สมาชิกสมาคมอาเซียนและจีนแถลงว่า กรอบโครงดังกล่าวนี้เป็นเพียงเค้าโครงของแนวปฏิบัติที่จะได้หารือจัดทำกันขึ้นมา

สมาชิกสมาคมอาเซียนและจีนแถลงว่า กรอบโครงดังกล่าวนี้เป็นเพียงเค้าโครงของแนวปฏิบัติที่จะได้หารือจัดทำกันขึ้นมา แต่บรรดานักวิเคราะห์สถานการณ์ มองว่า การที่มิได้กำหนดวางเค้าโครงกันตั้งแต่ต้นว่าแนวปฏิบัตินี้จำเป็นที่จะต้องมีผลผูกพันทางกฎหมายอีกทั้งสามารถนำมาบังคับใช้ได้


คนนอกภูมิภาคไม่เกี่ยว!! “จีน – อาเซียน” จับมือจัดทำกรอบแก้ปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้  ตอกหน้า “สหรัฐฯ” อยู่นอกภูมิภาค ไม่เกี่ยว อย่ายุ่ง

บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนและจีน เห็นพ้องกันเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 6 สิงหาคม 2560 ในเรื่องกรอบโครงสำหรับการเจรจาเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ โดยกรอบโครงสำหรับการเจรจานี้ มุ่งหมายที่จะใช้ผลักดันความคืบหน้าของการปฏิบัติตามเอกสารที่เรียกว่า ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ซึ่งตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2002 ทว่าส่วนใหญ่แล้วถูกละเลยเพิกเฉยจากประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือจีน ซึ่งได้ถมทะเลสร้างเกาะเทียมขึ้นอย่างน้อย 7 แห่งแล้วในบริเวณน่านน้ำที่ยังพิพาทช่วงชิงกับผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ นอกจากนั้นแล้วจีนยังได้ก่อสร้างทางขึ้นลงของเครื่องบิน, ติดตั้งจรวดชนิดยิงจากภาคพื้นสู่อากาศ และระบบเรดาร์

โดยทางด้านสมาชิกสมาคมอาเซียนและจีนแถลงว่า กรอบโครงดังกล่าวนี้เป็นเพียงเค้าโครงของแนวปฏิบัติที่จะได้หารือจัดทำกันขึ้นมา แต่บรรดานักวิเคราะห์สถานการณ์ มองว่า การที่มิได้กำหนดวางเค้าโครงกันตั้งแต่ต้นว่าแนวปฏิบัตินี้จำเป็นที่จะต้องมีผลผูกพันทางกฎหมายอีกทั้งสามารถนำมาบังคับใช้ได้ รวมทั้งจะต้องมีกลไกสำหรับแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาท ด้วย ทำให้บังเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาว่าสิ่งที่จะเจรจาตกลงกันต่อไปนั้น จะมีประสิทธิภาพใช้งานได้จริงหรือไม่




ทางด้าน หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน แถลงภายหลังการหารือกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน ว่า การเห็นพ้องรับรองกรอบโครงนี้ เป็นการสร้างพื้นฐานอันหนักแน่นมั่นคงสำหรับการเจรจากันต่อไปซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มต้นได้ภายในปีนี้ หาก สถานการณ์ในทะเลจีนใต้มีเสถียรภาพ และไม่มีการแทรกแซง จากฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ภายนอกภูมิภาค

คนนอกภูมิภาคไม่เกี่ยว!! “จีน – อาเซียน” จับมือจัดทำกรอบแก้ปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้  ตอกหน้า “สหรัฐฯ” อยู่นอกภูมิภาค ไม่เกี่ยว อย่ายุ่ง
 

ขณะที่ทางด้าน อาเซียนล้มเหลวไม่สามารถออกคำแถลงร่วมตามธรรมเนียมปฏิบัติภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของพวกเขากันเองที่กรุงมะนิลาเมื่อวันเสาร์ ที่ผ่านมา โดยที่พวกนักการทูตระบุว่าเนื่องจากเหล่าชาติสมาชิกมีความเห็นแตกต่างกัน ในเรื่องจะใช้ถ้อยคำอย่างไรในการอ้างอิงพูดถึงเรื่องที่จีนเสริมสร้างสมรรถนะทางทหารบนเกาะเทียมหลายแห่งซึ่งสร้างขึ้นในน่านน้ำพิพาทในทะเลจีนใต้

แต่แถลงการณ์ ได้ออกมาเมื่อคืนวันอาทิตย์ โดย บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนตกลงใช้จุดยืนที่แข็งขึ้นกว่าเก่า ทั้งนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์ร่วมที่เห็นพ้องกันได้ในที่สุดเมื่อวันอาทิตย์ ได้พูดถึงทะเลจีนใต้ โดยตอกย้ำถึงความสำคัญของการไม่เสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารและของการยับยั้งชั่งใจตนเอง

ขณะที่หลายประเทศ ได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับการถมทะเลสร้างเกาะเทียม ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้ลดทอนความไว้วางใจและความเชื่อมั่น, เพิ่มพูนความตึงเครียด และอาจจะบ่อนทำลายสันติภาพ, ความมั่นคง และเสถียรภาพ





 

การที่อาเซียนประสบภาวะไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้เช่นนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาค แห่งนี้ ในจังหวะเวลาเดียวกับที่มีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญด้านความมั่นคงของคณะบริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าสหรัฐฯ ยังคงมีความพยายามที่จะทัดทานกิจกรรมทางทะเลต่างๆ ของจีนต่อไปอีกหรือไม่

พวกนักการทูตอาเซียนจำนวนมากกล่าวว่า ในบรรดาชาติสมาชิกซึ่งผลักดันให้แถลงการณ์คงส่วนประกอบที่ค่อนข้างแสดงความไม่พอใจจีนเอาไว้ต่อไปนั้น ที่โดดเด่นกว่าเพื่อนคือเวียดนาม ขณะที่กัมพูชายังคงแสดงตนเป็นผู้คอยแก้ต่างให้ปักกิ่ง

มีนักการทูตอาเซียนอีกผู้หนึ่งซึ่งยืนยันว่า แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดความไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับเนื้อหาของแถลงการณ์ เพียงแต่ว่ามีชาติสมาชิกบางรายเห็นว่าในฉบับร่างยังใช้ถ้อยคำที่อ่อนเกินไป