หลังจากมีภาพถ่ายที่ชาวจีนได้พบกับวัตถุหนึ่งที่ เข้าใจได้ว่าเป็นขีปนาวุธ DF-26 ที่กองทัพจีนได้ทำการทดสอบไปไม่นานมานี้

หลังจากมีภาพถ่ายที่ชาวจีนได้พบกับวัตถุหนึ่งที่ เข้าใจได้ว่าเป็นขีปนาวุธ DF-26 ที่กองทัพจีนได้ทำการทดสอบไปไม่นานมานี้ หลายคนก็อยากรู้ว่าขีปนาวุธรุ่นดังกล่าวมีประสิทธิภาพอย่างไร ต้องติดตามกัน
 

DF-26 ขีปนาวุธของจีน ที่ทำให้ สหรัฐฯ ต้องผวา

 

กองทัพปลดแอกประชาชนจีน นำเอา DF-26 ขีปนาวุธต่อสู้เรือรุ่นใหม่สุดไฮเทคของตน ออกมาอวดโฉมต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเมื่อสิ้นเดือนที่แล้ว นักวิจัยทางการทหารของจีน 2 คนได้เขียนบทความเปิดเผยสมรรถนะด้านต่างๆ ของขีปนาวุธที่ได้รับฉายาว่า “นักล่าสังหารเรือบรรทุกเครื่องบิน” นี้ ซึ่งสามารถติดตั้งได้ทั้งหัวรบนิวเคลียร์และหัวรบธรรมดา แถมยังสามารถยิงได้อย่างง่ายดายในขณะที่กำลังเคลื่อนที่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯก็ประกาศทันควันว่ามีแผนการเตรียมรับมืออยู่แล้ว

เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้เปิดเผยรายละเอียดใหม่ๆ เกี่ยวกับขีปนาวุธนำวิถีต่อสู้เรือพิสัยกลาง รุ่นใหม่ของตน ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า ตงเฟิง- หรือ ดีเอฟ-26 (DF-26)




ขีปนาวุธรุ่นนี้สามารถประกอบติดตั้งทั้งกับหัวรบนิวเคลียร์หรือหัวรบธรรมดา และกลายเป็นตัวเสริมส่งเพิ่มเติมให้แก่ขีปนาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรุ่นก่อนหน้านี้ นั่นคือ DF-21D ซึ่งมีพิสัยทำการสั้นกว่า แต่ทั้งสองรุ่นล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในยุทธศาสตร์ทางทหารของจีน ซึ่งมุ่งสร้างอาวุธที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อบังคับให้กองทัพสหรัฐฯต้องปฏิบัติการจากอาณาบริเวณที่ถอยห่างจากชายฝั่งของจีนออกไปอีก
DF-26 ถูกนำออกมาอวดโฉมต่อหน้าสาธารณชนในเดือนกันยายน ระหว่างการเดินสวนสนามครั้งใหญ่ในกรุงปักกิ่ง ขีปนาวุธรุ่นนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวจีนด้วยฉายาว่า “นักล่าสังหารเกาะกวม” เนื่องจากทำให้พวกนักวางแผนสงครามของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน มีความสามารถใหม่ๆ ในการเล็งเป้าหมายใส่ศูนย์การทหารแห่งใหญ่ของสหรัฐฯบนเกาะทางแปซิฟิกใต้แห่งนั้น หลังจากที่ขีปนาวุธพิสัยใกล้และขีปนาวุธพิสัยกลางของแดนมังกรรุ่นก่อนๆ ไม่สามารถยิงไปถึง

 

การยิงขีปนาวุธ DF-26 นั้น จะเป็นการปล่อยออกจากเครื่องยิงซึ่งติดตั้งอยู่บนรถบรรทุกที่ขับเคลื่อนได้ ขีปนาวุธจะถูกปล่อยให้ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ โดยที่มีระบบเรดาร์ ซึ่งสามารถติดตามเป้าหมายที่อยู่ในระยะไกลมาก, ระบบติดตามด้วยดาวเทียม, และเป็นไปได้ว่าอาจจะมีอากาศยานไร้นักบินด้วย คอยทำหน้าที่นำทาง

 

