กลิ่นอายสงครามมันใกล้เข้ามาทุกขณะ!!  "สหรัฐฯ" แถลงเพิ่มมาตรการ คว่ำบาตร "รัสเซีย" จัดหนักทั้งรายบุคคล และ องค์กร

กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องการขึ้นบัญชีดำนักธุรกิจชาวรัสเซีย อีก 7 คน ในจำนวนนี้ 6 คนเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร "รอสซิยา" และ "โซบินแบงก์" ที่เป็นสถาบันการเงินในเครือ

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานข่าวว่า กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องการขึ้นบัญชีดำนักธุรกิจชาวรัสเซีย อีก 7 คน ในจำนวนนี้ 6 คนเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร "รอสซิยา" และ "โซบินแบงก์" ที่เป็นสถาบันการเงินในเครือ โดยหนึ่งในรายชื่อที่ปรากฏคือนายคีริล โควัลชุค หลานชายของนายยูริ โควัลชุค นักธุรกิจผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารรอสซิยา ทั้งนี้ นายยูริ โควัลชุค มีชื่ออยู่ในบัญชีดำของสหรัฐตั้งแต่ปี 2557 ในฐานะหนึ่งในคนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และทำหน้าที่ เป็นนายธนาคารส่วนตัวของผู้นำรัสเซีย อีกด้วย



นอกจากนั้นแล้ว สหรัฐฯ ยังได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทอีก 8 แห่งที่มีสำนักงานหรือฐานการผลิตอยู่ในภูมิภาคไครเมีย ที่อยู่ทางใต้ของยูเครน  ในจำนวนนี้รวมบริษัทสัญชาติรัสเซีย 2 แห่งที่ได้รับสัมปทานในเมกะโปรเจ็กต์การก่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างคาบสมุทรไครเมียกับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย

 

กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ยังประกาศรายชื่อบริษัทย่อยหรือสาขา 26 แห่งของธนาคารการเกษตรรัสเซีย และบริษัท "โนวาเท็ก" หนึ่งในผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งอยู่ในบัญชีดำอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2557 แต่มาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทขนาดเล็กทั้ง 26 แห่งนั้นค่อนข้างอ่อน เนื่องจากเป็นคำสั่งห้ามผู้ประกอบการของสหรัฐฯ ยุ่งเกี่ยวกับการจัดการหนี้สินบางประเภทเท่านั้น

ทางด้านนายเซอร์เก รีอับคอฟ รมช.กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวประณามมาตรการคว่ำบาตรครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ  และเตือนว่า รัสเซียเอง ก็จะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อสหรัฐฯ เช่นกัน 

 

 

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ วันที่  16 กรกฎาคม 2557  สหรัฐฯและยุโรป เพิ่มความหนักหน่วงในมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียต่อกรณียูเครนครั้งสำคัญ ด้วยเป็นครั้งแรกที่วอชิงตันเล่นงานโดยตรงต่อเป้าหมายธนาคาร กองทัพและภาคพลังงานของมอสโก ด้วยหวังผลถึงขึ้นฉุดเศรษฐกิจสู่ภาวะถดถอย ทำเอาเครมลินโมโหจัดและขู่เจอตอบโต้อย่างสาสม

มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่หนักหน่วงขึ้นครั้งนี้ สะท้อนถึงความตึงเครียดถึงขีดสุดแห่งการเผชิญหน้ากันครั้งเลวร้ายที่สุดระหว่างมอสโกกับชาติตะวันตกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น ขณะที่การต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลเคียฟกับพวกแบ่งแยกดินแดนนิยมมอสโก กำลังลุกลามสู่สงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ

สหรัฐฯบอกว่าจำเป็นต้องดำเนินการอย่างไม่มีทางเลือก หลังจากรัสเซียปฏิเสธใช้มาตรการต่างๆในการยุติความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นระงับให้การสนับสนุนฝ่ายกบฏหรือขัดขวางการไหล่บ่าข้ามพรมแดนของอาวุธและเสบียง "เราจำเป็นต้องกำหนดคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม ต่อพฤติกรรมต่างๆที่ละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน" เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯผู้ไม่ประสงค์เอ่ยนามบอก

มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดของสหรัฐฯ นับเป็นการลงโทษครั้งหนักหน่วงที่สุดของวอชิงตันต่อรัสเซียนับตั้งแต่เกิดวิกฤตในยูเครน โดยพุ่งเป้าเล่นงานภาคสำคัญๆของเศรษฐกิจแดนหมีขาว ในนั้นรวมถึงความเคลื่อนไหวที่มีกับสถาบันการเงินหลัก 2 แห่งของเครมลิน ได้แก่ก๊าซปรอมแบงค์และวีอีบี และ 2 บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง โอเอ โนวาเทคและรอสเนฟท์ ที่ถูกจำกัดการเข้าถึงตลาดทุนอเมริกา

