เมื่อ คสช.ไม่ให้ตั้งศูนย์ปราบโกง ถ้า นปช.ไม่ยอม 19 มิ.ย.จะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อ คสช.ไม่ให้ตั้งศูนย์ปราบโกง ถ้า นปช.ไม่ยอม 19 มิ.ย.จะเกิดอะไรขึ้น

นับถอยหลังสู่วันที่ 19 มิถุนายน 2559 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ก็ยังคงยืนยันที่จะจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ขณะที่ คสช.ก็ยืนยันผ่านคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายครั้งว่าจะไม่ให้ตั้งและถ้าหากมีการกระทำความผิดก็จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด

เพราะฉะนั้นก็ต้องจับตามองกันต่อไปว่าในวันที่ 19 นี้จะมีการจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการอยู่หรือไม่

เริ่มกันที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. นางธิดา ถาวรเศรษฐ และคณะ เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายลอเรนต์ มีเลียน ผู้ประสานงานสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ

โดยนายจตุพร กล่าวว่า ในนามศูนย์ปราบโกงประชามติได้เปิดแฟนเพจเฟซบุ๊กของศูนย์ฯ เพื่อรายงานสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ได้ปฏิบัติในช่วงการทำประชามติ เพื่อแจ้งไปยูเอ็นทราบสถานการณ์ประเทศ ทั้งตนไม่เคยมองว่ายูเอ็นเป็นข้าศึก และไม่ได้เป็นการชักศึกเข้าบ้านเลย ถ้าคสช.มองแบบนั้นควรไปลาออกจากสมาชิกภาคี ขณะนี้ทางทหาร และตำรวจทั่งประเทศได้มีการเรียกตัวแกนนำศูนย์ฯแต่ละจังหวัด โดยมีการยึดป้ายขู่ดำเนินคดี โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นวันที่17 มิถุนายน ที่จังหวัดปราจีนบุรี ทางเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวแกนนำ โดยไม่ทราบว่านำไปไว้ที่ใด อีกทั้งยังมีการงัดสถานที่ทำการศูนย์ฯ และทหารนำเอากุญแจชุดใหม่ล็อกไว้

เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ เป็นเพราะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดลักษณะสั่งการว่าศูนย์ฯนี้ผิดกฎหมาย ทั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ระบุว่าทำได้

นายจตุพร กล่าวต่อว่า ตนยืนยันว่า ในวันที่ 19 มิถุนายน เวลา 10.00 น. นปช.จะเดินหน้าตั้งศูนย์ฯต่อไป โดยขอแจ้งประชาชนทุกพื้นที่ ถ้ามีเจ้าหน้าที่จะมายึดป้ายอย่าไปขัดขวาง เพราะคสช.จะได้เพียงแค่ป้าย แต่ไม่สามารถได้หัวใจประชาชน เมื่อความวิตกจริตเผด็จการที่คุกคามประชาชน

ตนจึงมีความจำเป็นให้ยูเอ็น เจ้าหน้าที่ทุกสถานทูต องค์กรสิทธิมนุษยชนทุกองค์กร รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ติดตาม และสังเกตการณ์เปิดศูนย์ ในวันดังกล่าว

ตนขอร้องว่าถ้าเห็นว่าการกระทำนี้ผิดกฎหมาย ก็อย่าไปจับกุมแกนนำในแต่ละจังหวัดเลย ขอให้คสช.มาจับพวกผมได้ตลอด เพราะพร้อมเสมอ

ขณะที่นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกไม่เข้าใจสถานการณ์การทำประชามติในประเทศไทย เพราะปกติต้องเปิดกว้าง แต่บ้านเรามี พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ที่ทำให้การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจเท่านั้น แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะขัดกับหลักแต่มีผลบังคับใช้แล้ว ก็ขอให้บังคับกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เช่นนั้นนานาชาติจะไม่เข้าใจ ทั้งที่ศูนย์ปราบโกงยังไม่เปิดเป็นทางการ แต่ได้มีการดำเนินคดีกับพวกตนเยี่ยงผู้กระทำผิด