DF-26 ยังถูกประกอบเข้ากับหัวรบบังคับการเคลื่อนที่ เพื่อช่วยในการค้นหาเป้าหมาย ตลอดจนเพื่อเอาชนะระบบป้องกันขีปนาวุธของข้าศึก ขีปนาวุธนี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีเรือซึ่งอยู่ในทะเลเปิด หรือใช้ในการปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่อาจเป็นปรปักษ์เดินทางเข้ามาในพื้นที่

คุณสมบัติอันโดดเด่นของ DF-26 นั้น อยู่ตรงที่สามารถเป็นทั้งอาวุธนิวเคลียร์และทั้งอาวุธธรรมดาได้เสร็จสรรพภายในหนึ่งเดียว กล่าวคือ ลำตัวของขีปนาวุธรุ่นนี้ สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ เพื่อใช้ในการโจมตีทางนิวเคลียร์ใส่ข้าศึก หรือไม่ก็บรรทุกหัวรบธรรมดา เพื่อให้เป็นการโจมตีด้วยกำลังไฟตามแบบแผนธรรมดาใส่ข้าศึก คุณสมบัติที่สามารถ “เปลี่ยนหัวรบ ไม่ใช่เปลี่ยนขีปนาวุธ” เช่นนี้ ทำให้สามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างการเป็นอาวุธนิวเคลียร์กับการเป็นอาวุธธรรมดาได้อย่างรวดเร็ว”


“เมื่อพิจารณาจากสภาพที่จีนมีจำนวนอาวุธนิวเคลียร์อย่างจำกัด เช่นเดียวกับขีปนาวุธนำวิถีพิสัยกลางก็มีอยู่อย่างจำกัด การที่ DF-26 สามารถเปลี่ยนไปติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ในนาทีสุดท้ายเมื่อมีความจำเป็นขึ้นมา จึงทำให้มันกลายเป็นสมรรถนะทางการป้องปรามทางนิวเคลียร์และสมรรถนะในการโจมตีตอบโต้ทางนิวเคลียร์ระดับพิสัยกลางและพิสัยใกล้ ตลอดจนมีบทบาทในเชิงยุทธศาสตร์และในทางยุทธการ”

 



ขีปนาวุธรุ่นนี้ช่วยยกระดับสมรรถนะการโจมตีด้วยกำลัง ทั้งทางภาคพื้นดิน, ทะเล, และอากาศ โดยกล่าวว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขีปนาวุธนี้เมื่อใช้ร่วมกับกองกำลังโจมตีผิวน้ำและใต้น้ำส่วนหน้า ที่เข้าไปประจำการอยู่ก่อนแล้ว ตลอดจนร่วมกับกองกำลังประจำเรือ, ประจำชายฝั่ง, และกองกำลังสงครามทางอากาศ ก็จะสามารถทำการโจมตีแบบผสมผสานทั้งพิสัยไกล, พิสัยกลาง, และพิสัยใกล้ เข้าใส่เรือขนาดใหญ่ในทะเล ตลอดจนทำการโจมตีผสมผสานกันทั้งภาคพื้นดิน, ทะเล, และอากาศ
 

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ DF-26 ก็คือ ด้วยลักษณะที่เป็นหน่วยโมดูลย่อยๆ ซึ่งสามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกัน ทำให้ขีปนาวุธนี้ประกอบติดตั้งหัวรบได้หลายๆ ประเภท เป็นต้นว่า หัวรบแบบ nuclear re-entry vehicle 2 ประเภท, และหัวรบธรรมดาหลายหลากชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีสมรรถนะในการทำลายแตกต่างกัน เป็นต้นว่า หัวรบเพื่อการโจมตีพื้นที่ ซึ่งใช้สำหรับโจมตีพวกสนามบินและท่าเรือ, หัวรบแบบเจาะทะลุพื้น เพื่อใช้ในการโจมตีเป้าหมายที่อยู่ใต้ดิน, และวัตถุระเบิดเชื้อเพลิง-อากาศ (fuel-air explosives) เพื่อใช้โจมตีพวกเป้าหมายทางอิเล็กทรอนิกส์

ผู้เขียนบทความนี้ทั้ง 2 ยกย่อง DF-26 ว่าเป็นขีปนาวุธที่ประณีตล้ำยุค และเป็นทรัพย์สมบัติอันมีค่าของจีน ซึ่งสามารถสนับสนุนแนวความคิดทางการทหารที่ว่า “ใช้การรุกมาช่วยเหลือการป้องกัน” (use offense to assist defense)

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าอาวุธชนิดนี้พุ่งเป้าหมายตรงมาที่สหรัฐฯ อันเป็นประเทศซึ่งผู้เขียนทั้งสองระบุว่า กำลังดำเนินการสั่งสมกำลังทหารในเอเชีย และโหมกระพือป่าวร้องว่าจีนเป็นภัยคุกคาม

พวกเขากล่าวหาว่า สหรัฐฯกำลังใช้แนวความคิดว่าด้วยการทำสงครามผสมผสานทางอากาศ-ทางทะเล (Air Sea Battle Concept) ซึ่งเวลานี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “Joint Concept for Access and Maneuver in the Global Commons” เพื่อมุ่งแบ่งแยกภูมิภาคแถบนี้ และก่อกวนเสถียรภาพ

อเมริกา “ได้เร่งการเตรียมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง” สำหรับการปฏิบัติการทางทหารในภูมิภาคนี้ พวกเขาระบุ

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาเหล่านี้ หวัง กับ ฟาง บอกว่า DF-26 จึงเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงความสำคัญที่สุดของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ถึงแม้ในการใช้งานจะมีความซับซ้อนซึ่งเรียกร้องต้องการ ข้อมูลสำหรับการสู้รบในระดับเครือข่ายจากอุปกรณ์เซนเซอร์จำนวนมากตลอดจนจากระบบอื่นๆ เพื่อใช้ในการเล็งเป้าหมายและทำการโจมตี

เมื่อหันมามองจากฝั่งของอเมริกา อาวุธใหม่ๆ ของจีนอย่าง DF-26 นี้ เท่ากับเป็นการยุติยุคสมัยอันยาวนานประมาณสิบปีซึ่งกองทัพสหรัฐฯคาดการณ์ว่า แทบไม่มีหรือกระทั่งไม่มีความเสี่ยงต่อพลังอำนาจของตนเลย “ยุคสมัยดังกล่าวนี้ได้จบสิ้นลงแล้ว” โธมัส มาห์นเคน (Thomas Mahnken) ผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยกองทัพจีน ของวิทยาลัยสงครามนาวีสหรัฐฯ (US Naval War College) กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างการประชุมซึ่งมีมูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) เป็นเจ้าภาพ

ทุกวันนี้ กองทัพสหรัฐฯกำลังพัฒนาการตอบโต้แบบอสมมาตร (asymmetric responses) ต่ออาวุธอย่างเช่น DF-26 ของจีน ซึ่งทางเพนตากอนเรียกชื่อว่า เป็นอาวุธ “ต่อต้านการเข้าถึง / ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่” (anti-access, area denial) ขณะที่ฝ่ายจีนเรียกว่าเป็นอาวุธ “ต่อต้านการเข้ามาแทรกแซง” (counter-intervention)

“จีนอยู่ในแถวหน้าอย่างแท้จริงทีเดียว ในการติดตามเพื่อให้ได้สมรรถนะการต่อต้านการเข้าแทรกแซงเหล่านี้บางแบบบางชนิด และนั่นก็กลายเป็นการท้าทายอย่างสำคัญต่อสหรัฐฯ” มาห์นเคน กล่าว

“จีนกำลังติดตั้งประจำการพวกสมรรถนะที่มุ่งป้องปรามสหรัฐฯและพันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่ให้ดำเนินปฏิบัติการในระยะประชิดจีน” เขากล่าวต่อ “การติดตั้งประจำการเหล่านี้กำลังทำให้ทางเรามีค่าใช้จ่ายโดยรวมอันมหาศาลยิ่ง และสมรรถนะเหล่านี้ก็ทำให้ปักกิ่งได้โมเมนตัม”

 

