รู้ยัง ?...วัดพระธรรมกายมีลูกศิษย์และฐานบัญชาการอย่างไรบ้าง

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

การเปิดเผยของทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในวันที่ 17 มิถุนายน  เกี่ยวกับปฏิบัติการเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกาย

 

เพื่อจับกุมพระธัมมชโยนั้น สะท้อนว่าฝ่ายความมั่นคงจับตาวัดแห่งนี้ใกล้ชิดพอสมควร

 

ข้อมูลที่ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช.ออกมาระบุ และเป็นสาระสำคัญคือ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอในการเข้าไปตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ไม่ได้ถือว่าล้มเหลว เพราะแม้ไม่ได้ตัวผู้ต้องหา แต่ก็ได้ข้อมูลใหม่ๆ ทั้งเรื่องสถานที่ตั้ง พื้นที่ด้านในบางส่วน รวมทั้งภาพกลุ่มแกนนำ

 

นอกจากนั้นยังพบข้อมูลว่า มีพระมาจากภาคใต้ มวลชนจากภาคอีสานที่เดินทางเข้าไปในวัด 2 วันก่อนเจ้าหน้าที่เข้าไปอีกด้วย

 

ข้อมูลจากทีมโฆษก คสช.สอดคล้องกับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามหมายจับพระธัมมชโยรายงานไปยังรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า วัดพระธรรมกายมีศิษยานุศิษย์และผู้สนับสนุนรวมประมาณ 4 ล้านคน กระจายในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

มวลชนที่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้จริง และเคยรวมตัวกันมาแล้ว มีประมาณ 5 หมื่นคน พิจารณาจากกิจกรรมบวชอุบาสิกาแก้ว ล่าสุดในปี 2559

 

วัดพระธรรมกายมีวัดสาขา สำนักสงฆ์ และศูนย์ปฏิบัติธรรมของวัดเอง ทั่วประเทศมากถึง 71 แห่ง ในต่างประเทศอีก 86 แห่ง

 

นอกจากนั้นยังมีวัดในเครือข่ายขององค์กรที่วัดพระธรรมกายสนับสนุน เช่น ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แห่ง วัดต่างๆ ในภาคกลาง 42 แห่ง ซึ่งวัดเคยจัดธุดงค์ผ่านและพักแรม นอกจากนั้นยังมีวัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่วัดเคยจัดกิจกรรมช่วยเหลือด้วย

เครือข่ายวัดพระธรรมกาย

ลูกศิษย์/ผู้สนับสนุน > มากกว่า 4 ล้านคน  (ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ)

มวลชนที่เคยแสดงพลังล่าสุด > 5 หมื่นคน  (กิจกรรมบวชอุบาสิกาแก้ว ปี 59)

วัดสาขา / สำนักสงฆ์ / ศูนย์ปฏิบัติธรรม ในไทย 71 แห่ง ต่างประเทศ 86 แห่ง

 

รู้ยัง ?...วัดพระธรรมกายมีลูกศิษย์และฐานบัญชาการอย่างไรบ้าง

เปิดขั้นตอนจับธัมมชโย

 

ขั้นตอนการเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อดำเนินการตามหมายจับกับพระธัมมชโยนั้น แม้ในทางกฎหมายไม่มีความชัดเจนว่า วัดเป็นสถานที่รโหฐานที่ต้องขอหมายค้นจากศาลหรือไม่ แต่แน่นอนว่า กุฏิพระเป็นสถานที่รโหฐานที่ต้องขอหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างแน่นอน

 

การจับกุมบุคคลในที่รโหฐาน กฎหมายระบุว่า แม้มีหมายจับแล้ว ย่อมต้องมีหมายค้นด้วย (ป.วิ อาญา มาตรา 92)

ส่วนการค้นนั้น แม้ในเวลากลางคืน หรือยามวิกาล จะเป็นช่วงเวลาต้องห้ามตามกฎหมายในการเข้าตรวจค้น แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มีข้อยกเว้นไว้เช่นกัน

 

โดยในมาตรา 96 ระบุว่า การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก มีข้อยกเว้นดังนี้ (3) การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญ จะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

 

มีข่าวว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ไปขออนุมัติหมายค้นภายในวัดพระธรรมกายแล้ว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าตรวจค้นเพื่อดำเนินการตามหมายจับกับพระธัมมชโยในวันนี้ คือวันที่ 16 มิถุนายน หรือภายในวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน

 

แหล่งข่าวจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ให้ข้อมูลว่า ดีเอสไอเตรียมแผนเข้าจับกุมพระธัมมชโยเอาไว้ 2 ช่วงเวลา คือ ภายในวันศุกร์นี้ หลังจากพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ซึ่งมีพระธัมมชโยเป็น 1 ใน 5 ผู้ต้องหาส่งให้อัยการไปเรียบร้อยแล้ว

 

มาตรการทางกฎหมายที่จะใช้ในช่วงนี้ คือ เก็บหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเข้าข่ายการกระทำผิดฐานช่วยเหลือหรือให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189

 

อีกช่วงเวลาหนึ่งที่ดีเอสไอมีแผนเข้าจับกุม คือวันที่ 13 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่อัยการนัดฟังคำสั่งคดีร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ประกอบมาตรา 165 หากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง หรือยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล ต้องได้ตัวผู้ต้องหาไปฟ้อง หรือไปปรากฏตัวต่อหน้าศาลด้วย

 

ฉะนั้นดีเอสไอก็จะมีน้ำหนักเหตุผลในการดำเนินการจับกุมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

สำหรับ ป.วิ อาญา มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน หมายถึงว่า ต้องได้แจ้งข้อหาหรือสอบสวนผู้ต้องหาก่อนยื่นฟ้อง แต่จนถึงขณะนี้ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นอัยการ ยังไม่ได้สอบสวนพระธัมมชโยเลย

 

ขณะที่ ป.วิ อาญา มาตรา 165 บัญญัติว่า ในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ วันไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลย รายตัวไป เมื่อศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงแล้ว ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการต่อไป

 

ป.วิ อาญา มาตรานี้ กลายเป็นหลักทั่วไป หรือบรรทัดฐานที่รับรู้กันในกระบวนการยุติธรรมว่า การฟ้องคดี ต้องมีตัวจำเลยปรากฏต่อหน้าศาล เพื่อให้ศาลสอบถามว่าเป็นจำเลยตามฟ้องจริงหรือไม่