ด้านกระทรวงการคลังสหรัฐฯก็บอกว่าบริษัทาอาวุธ 8 แห่งของรัสเซียซึ่งผลิตอาวุธยุทธภัณฑ์ขนาดเล็ก กระสุนปืนครกและรถถัง ก็จะเจอกับมาตรการคว่ำบาตรโดยตรงเช่นกัน ขณะเดียวกันการลงโทษรอบล่าสุดของอเมริกายังรวมไปถึงมาตรการต่างๆที่มีต่อดินแดนที่อ้างตัวเองว่าเป็นสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูกานสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครนด้วย

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ แถลงชี้แจงมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่กับผู้สื่อข่าว และเตือนว่าอเมริกาจะคว่ำบาตรให้หนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก หากรัสเซียไม่ยอมใช้มาตรการเป็นรูปเป็นร่างเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง "มาตรการคว่ำบาตรนี้มีความสำคัญ แต่ก็มีเป้าหมายเช่นกัน มันออกแบบมาเพื่อส่งผลกระทบต่อรัสเซียให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ก่อผลกระทบอย่างจำกัดต่อเหล่าบริษัทอเมริกาและชาติพันธมิตร"
ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯมีขึ้นพร้อมๆกับที่เหล่าผู้นำสหภาพยุโรปได้เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการคว่ำบาตรต่อมอสโกเช่นกัน ผ่านมาตรการต่างๆนานาก็ดูเหมือนว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าฝั่งของวอชิงตัน

แหล่งข่าวด้านการทูตในบรัสเซลส์บอกกับเอเอฟพีว่าสหภาพยุโรปจะระงับการลงทุนใหม่ๆในรัสเซียของธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (EIB) และธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและการพัฒนา(EBRD) "สถานการณ์ในยูเครน เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้" นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอกขณะเดินทางถึงที่ประชุมในบรัสเซลส์ ก่อนจะมีการแถลงมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในเวลาต่อมา "เราจำเป็นต้องส่งสารอย่างชัดเจน ด้วยท่าทีที่ชัดเจน"

มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของยุโรปครั้งนี้มีออกมาแม้ว่าถูกคัดค้านจากประชาคมธุรกิจของยุโรป อย่างไรก็ตามทางการสหรัฐฯเชื่อว่าความเคลื่อนไหวร่วมกันระหว่างพันธมิตรข้ามแอตแลนติกจะก่อความเสียหายราคาแพงแก่เศรษฐกิจรัสเซีย ขณะที่เจ้าหน้าทีอเมริกาคนหนึ่งเปิดเผยว่าไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการออกมาตรการคว่ำบาตรอีกรอบที่คราวนี้จะฉุดเศรษฐกิจของรัสเซียเข้าสู่ภาวะถดถอย

ก่อนหน้านี้วอชิงตันออกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียมาแล้วหลายรอบ ส่วนใหญ่เล่นงานไปที่เหล่าผู้นำบริษัทมอสโกสำคัญๆบางแห่งและคนใกล้ชิดประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เช่นเดียวกับแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นหนล่าสุดนี้จึงถือเป็นครั้งหนักหน่วงที่สุด

ผลก็คือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลรัสเซีย แสดงความขุ่นเคืองต่อมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ด้วยบอกว่าเป็นสิ่งที่เหลือทนและมิอาจยอมรับได้ พร้อมกับขู่แก้แค้นอย่างสาสม

"การตัดสินใจครั้งใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯในการออกมาตรการคว่ำบาตรต่อบุคคลและองค์กรที่ชอบธรรมตามกฎหมายของรัสเซีย นับว่าเลยเถิด ข้ออ้างอย่างผิดๆนี้มิอาจเรียกเป็นอย่างอื่นได้นอกจากเหลือทนและไม่อาจยอมรับได้โดยสิ้นเชิง" นายเซอร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซียบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์ แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่ามอสโกจะแก้เผ็ดอย่างไร

ด้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนบราซิล ให้สัมภาษณ์ผ่านผู้สื่อข่าว เตือนว่ามาตรการของสหรัฐฯ จะนำพาความสัมพันธ์กับมอสโกเข้าสู่ภาวะที่ไร้ความหวัง อย่างไรก็ตามเขาบอกว่าขอรอดูรายละเอียดเพื่อให้เข้าใจถึงขอบเขตของมาตรการเหล่านั้นก่อน แล้วถึงจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามเบื้องต้นได้ชี้ว่ามาตรการคว่ำบาตรจะก่อความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของสหรัฐฯและเหล่าบริษัทพลังงานหลักๆของวอชิงตันเอง

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์