ดังนั้นตนขอให้ผู้มีอำนาจทบทวนว่าจะให้การออกเสียงประชามติเกิดขึ้นโดยถูกกดใต้อำนาจ หรือจะให้เสรีภาพเพื่อการออกเสียงประชามตินี้มีความชอบธรรม ทั้งนี้

ตนยืนยันว่าการเปิดศูนย์ฯนี้ไม่ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งจะเดินหน้าต่อไป รวมทั้งยืนยันว่านปช.จะไม่เตรียมมวลชนมาผลักดันกับเจ้าหน้าที่รัฐ ขอเพียงแค่ได้รับความเข้าใจจากทั่วโลก

ขณะที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กรมน.จังหวัดพัทลุง และตำรวจโรงพักควนขนุน กว่า 30 นาย ได้เข้าพบปะพูดคุยเจรจากับ พ.อ.ทวี แก้วกลับ หัวหน้า นปช.พัทลุง ในพื้นที่ อ.ควนขนุน เพื่อขอไม่ให้เปิดศูนย์ปราบโกงลงประชามติ แต่หลังจากการพูดคุยและใช้มาตรการข่มศึก ก็ยังไม่สามารถพูดคุยตกลงกันได้ โดยทางกลุ่มคนเสื้อแดงยังจะเปิดศูนย์ดังกล่าวต่อไป

 

และเช่นเดี่ยวกันที่ นายกู้ชาติ ชายเกตุ อยู่บ้านเลขที่ 221 ม.8 ต.ลำสินธ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เลขานุการ นปช.ประจำจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นแกนนำในการเปิดศูนย์ปราบโกงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใน 7 ส.ค.59 ซึ่งรัฐบาล คสช.สั่งห้ามมีเด็ดขาดนั้น จากการพูดคุย นายกู้ชาติ ชายเกตุ ไม่ยอมรับหลักการในการเจรจาและจะคงเปิดศูนย์ปราบโกงการลงประชามติในวันที่ 19 มิ.ย.59 คงเดิม ตามที่ประธาน นปช.กำหนดมาให้เปิดทั่วประเทศพร้อมกัน

ขณะที่ทางฝากฝั่งของรัฐบาลนั้นก็ได้ออกมาพูดถึงประเด็นการที่นปช.นั้นจะตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ โดยได้มีการเน้นย้ำว่าไม่สามารถที่จะเปิดศูนย์ได้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีแกนนำนปช.เตรียมยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาประชาชาติ (ยูเอ็น) เรื่องการขอตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ว่า ยื่นก็ยื่นไป ก็เป็นเรื่องของท่าน แต่ตนได้บอกแล้วว่า ไม่สามารถเปิดศูนย์นี้ได้ เพราะจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในประเทศ จึงขอร้องไม่ให้เปิดศูนย์ดังกล่าวขึ้น หากมีการเปิดขึ้นจริงก็เอากฎหมายมาบังคับใช้ และใครรู้จักนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ก็ฝากไปบอกเขาด้วย

ส่วนกรณีที่แกนนำและสมาชิกพรรคเพื่อไทยทำอินโฟกราฟฟิกรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากเห็นว่ามีความผิดก็จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ส่วนจะขัดต่อคำสั่ง คสช.57/2557 ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมพรรคหรือไม่ ทางคสช.ได้ให้อำนาจ กกต.ไปแล้ว หากเห็นว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.)แถลงข่าว กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ยืนยันจะเดินหน้าตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติว่า มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว ส่วน คสช.ดูภาพรวมทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย อะไรที่ไม่ชัดเจน หรือมีผลทำให้สังคมเข้าใจผิด หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง เจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ต้องเข้าไปดูแล และต้องใช้ดุลพินิจว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

