล มีหม่อม 11 ท่าน มีพระโอรสและพระธิดา รวม 37 พระองค์ พระองค์ยังทรงเป็นต้นราชสกุลดิศกุล

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการพัฒนาประเทศให้ได้รับความเจริญก้าวหน้าในหลาย ๆ ด้าน อาทิ..

ด้านการเมืองการปกครอง

          ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเป็นพระองค์แรก อีกทั้งทรงริเริ่มก่อตั้งกระทรวงมหาดไทยและดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นพระองค์แรก และทรงดำรงตำแหน่งเป็นเวลานานถึง 23 ปี

          โดยพระกรณียกิจสำคัญคือการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งในสมัยนั้นประเทศไทยยังปกครองแบบมีหัวเมืองประเทศราช ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมองเห็นจุดอ่อนว่าอาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียเอกราชได้อย่างง่ายดาย จึงมอบนโยบายให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพรับมาปฏิบัติ โดยแก้ลักษณะการปกครองแบบประเทศราช มาเป็นพระราชอาณาจักรของประเทศไทยรวมกัน กระทั่งทรงริเริ่มการปกครองในแบบมณฑลเทศาภิบาลปกครองท้องที่ คือ ยกเลิกหัวเมืองประเทศราชทั้งหมด มาจัดตั้งหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เมือง และมณฑล เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหารประเทศ ได้ทรงริเริ่มจัดตั้ง "การสุขาภิบาลหัวเมือง" โดยเริ่มที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแห่งแรก และนับเป็นการปูพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่น

          นอกจากนี้ยังทรงก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการฝ่ายปกครองของมณฑลเทศาภิบาล เพื่อผลิตบุคลากรในการปกครอง ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ต่อมาได้พัฒนาเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนข้าราชการพลเรือน และเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

          นอกจากพระกรณียกิจด้านการปฏิรูปการปกครองในประเทศแล้ว ยังทรงเป็นที่ปรึกษาสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ประเทศรอดพ้นจากการเป็นประเทศราชของต่างชาติในยุคแห่งการล่าอาณานิคม พระองค์ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก ถึงขนาดตรัสชมว่า ทรงเป็นเสมือน "เพชรประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ"
 

ด้านการสาธารณสุข

          ทรงรับภาระในการจัดการโรงเรียนแพทย์ต่อจากพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ทรงมีพระดำริริเริ่มให้มีโอสถศาลา สำหรับรับหน้าที่ผลิตยาแจกจ่ายให้ราษฎรในตำบลห่างไกล ซึ่งปัจจุบันคือ สถานีอนามัย และทรงจัดตั้งปาสตุรสภา สถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปัจจุบันโอนไปอยู่ในสังกัดของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย อีกทั้งยังทรงก่อตั้งโรงพยาบาลในท้องถิ่นทุรกันดาร และทรงริเริ่มก่อตั้งกรมพยาบาลขึ้น ซึ่งปัจจุบันคือกระทรวงสาธารณสุข

          นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับพระภารกิจด้านงานสรรพากร และงานอุตสาหกรรมโลหกิจ ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนางานมาจนถึงปัจจุบันด้วย

 


ด้านการศึกษา ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม

          ทรงเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบพระองค์แรก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อฝึกสอนทหารภายในกรมทหารมหาดเล็ก ภายหลังมีผู้คนสนใจมากสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนสำหรับประชาชนโดยทั่วไป สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำเนินการด้วยพระองค์เองทุกอย่าง ตั้งแต่ทรงร่างหลักสูตร เป็นครูผู้สอน ร่างข้อสอบ ดำเนินการสอบ ตรวจข้อสอบ และเมื่อนักเรียนศึกษาสำเร็จ พระองค์ก็ทรงจัดทำประกาศนียบัตรด้วยพระองค์เอง

          พระองค์ยังทรงริเริ่มก่อตั้งกรมธรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลการศึกษาโดยตรง และทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธรรมการพระองค์แรก (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งได้พัฒนางานทางด้านการศึกษาให้ก้าวหน้า อีกทั้งยังทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาหลายแห่ง เช่น กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถาน หอสมุดพระนคร ราชบัณฑิตยสภา

ระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งนายกบัณฑิตยสภา ทรงอนุรักษ์และชำระหนังสือสำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งทรงอุทิศเวลานิพนธ์หนังสือที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้มากกว่า 650 เรื่อง ได้แก่ ประวัติบุคคลสำคัญมากที่สุดถึง 180 เรื่อง รองลงมาได้แก่ การศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี 146 เรื่อง ศิลปะวรรณคดี 111 เรื่อง ประวัติศาสตร์โบราณคดี 103 เรื่อง ภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว 74 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีกวีนิพนธ์ วรรณคดีอีกจำนวนหนึ่ง อันเป็นมรดกทางปัญญาของชาวโลกมาจนกระทั่งทุกวันนี้

          ด้วยพระปรีชาสามารถดังที่ได้กล่าวมาล้วนเป็นที่ประจักษ์ในใพระอัจฉริยภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงเป็นบุคคลไทยพระองค์แรกที่ได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505 และทรงได้รับการถวายพระนามว่า "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย" ภายหลังกระทรวงมหาดไทยได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ ในลักษณะประทับนั่งบริเวณด้านหน้าศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ถนนอัษฎางค์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

 

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์
ข้อมูลโดย กระปุกดอทคอม