นับถอยหลังวันชี้ขาดลงประชามติ 7 สิงหาคม รับ-ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ

และอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามนั้นคือการทำประชามติ เพราะเหลือเวลาเพียงสองเดือนเท่านั้น ก็จะถึงวันที่ 7 สิงหาคม

และอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามนั้นคือการทำประชามติ เพราะเหลือเวลาเพียงสองเดือนเท่านั้น ก็จะถึงวันที่ 7 สิงหาคม

แต่ที่เป็นประเด็นในช่วงนี้คงจะเป็น กรณีที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงผลการประชุมอย่างเป็นมติเอกฉันท์ว่ามาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) มาตรา 4 พร้อมส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ผลออกมาว่าอย่างไรก็ตามนั้น ถ้ามันขัดแย้งต้องเลื่อนการลงประชามติออกไปก็ต้องเลื่อน ตนไม่ได้ว่าอะไร แต่ถ้าเลื่อนอย่ามาบอกว่าตนเป็นคนสั่งเลื่อนแล้วกัน

ต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เขาไปฟ้องแล้วว่าอย่างไร ต้องถามศาลที่จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งตนไม่รู้ว่าจะพิจารณาเมื่อไร ถึงเวลานั้นค่อยว่ากันจะเอาอย่างไร ทำไมต้องมาถามดักหน้าดักหลังอย่างนี้ มันก็จะไม่ผ่านกันพอดีทุกเรื่อง ถ้าเขาไปฟ้องแล้วศาลตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเลื่อนการทำประชามติออกไป ไม่ใช่ตนเป็นคนสั่งเลื่อน นี่คือข้อแรก และข้อสอง ศาลจะพิจารณาเมื่อไร ทันก่อนวันที่ 7 ส.ค.หรือไม่ ถ้าทันแล้วผิดก็ต้องหยุด ถ้าไม่ผิดก็ทำต่อ มันก็มีคำตอบแค่นี้ แต่อยู่ดีๆ จะให้ตนไปสั่งเลื่อน โดยที่ยังไม่เกิดอะไรสักอย่าง แค่มีคนไปฟ้องมันไม่ได้ แบบนั้นตนไม่ใช้

ถ้าอย่างนั้นการจำนำข้าวผมก็สั่งเลยสิ ไม่ต้องรอศาล ให้ผมใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เลยสิ จะได้ติดคุกกันให้หมด เอาไหม ตอนนี้ให้สู้คดีกันอยู่ก็สู้ไปสิ ต้องเข้าใจในภาพรวมด้วย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ต้องไปถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง อย่ามาถามตน เพราะกกต.เป็นผู้บังคับใช้ ส่วนที่หวั่นเกรงว่ามาตราดังกล่าวจะสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งนั้น ตนยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้ง หากกกต.ชี้แจงออกมาเป็นอย่างไรต้องว่าไปตามนั้น เพราะเป็นหน้าที่ต้องดำเนินการในการทำประชามติ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วง

เมื่อถามต่อว่าส่วนการแสดงความคิดเห็นของนักการเมือง นักวิชาการต่อการทำประชามติที่ปิดกันการแสดงความคิดเห็นนั้น รองนายกฯประวิตร กล่าวว่า ไม่มีอะไรหรอก นักวิชาการก็คือนักวิชาการ ชอบวิเคราะห์วิจารณ์ไปตามหลักการ แต่เวลานี้บ้านเมืองอยู่ในช่วงวิกฤตเราต้องการทำให้เกิดความสงบ เพื่อไปสู่การทำประชามติ มีการเลือกตั้ง หากร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องมีขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงหรอก รอให้ได้รัฐธรรมนูญก่อนอยากจะทำอะไรก็ทำไปเลย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า มาตราดังกล่าวกำหนดการกระทำไว้ 6 อย่างที่มีความผิด ประกอบด้วย นำเสนอข้อมูลเป็นเท็จ ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม และข่มขู่ โดยสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลพิจารณา เนื่องจากติดใจ 3 คำคือ ก้าวร้าว รุนแรง และหยาบคาย แปลว่าอะไร คลุมเครือหรือทำให้คนไม่เข้าใจจนอาจปฏิบัติตามไม่ถูก ซึ่งหากวินิจฉัยว่าทั้ง 3 คำหรือคำใดคำหนึ่งในนั้นไม่ถูกต้องจะต้องตัดออกไปเฉพาะคำๆ นั้น ไม่ต้องไปแก้ไขในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วน 3 คำที่เหลือคือ ข้อมูลเป็นเท็จ ปลุกระดม และข่มขู่ก็ยังอยู่ ไม่กระทบใดๆ กับพ.ร.บ.ทั้งฉบับ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทั้ง 3 คำไม่ขัดถือว่าจบ ดังนั้น ยืนยันไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไรจะไม่กระทบต่อการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติแต่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาภายหลังว่าขัดรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีผลอะไร ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง จะเกี่ยวเฉพาะคนที่ถูกจับเข้าข่าย 3 คำดังกล่าว ไม่กระทบภาพรวมทั้งหมด ต่อให้ปลุกระดมก็ไม่กระทบ เพราะการทำประชามติต่างจากการเลือกตั้ง ถ้าเกิดการทุจริตอาจจะกระทบทั้งประเทศ แต่ประชามติต่อให้มีการทุจริตจะไม่กระทบทั้งประเทศ จะกระทบเฉพาะบางหน่วยเท่านั้น ให้ลงประชามติใหม่เฉพาะหน่วยที่มีปัญหา