ส่วนจะสามารถตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติได้หรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามแนวทางผู้บังคับบัญชา เพราะขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลว่าตั้งได้หรือไม่ได้ แต่ในมุมของเจ้าหน้าที่จะพิจารณาดูว่าการรวมกลุ่ม และร่วมทำกิจกรรมมีรูปแบบองค์ประกอบ เข้าข่ายการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ให้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ในนามธรรม ในการใช้คำพูดการสื่อสาร เราไม่ได้มองแค่การใช้ชื่อ คงต้องดูองค์ประกอบ พฤติกรรมร่วมด้วย

ด้าน พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ระบุถึงความพยายามตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติฯ ของ กลุ่มนปช. ว่า กลุ่มเคลื่อนไหวเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลมาก่อน การดำเนินการใดๆ ก็ต้องระมัดระวัง และเป็นบุคคลที่เคยลงนามกับคสช.ไว้ตามคำสั่งที่39/57 หากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็อาจขัดต่อกฎหมาย โดยในส่วนของ คสช.ได้ให้ฝ่ายกฎหมาย ติดตามการตั้งศูนย์ฯของนปช.อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ นัยยะสำคัญ ซึ่ง คสช. ได้ลงพื้นที่ชี้แจงการทำประชามติอย่างต่อเนื่อง และได้ย้ำกับประชาชนว่า การดูแลปัญหาทุจริตประชามติ มีกกต.ดูแลอยู่แล้ว ทั้งนี้ กกต. ได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจฯ หน่วยทหารในพื้นที่ ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอย่างเข้าไปร่วมเคลื่อนไหว หรือตกเป็นเครื่องมือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะถ้ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดีและก็จะถูกทอดทิ้ง

ขณะที่ประเด็นที่ 17 แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นั้น ทางกกต.ได้ออกมาระบุว่าไม่ผิดกฎหมายแต่สิ่งที่ระบุอยู่บนข้อเท็จจริง

นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการมีส่วนร่วมให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแกนนำพรรคเพื่อไทยโพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตนวินิจฉัยไมได้ เพราะ พ.ร.บ.ประชามติรองรับการแสดงความคิดเห็นที่สุจริตบนข้อกฎหมาย ซึ่งยังไงก็ไม่ผิด แต่ผู้แสดงความคิดเห็นต้องรับผิดชอบ ว่าไม่ได้บิดเบือน หลอกลวง และอยู่บนข้อเท็จจริง ซึ่ง สนช.ก็อธิบายมาตลอดว่าต้องการเห็นความสงบเรียบร้อย การทำประชามติในครั้งนี้มีระยะเวลายาวนานกว่าการทำประชามติปี 50 ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ และในช่วงนั้นไม่มีไลน์ ไม่มีเฟซบุ๊ก ที่เปิดกว้างมากขึ้น ดังนั้นคนที่แสดความคิดเห็นใดๆ ต้องรับผิดชอบและแสดงความเห็นบนความเป็นจริง ซึ่งที่ผ่านมาก็แสดงความเห็นได้เรียบร้อยดี

ส่วนนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงกรณีแกนนำพรรคเพื่อไทยโพสต์ข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และความพยายามเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในส่วนของภูมิภาค ว่า เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพที่แต่ละฝ่ายมีและสามารถทำได้ โดยเนื้อหาที่แสดงออกต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและต้องไม่ขัดต่อมาตรา 61

       

ทั้งนี้ ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำในลักษณะนี้เป็นไปในระบบพรรค ต้องระวังอาจขัดคำสั่ง คสช. เรื่องการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ฝากถึงประชาชนพิจารณาข้อมูลอย่างมีสติในการรับข้อมูลข่าวสาร

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุการที่พรรคเพื่อไทยโพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกัน อาจเข้าข่ายขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีโทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรคการเมือง ทาง คสช.มีอำนาจในการยุบพรรคได้หรือไม่ ว่า ถ้าจับประเด็นที่ถามว่า คสช.มีอำนาจหรือไม่ ตอบว่ามี คำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 นั้น ทำอะไรก็ได้อยู่แล้ว ถ้าตอบว่าไม่ได้จะเป็นการโกหก แต่ต้องออกคำสั่งอีกครั้งหนึ่ง และต้องมีเหตุผล ไม่ใช่ว่านึกจะออกก็ออก ส่วนจะทำหรือไม่ตนไม่ได้บอกว่าจะทำ    

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องรุนแรงขนาดไหนถึงจะมีเหตุผลในการออกคำสั่งยุบพรรค นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขอตอบ เพราะตนยังไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องว่าขณะนี้มีพฤติกรรมอะไรบ้าง การออกคำสั่งต้องมีหลักเกณฑ์และเหตุผล เมื่อถามว่า การที่ กกต.ออกมาให้ความเห็นดังกล่าวเหมือนเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดความปั่นป่วนรุนแรงในการแสดงความเห็นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า นั่นเป็นส่วนของ กกต.ที่ทำหน้าที่ดูแลกฎหมายประชามติ เขาคงพิจารณาแล้วว่าจำเป็นจะต้องเตือน

ต่อข้อถามว่า ที่พรรคเพื่อไทยออกมาโพสต์ข้อความลักษณะนี้หลายๆ คน จะถือเป็นการปลุกระดมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ไม่วินิจฉัยว่าทำอย่างนี้คืออะไร เพียงแต่ถ้าเจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นก็ดำเนินการได้ หากเรื่องไปถึงศาลแล้วศาลบอกว่าไม่เป็น ก็ไม่ฟ้องเท่านั้นเอง ทั้งนี้ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวมีเยอะ เจ้าหน้าที่มีอำนาจตั้งข้อหาก็ตั้ง และดำเนินการไปตามขั้นตอนของศาลได้

ดังนั้น ไม่ใช่เหตุที่ตนหรือรัฐบาลจะออกไปบอกว่าเป็นหรือไม่เป็น เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เชื่อก็มีสิทธิ์ดำเนินการต่อไปได้ หากตนบอกว่าเป็น แต่เจ้าหน้าที่บอกไม่เป็น ตนจะไปทำอะไรได้

ส่วนในประเด็นที่นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่หมิ่นประมาทนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น นายพานทองแท้ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ทำการออกโรงปกป้อง

ขณะที่ทางด้านของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ออกมาเปิดเผยว่าจะไม่แจ้งความดำเนินคดี แต่ก็ได้มีการพูดถึงนายพานทองแท้ว่าต้องแยกแยะไม่หนุนทำความผิด

เมื่อวันที่ 16มิ.ย.59 โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Oak Panthongtae Shinawatra’ ถึงบุคคลเสื้อเทาที่สมชัยกล่าวถึงดังกล่าว โดยพานทองแท้ระบุว่า ตนปรึกษาทนายให้แล้ว คดีลักษณะนี้มีหลายคดีที่ศาลสามารถตัดสินให้เป็นการติ-ชมโดยสุจริต ในฐานะมุมมองของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของ กกต. เพราะ กกต.คนนี้เคยออกมายอมรับเองว่าตัวเองเอียงกระเท่เร่ราวกับหอเอนปิซ่ามาแล้ว ทั้งๆ ที่ตนเองกินเงินเดือนจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชน ซึ่งถือเป็นลูกจ้างที่ต้องทำหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ พานทองแท้ยังแนะนำจุดสำคัญในการสู้คดีอยู่ตรงคำพูด ซึ่งต้องดูที่หลักฐาน ว่าจริงๆ แล้วพูดไว้อย่างไร พร้อมระบุด้วยว่าใครอยากฟ้องก็ฟ้องไป หากคิดว่าทำแล้วดีมีประโยชน์ ได้มากกว่าเสียก็ฟ้องไป เราก็สู้คดีไป ไม่เห็นต้องไปกลัว ค่าทนายค่าไรต่างๆ ที่ช่วยได้ ตนจัดการให้เอง

