กระทรวงต่างประเทศของไทย เดินหน้าด้วย "การทูต 5 เอส" สร้างสัมพันธ์ กับทุกภูมิภาค จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

แม้รัฐบาลไทยในปัจจุบันตกเป็นเป้าสายตาในแง่ของประชาธิปไตยหรือแง่มุมอื่นๆ เช่น สิทธิมนุษยชน เป็นต้น แต่ได้รับการยอมรับมากขึ้นจากหลายประเทศ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศในปี 2560 ว่า กระทรวงการต่างประเทศยังเดินหน้างานการต่างประเทศตามแนวทางที่ได้ทำมาตลอด ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีบทบาทในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศในหลายระดับทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งความร่วมมือต่างๆเป็นไปอย่างราบรื่น

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆในแต่ละภูมิภาคดีขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้มีการเปลี่ยนผ่านผู้บริหารประเทศ ซึ่งเรากำลังรอดูว่าจะเป็นอย่าง ไร แต่ตนเชื่อว่าความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯที่มีมานาน 183 ปี จะเป็นหลักประกันที่ดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันต้องเดินหน้าต่อไป สำหรับประเทศในทวีปยุโรปก็ดีขึ้น ซึ่งท่าทีของเขาเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการลงประชามติของไทย เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 ซึ่งตามหลักสากลถือว่าเป็นการออกเสียงโดยประชาชน เป็นไปอย่างโปร่งใสและเชื่อถือได้ ก็สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนานาประเทศ

ส่วนประเทศซาอุดิอาระเบียนั้น ได้เชิญพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้ไปเยือน หลังจากที่รมว.ต่างประเทศซาอุดิอาระเบียได้มาที่ประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย(เอซีดี) เมื่อเดือน ต.ค.2559 ซึ่งในครั้งนั้นยังได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีของไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีบาห์เรนเข้าร่วมด้วย


“แม้รัฐบาลไทยในปัจจุบันตกเป็นเป้าสายตาในแง่ของประชาธิปไตยหรือแง่มุมอื่นๆ เช่น สิทธิมนุษยชน เป็นต้น แต่ได้รับการยอมรับมากขึ้นจากหลายประเทศ”

 

จากปรากฏการณ์เหล่านี้ในปี 2559 ทำให้เราเชื่อมั่นว่าความก้าวหน้าในเรื่องของความร่วมมือระหว่างไทยกับนานาชาติในปี 2560 จะยิ่งแจ่มใสมากขึ้น สำหรับแนวทางการทูตของไทยในปีใหม่นี้ เรียกว่า “การทูต 5 เอส (S)" คือ

 

1.Security-ความมั่นคงที่เป็นพื้นฐานสำคัญของงานการต่างประเทศทั่วโลก โดยความมั่นคงในยุคนี้เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่การใช้กองกำลังหรืออาวุธยุทโธปกรณ์มาสู้รบกัน แต่เป็นภัยในรูปแบบโรคภัย ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การระบาดของยาเสพติด การก่อการร้าย การขาดแคลนพลังงานหรืออาหาร

 

2.Sustainability-ความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

3.Standard-มาตรฐาน ซึ่งไทยต้องยกระดับการดำเนินงานหลายอย่างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การทำประมง การบินพลเรือนระหว่างประเทศ เป็นต้น

 

4.Status-สถานภาพของประเทศที่นอกจากประเทศเราต้องยกระดับคุณภาพพื้นฐานที่เรามีแล้ว ยังต้องเพิ่มบทบาทความร่วมมือกับนานาประเทศ รวมถึงต้องมีความพร้อมทางด้านเทคนิค

 

5.Synergy-บูรณาการ โดยหน่วยงานภาครัฐต้องทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และองค์กรแนวร่วมต่างๆ ดังนั้น การทำภารกิจต่างๆของเราต่อจากนี้ไปจะขัดเจนและครอบคลุมหลายด้านที่จะทำให้มีพลังเติมเต็มในการนำพาประเทศให้รุดหน้า นอกจากนี้ แนวทางการทูตดังกล่าวจะสนับสนุนงานภาครัฐทุกประเภท โดยมีภาคส่วนต่างๆจะเชื่อมโยงกัน

 

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์