เมื่อถามว่า มีข้อกังวลว่าการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลครั้งนี้ส่อเป็นการล้มประชามติหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ ไม่เกี่ยว แต่ที่นายกฯปรารภด้วยความเป็นห่วงคือ กลัวคนจะไปคิดว่าประชามติจะไม่มีแล้วถ้าเกิดศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ และคนอาจคิดว่าลงมือทำอะไรได้หมด เพราะทั้งคำว่า รุนแรง ก้าวร้าว และหยาบคายมันไม่มีเสียแล้ว และพอถึงเวลาจะเบรกกันไม่อยู่แล้ว เพราะไม่รู้ว่าทั้ง 3 คำขอบเขตมันขนาดไหน จะทำให้เกิดชนวนความไม่สงบอย่างอื่นตามมา ตรงนั้นน่ากลัว จะกระทบต่อความสงบทั้งประเทศ แต่ภาวนาหวังให้ไม่ถึงขนาดนั้น ทุกคนระมัดระวังตัวเอง ความจริงมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คุมอยู่แล้ว

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าตนเคารพการดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามวันที่ กกต.กำหนดให้ทำประชามติก็คือวันที่ 7 ส.ค.หรือภายใน 90- 120 วัน หลังจากวันที่ กกต.ได้รับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถเลื่อนเป็นวันอื่นได้ ถ้าจะเลื่อนก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เสียก่อน

นายมีชัยกล่าวต่อว่าตนคิดว่ามาตรา 61 นั้นไม่ได้มีผลกับการทำประชามติ ถ้าไม่มีมาตรานี้ก็สามารถทำประชามติได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีมาตรา 61 อาจจะมีผลว่าถ้ามีผู้ที่บิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่มีกฎหมายเอาผิดในส่วนนี้ ทั้งนี้ตนไม่เห็นเหตุผลที่ผู้ตรวจการฯจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความ เพราะสิ่งที่คณะกรรมการเลือกตั้ง ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการมาตรา 61 ว่าการกระทำใดเป็นการกระทำที่ก้าวร้าว หยาบคาย ตรงนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าหากไม่ทราบความหมาย ก็สามารถไปเปิดพจนานุกรมดูได้ แต่ทั้งนี้ขอย้ำว่าอย่าไปกังวลมาก เพราะทั้งหมดก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งตนคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีเหตุผลรู้ว่ากฎหมายต้องเอามาใช้เมื่อไร แต่ตอนนี้มาตรา 61 วรรค 2 ยังมีผลอยู่ และผู้ละเมิดก็ต้องถูกรับโทษ

คาดว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามาตรา 61 วรรค 2 ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็คงจะไม่มีผลเฉพาะกับผู้ที่เคยถูกศาลตัดสินให้รับโทษจากการละเมิดกฎหมายนี้ แต่ผู้ที่ยังไม่เคยถูกศาลตัดสินลงโทษ ก็จะไม่มีผลแต่อย่างใด เพราะกฎหมายใช้ไม่ได้แล้ว แต่เท่าที่ตนดูจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เคยมีใครถูกลลงโทษจากการละเมิดมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติแต่อย่างใด

ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะกระทบกับการออกเสียงประชามติแน่นอน จึงเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง สนช. และรัฐบาล ต้องกลับมาพิจารณาว่ากฎหมายที่มีอยู่ สามารถดำเนินการให้การออกเสียงประชามติเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือได้ไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 ที่ต้องเป็นโมฆะ

เช่นเดียวกับ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เตือนให้ กกต.หาช่องทางรองรับหากศาลรัฐธรรมนูญตีความให้พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่า กกต.ไม่ต้องเตรียมวิธีการรองรับเนื่องจากสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเป็นเพียงวรรคเดียวใน พ.ร.บ.ประชามติ จึงมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการออกเสียงประชามติ และไม่จำเป็นต้องเลื่อนการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.59 จะมีแน่นอน

 

หากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นระหว่างวันออกเสียงประชามติก็ต้องเป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่จะต้องดูแล

ด้านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประชามติขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามมติที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณา โดยในเบื้องต้นทางสำนักงานได้ดำเนินการร่างคำฟ้องเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทั้ง 3 คน พิจารณาและลงนาม ที่คาดว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จและส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ทันตามที่กำหนดไว้ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องให้เวลากับผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้ง 3 ได้พิจารณา เพื่อความรอบคอบ

สนช.พร้อมรองรับหากต้องการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และรัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้ให้กลไกและอำนาจในการหาทางออกไว้แล้ว แต่อยากเตือน กกต. ให้เตรียมพร้อมหาทางออกรองรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากต้องเลื่อนการออกเสียงประชามติออกไป หรือหากจำเป็นต้องใช้อำนาจมาตรา 44 ก็เป็นดุลพินิจ ของ คสช. ในการแก้ไขปัญหานี้

ยิ่งใกล้วันลงประชามติก็จะมีหลายส่วนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงแสดงสัญลักษณ์ ยกตัวอย่าง การสวมเสื้อที่มีข้อความ "รับไม่รับเป็นสิทธิ์ไม่ผิดกฎหมาย"

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ การแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น ผิดตามกฎหมายประชามติ อย่างชัดเจน เพราะตัวหนังสือ รับมีขนาดแทบมองไม่เห็น ไม่ต่างกับ small print ในฉลากยา หรือคนที่เล่นเว็ปไซต์จะทราบดี ก่อนจะให้ดาวน์โหลดอะไรเขาจะให้คนที่ดาวน์โหลดยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่มีเป็นสิบหน้า แต่ใครจะอ่านทั้งหมด ถือเป็นเจตนาที่ต้องการให้คนเข้าใจ หรือบีบบังคับให้คนดาวน์โหลดเชื่อไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้บริการ เช่นเดียวกับส่วนที่ปรากฏข้อความ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญขนาดใหญ่ ส่อให้เห็นเจตนาของผู้สวมใส่เสื้อ หรือผู้ผลิตเสื้อที่ต้องการ "ชักจูงใจ" ให้ผู้พบเห็นสะดุดตากับคำว่า "ไม่รับ" ดังนั้น หากหน่วยราชการผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องการพยานผู้เชี่ยวชาญในกรณีนี้ยินดีรับเชิญ

ไม่เพียงเท่านั้นฝ่ายการเมืองก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อยู่บริหารบ้านเมืองไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่คสช.และรัฐบาลชุดนี้วางไว้ไปอีก 20 ปีข้างหน้า คนไทยคงได้ยินท่านไปพูดในที่ประชุมจี 77 เมื่อวานนี้ (1 มิถุนายน) ว่าจะไม่ลงจากตำแหน่งหากบ้านเมืองยังไม่สงบ ถ้าอย่างนั้น นายกฯ ก็อยู่ยาวไปเลยเพราะมีกลไกตามรัฐธรรมนูญรองรับไว้ให้แล้วเพราะแม้จะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่หากผ่านการทำประชามติอย่างไรเสียก็ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์และคสช. วางไว้ให้เดินอยู่แล้วและท่านเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่ารัฐบาลต้องบริหารประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติที่พวกท่านกำหนดไว้ล่วงหน้า และดูเหมือนว่าแนวทางที่คสช.และร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในขณะนี้จะเข้มข้นจนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่สามารถทำงานอย่างเป็นอิสระได้เท่าที่ควร เพราะขั้นตอนที่จะดำเนินนโยบายของตนเองก็คงจะทำได้ยากลำบากติดกรอบต่างๆเต็มไปหมด พูดง่ายๆว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็ต้องขออนุญาตหรือจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาในระยะเปลี่ยนผ่านก็มีส.ว.แต่งตั้งจากท่านถึง 250 คน ต้องผ่านการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระต่างๆที่จะมีบทบาทสูงขึ้นกว่าในอดีต

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ส่วนตัวเห็นว่า กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่งไปจะสับสนเปล่าๆ การตีความข้อร้องเรียน ว่าขัด หรือไม่ขัดกับ พ.ร.บ.ประชามติ นั้น ศาลยุติธรรมมีหน้าที่วินิจฉัยตามกระบวนการอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวล ตนไม่รู้เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้แล้วจะวินิจฉัยอย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะตีความให้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความ อาจจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะคำบางคำ อาจต้องมีการกระทำ กิริยา เข้าไปประกอบด้วย จึงจะตีความได้ว่า ผิดหรือไม่ ตนว่าให้กระบวนการทำประชามติเดินไปดีกว่า มันไม่ใช่เรื่องการถ่วง หรือดึงเวลาอะไร แต่เดี๋ยวมีคนสงสัยมาตราอื่นๆ แล้วไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกมันจะวุ่นวาย.