และล่าสุด สมชัย ศรีสุทธิยากร เปิดเผยว่า ยังไม่แจ้งความดำเนินคดีกับนักศึกษาปริญญาโทที่หมิ่นประมาทตนเองโดยต้องการให้โอกาสเพื่อปรับปรุงท่าทีที่เหมาะสม รวมทั้งหน้าเฟซของกลุ่มที่ทำผิดด้วย อีกทั้งตนมีภารกิจอีกหลายเรื่องจึงเห็นว่ากรณีที่พลั้งเผลอโดยไม่ทันยั้งคิดและคนที่ทำผิดก็เป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยอยากส่งเสริมให้สติว่าการดำเนินการต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น และต้องดำเนินการด้วยวิธีที่สุภาพ แต่ถ้าใช้กระบวนการท่าทีแบบนี้โดยมุ่งหวังว่าสื่อจะให้ความสนใจด้วยการใช้ถ้อยคำหยาบคายล่วงละเมิดหมิ่นประมาทคนอื่น ถือเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพราะไม่สง่างาม

นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่นายพานทองแท้ ชินวัตร ออกมาโพสต์ข้อความสนับสนุนการกระทำของนักศึกษาปริญญาโทคนดังกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่านายพานทองแท้โพสต์เองหรือว่ามีทีมงานดำเนินการ ซึ่งอาจจะเห็นว่าเรื่องนี้อยู่ในกระแสสังคมจึงยื่นหน้าออกมาเพื่อให้คนจำได้ แต่การยุให้เด็กสู้แล้วไม่ผิดพร้อมจะออกเงินทุนให้ ตนคิดว่าคนในสังคมต้องแยกแยะอะไรถูก ผิด ไม่ควรส่งเสริมให้มีการกระทำผิดต่อเนื่อง โดยนายพานทองแท้ก็มีอายุเกิน 18 ปีแล้วน่าจะเป็นผู้ใหญ่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้วว่าอะไรควรไม่ควรทำ ทั้งนี้หากนายพานทองแท้เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายก็ขอให้นำเอาเพลงอย่างนี้ต้องตีเข่าไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ว๊อยซ์ทีวีหรือหน้าเฟซบุคตัวเอง หรือนำเนื้อหาของเพลงนี้ไปโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์พร้อมประกาศด้วยว่าเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาจะได้ทำให้สังคมเห็นเป็นรูปธรรมว่าเนื้อหาของเพลงนี้เข้าข่ายผิดพรบ.ประชามติหรือไม่

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ต้องการให้ทุกคนเคารพกฎหมาย เพราะมีกฎกติกาอยู่แต่ก็ยังมีคนที่ต้องการลองของก็อยากให้ดำเนินการดูจะได้ทราบว่าอะไรผิดหรือไม่ผิด ซึ่งการพูดให้เกิดความเสียหายเป็นการหมิ่นประมาทเพราะเป็นเรื่องบุคคล แต่กรณีการกระทำผิดกฎหมายประชามติตนในฐานะเจ้าพนักงานรัฐดูแลกำกับการทำประชามติยังมีอีกมาก ส่วนการโพสต์ข้อความของแกนนำพรรคเพื่อไทยพร้อมกันผ่านหน้าเฟซบุ๊คว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นตนเห็นว่า การให้เหตุผลประกอบอย่างสุภาพชนไม่มีถ้อยคำหยาบคายหรือปลุกระดมเป็นการกระทำที่สง่างามเหมาะสมถูกต้อง และอยากให้ทุกคนใช้เหตุผลมาพูดกันเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญจะได้เกิดการตกผลึกทางความคิดว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากทำในฐานะส่วนบุคคลไม่ผิดกฎหมายประชามติ พร้อมกับติงสื่อมวลชนว่าไม่ควรถามไปทั่วเนื่องจากบุคคลที่ถูกสัมภาษณ์หลายคนทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้รักษากฎหมาย