DF-26 ขีปนาวุธของจีน ที่ทำให้ สหรัฐฯ ต้องผวา

การตอบโต้ของเพนตากอนต่ออาวุธใหม่ๆ ของจีนเหล่านี้ เท่าที่ผ่านมายังอยู่ในระดับเพียงแค่พอประมาณ ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาวะขาดแคลนงบประมาณด้านกลาโหม ตลอดจนความเรียกร้องต้องการการสนับสนุนทางทหารในตะวันออกกลางเพื่อต่อสู้ปราบปรามลัทธิก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส)

การสั่งสมกำลังทหารของสหรัฐฯในเอเชียเท่าที่ผ่านมา อยู่ในรูปของการประจำการทหารจำนวนหลายพันคนในออสเตรเลีย, การนำเรือรบประเภทเรือสู้รบชายฝั่ง (Littoral Combat Ship ใช้อักษรย่อว่า LCS) เข้าประจำการในสิงคโปร์, และการเพิ่มเรือดำน้ำโจมตี ตลอดจนการหมุนเวียนส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 และ B-2 ไปยังเกาะกวมอยู่เป็นประจำ

ยังมีการวางแผนซึ่งกำหนดให้จัดส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีอีกหมู่หนึ่ง ซึ่งจะเป็นหมู่ที่ 2 เข้าไปประจำการในภูมิภาคนี้ในอนาคต

ผู้กำหนดนโยบายของเพนตากอนผู้หนึ่ง ออกมาพูดสรุปถึงบางขั้นบางตอนที่กองทัพสหรัฐฯกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากองกำลังของสหรัฐฯและของพันธมิตรยังคงสามารถเข้าถึงเส้นทางทะเลและท่าเรือต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกได้ แม้ต้องเผชิญกับการสั่งสมทางด้านขีปนาวุธและความแข็งกร้าวยืนกรานของฝ่ายจีน

อับราฮัม เอ็ม. เดนมาร์ก (Abraham M. Denmark) รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายเอเชียตะวันออก (deputy assistant defense secretary for East Asia) ออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กองกำลังสหรัฐฯจะไม่ยอมถูกบังคับให้ล่าถอยเมื่อต้องเผชิญกับอาวุธใหม่ๆ ของจีน

“ผมต้องการเน้นย้ำว่า ความมุ่งมั่นผูกพันกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมาประเมินค่าให้ต่ำกว่าความเป็นจริง” เดนมาร์ก กล่าว “ไม่ควรมีการมาตั้งคำถามข้อสงสัยกันเลยว่า วันนี้สหรัฐฯยังคงสามารถรักษาความเหนือกว่าอย่างเด็ดขาดในทางทหารเอาไว้ได้หรือไม่ รวมทั้งเรายังกำลังลงมือปฏิบัติการต่างๆ เพื่อการสงวนรักษาและส่งเสริมสนับสนุนพลังการป้องปรามที่มิใช่นิวเคลียร์ของเราในระยะยาว”

เขาประกาศด้วยว่า สิ่งที่สหรัฐฯจะโยกย้ายเข้ามายังเอเชียในทันที ประกอบด้วยอาวุธที่ดีที่สุดและที่ใหม่ที่สุดจำนวนหนึ่ง ในเวลาเดียวกัน สหรัฐฯก็กำลังหนุนหลังบรรดาพันธมิตรด้วยการจัดหาอาวุธให้และด้วยการให้ความสนับสนุนด้านข่าวกรอง

เดนมาร์กไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสมรรถนะใหม่ๆ ซึ่งวางแผนจะนำมาใช้ในเอเชีย แต่เขายืนยันหนักแน่นว่า กำลังทหารสหรัฐฯกำลังเพิ่มขึ้นทั้งทางด้านคุณภาพและทางด้านปริมาณ

แผนการต่างๆ ที่จัดวางเอาไว้นั้น เรียกร้องให้เอาชนะอาวุธไฮเทคของจีน ด้วยอาวุธใหม่ๆ และสมรรถนะทางทหารใหม่ๆ ซึ่งจะสามารถทำให้ความได้เปรียบที่ทำท่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของจีนกลายเป็นโมฆะไป

 

DF-26 ขีปนาวุธของจีน ที่ทำให้ สหรัฐฯ ต้องผวา