ปปง.อายัดทรัพย์เป็นสิทธิ์เรียกร้องในหนี้คดีคลองด่าน 2 งวด เป็นเงินกว่า 4,700 ล้านบาทไทย และ 32 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา

ปปง.อายัดทรัพย์เป็นสิทธิ์เรียกร้องในหนี้คดีคลองด่าน 2 งวด เป็นเงินกว่า 4,700 ล้านบาทไทย และ 32 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา

วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 เวลา 09.00 น. พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงาน ปปง. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า   จากผลคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญา       ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ได้พิพากษาลงโทษนายวัฒนา อัศวเหม ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ลงโทษจำคุก 10 ปี ฐานใช้อำนาจข่มขู่ หรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบจำนวน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์และที่ทิ้งขยะซึ่งเป็นที่หวงห้ามเพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ และศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.4197/2558  ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ซึ่งพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามประกอบด้วย นายปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จำเลยที่ 1 นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จำเลยที่ 2 และ นางยุวรี อินนา อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน ทำให้รัฐจัดซื้อที่ดินที่ออกโดยมิชอบ ต้องจ่ายค่าที่ดินและค่าก่อสร้างโครงการ และไม่สามารถดำเนินโครงการเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ และจากกรณีดังกล่าวมีกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ คือกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ที่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการวางแผนและการดำเนินการตามแผนเพื่อเอื้อประโยชน์หลายขั้นตอน

ทั้งนี้ ศาลอาญาตามคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.4197/2558 นี้ ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า “กิจการร่วมค้า NVPSKG และกลุ่มเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับกรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกันบิดเบือนข้อเท็จจริง ดำเนินการเสนอเข้าประกวดราคาในแต่ละขั้นตอน โดยทุจริต  โดยมีจำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกับ   ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยเลือกดำเนินการแต่ละขั้นตอนไปในทางที่ขัดต่อระเบียบทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี และไม่ชอบด้วยกฎหมาย สนองรับดำเนินการให้อันเป็นการทุจริต และเอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือจนทุกขั้นตอนบรรลุผลสำเร็จ” จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทุจริตของอธิบดีและเจ้าหน้าที่ กรมควบคุมมลพิษ ในขณะนั้น สมคบกับกิจการร่วมค้าในทุกขั้นตอนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนดังกล่าวได้เข้ามาเป็นคู่สัญญา จึงเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งมีผลในทางกฎหมายให้สัญญาดังกล่าวเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น เสมือนไม่มีการทำสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเลย

 

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.)  ได้มีหนังสือ ที่ ปช 0001.10/0004 ลงวันที่ 27 เมษายน 2559 ส่งข้อมูลกรณีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตต่อหน้าที่มายังสำนักงาน ปปง. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีหนังสือที่ ตผ 0005/0421 ลงวันที่ 27 เมษายน 2559  ขอให้สำนักงาน ปปง. ใช้อำนาจยึดหรืออายัดผู้ร่วมกระทำความผิดคดีคลองด่าน

 

สำนักงาน ปปง. ดำเนินตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม กรณีนี้จึงมีเหตุอันควรน่าเชื่อว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG กับพวก ซึ่งเข้ายึดถือ ครอบครอง และแสวงประโยชน์จากที่ดินสาธารณประโยชน์ที่เป็นคลองสาธารณะที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง และเป็นที่ทิ้งขยะของทางราชการ ที่ออกโฉนดมาโดยมิชอบ เป็นผู้มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะในทาง    การค้า อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3(15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

 

นอกจากนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG กับพวก ยังได้มีส่วนร่วมเป็นผู้สนับสนุน หรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และได้รับประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สิน จากการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ของนายวัฒนา  อัศวเหม      กับพวก และนายปกิต  กิระพานิช  กับพวก ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นความผิดมูลฐาน      ตามมาตรา 3 (5)  แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

 

ดังนั้น ในที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2559 จึงได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ในการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากโครงการออกแบบร่วมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ  จังหวัดสมุทรปราการ  ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามข้อตกลงที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องจ่ายให้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG จำนวน  2 งวด โดยให้มีผลในวันที่ครบกำหนดชำระในแต่ละงวด ประกอบด้วย

1) สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินงวดที่ 2  เป็นเงินจำนวน 2,380,936,174.53  บาท  และ 16,288,391.55  เหรียญสหรัฐอเมริกา  ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม  2559 เป็นต้นไป

2) สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินงวดที่ 3  เป็นเงินจำนวน 2,380,936,174.53 บาท และ 16,288,391.55  เหรียญสหรัฐอเมริกา ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559  เป็นต้นไป

รวมมูลค่าตามสิทธิเรียกร้องในหนี้ จำนวน 4,761,872,349.06 บาท และ 32,576,783.10 เหรียญสหรัฐอเมริกา

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม กรณีปานามาเปเปอร์ส  ตามที่เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists:ICIJ) ได้มีการประกาศรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 นั้น สำนักงาน ปปง. ได้ตรวจสอบจากฐานข้อมูลเว็บไซต์ของ ICIJ พบว่า มีการประกาศรายชื่อจำนวนมาก ซึ่งที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย มีทั้งสิ้น 637 ราย จำแนกเป็น     นิติบุคคล 51 รายชื่อ บุคคลไทย 203 รายชื่อ และชาวต่างชาติ 383 รายชื่อ ซึ่งหากนำข้อมูลรายชื่อครั้งนี้เปรียบเทียบกับฐานข้อมูล ของ ICIJ ครั้งแรกที่มีการประกาศและมีรายชื่อคนไทยกว่า 780 รายชื่อนั้น พบว่าเป็นรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลไม่ซ้ำกับ ครั้งที่ 2 แต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. จะดำเนินการตรวจสอบบุคคลและนิติบุคคลทั้ง 637 รายชื่อ (ตามประกาศครั้งที่ 2 ของ ICIJ ซึ่งระบุว่าเป็นข้อมูลจาก ปานามา เปเปอร์ส) หากพบว่าบุคคลหรือนิติบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน จึงจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป อนึ่ง สำหรับรายชื่อคนไทย 16 คน ที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ ได้ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีรายชื่อปรากฏในฐานข้อมูล ICIJ ครั้งที่ 2 แต่อย่างใด

 

ขณะนี้ สำนักงาน ปปง. ดำเนินการจัดทำ “แบบคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน” ทั้งแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษเรียบร้อยแล้ว ผู้เสียหายสามารถดาวน์โหลดแบบดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th หรือ มารับได้ที่ส่วนรับเรื่องเรียน กองสื่อสารองค์กร สำหรับผู้เสียหายที่เป็นชาวต่างประเทศ หากมีความประสงค์จะยื่นคุ้มครองสิทธิดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องภาษาอังกฤษได้ ทั้งนี้จะต้องแปลเป็นภาษาไทยและต้องรับรองลายมือชื่อจากกระทรวงการต่างประเทศหรือโนตารี พับลิค (NOTARY PUBLIC)   แนบมาพร้อมหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ประกอบการยื่นคำร้องด้วย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน ปปง. 1710 และเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th

ปปง.อายัดทรัพย์เป็นสิทธิ์เรียกร้องในหนี้คดีคลองด่าน 2 งวด เป็นเงินกว่า 4,700 ล้านบาทไทย และ 32 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา