ผิดวัตถุประสงค์  จ่อยึด "เวิลด์ พีซฯ"ธรรมกาย หากรุกที่ส.ป.ก. โคราช

ผิดวัตถุประสงค์ จ่อยึด "เวิลด์ พีซฯ"ธรรมกาย หากรุกที่ส.ป.ก. โคราช

ความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม เวิลด์พีซ วัลเล่ย์ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมสาขาของวัดพระธรรมกาย ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 6 บ้านหนองจอก ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยเบื้องต้นทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ออกมาระบุว่าพบมีการรุกล้ำเขตปฏิรูปที่ดินชัดเจนจำนวน 50 ไร่

ชำนาญ กลิ่นจันทร์ บอกถึงคืบหน้าการตรวจสอบกรณีโครงการก่อสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเลย์ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สาขาของวัดพระธรรมกาย ว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องมือตรวจสอบพิกัดโดยรอบตามแนวรั้ว มีเนื้อที่ประมาณกว่า 900 ไร่ แต่บริเวณสิ่งก่อสร้างตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง ตามประกาศคณะปฏิวัติ 2515 ให้พื้นที่กว่า 1 แสนไร่ แก่ประชาชนถูกน้ำท่วมที่ทำกินหลังจากสร้างเขื่อนลำตะคอง ซึ่งการทำกิจกรรมอื่นต้องแจ้งวัตถุประสงค์ จากตรวจสอบเบื้องต้นจากวงรอบขอบเขตพิกัด ในภาพรวมจากที่ดูแนวเขตประกาศปฏิรูปที่ดิน โดยแนวรั้วของสถานที่ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเลย์ ขยายล้ำเข้ามาในเขต ส.ป.ก.

นายชำนาญ บอกว่า พื้นที่ ส.ป.ก. เชื่อมต่อกับเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง หากตรวจสอบว่าล้ำเข้ามาในเขต ส.ป.ก.เท่าไหร่ ก็ต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ ที่ทางวัดถือครองอยู่ ขณะนี้ทางวัดไม่อนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบภายใน ต้องรอดีเอสไอประสานมาพร้อมเข้าตรวจสอบร่วมกันส่วนจะเหมือนกับกรณี รีสอร์ทโบนันซ่า เขาใหญ่ โครงการมูนแดนซ์ บ้านตากอากาศพิธีกรชื่อดัง รุกพื้นที่ประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน แต่มีโฉนด ซึ่งกรมที่ดินต้องตรวจสอบการได้มาว่าถูกต้องหรือไม่ หากได้มาไม่ชอบ ก็ตะเพิกถอนโฉนดก่อน จากนั้น ส.ป.ก.จะไปยึดคืนพื้นที่คืนได้

ขณะเดียวกัน นายไพโรจน์ บัวน่วม เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบที่ดินของโครงการเวิลด์พีซ วัลเลย์ว่า สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปากช่อง ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นตามบันทึกการตรวจสอบที่แสดงค่า พิกัดผลการตรวจสอบจำนวน 23 จุด ของ กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ทั้งโฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก. ทั้ง 13 แปลง นั้น ปัจจุบันถือกรรมสิทธิ์โดยบุคคลธรรมดา จำนวน 2 แปลง รวม 50-2-23 ไร่คือ

1.โฉนดที่ดินเลขที่ 34378 เลขที่ดิน 72 หน้าสำรวจ 197 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 31-3-99 ไร่ มีชื่อ น.ส. พรจันทร์ ลูกอินทร์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และ 2. โฉนดที่ดินเลขที่ 68586 เลขที่ดิน 84 หน้าสำรวจ 1771 ต.โป่งตาลอง อ.ปากชอง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 18-2-24 ไร่

 

ส่วนที่เหลือจำนวน 11 แปลงรวมเนื้อที่ 243-0-80 ไร่ ปัจจุบัน “มูลนิธิตะวันธรรม” เป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดได้รับการบริจาคให้มา พร้อมกันเมื่อปี 2550 ประกอบด้วย

1.โฉนดที่ดินเลขที่ 48139 เลขที่ดิน 75 หน้าสำรวจ 230 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 12-1-72 ไร่ รับให้จาก 1.นายสุรพณ มโนไพบูลย์ 2. น.ส.พรทิพย์ พิริยะโยธิน 3. น.ส.จิราภรณ์ วัฒนเวช เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

2. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1454 เลขที่ดิน 24 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 15-3-25 ไร่ (ก่อนแบ่งแยกเนื้อที่เดิม 50 ไร่) รับให้จาก น.ส.จิตสิริ ธนภัณฑ์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

3. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 14 เลขที่ดิน 69 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 28-0-0 ไร่ รับให้จาก 1. น.ส.จิราภรณ์ วัฒนเวช 2. น.ส.พรทิพย์ พิริยะโยธิน 3. น.ส. พรรณทิพย์ พิริยะโยธิน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

4. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 248 เลขที่ดิน 86 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 2-0-16 ไร่ รับให้จาก นางสำเภา สุทนต์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2550

5. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1456 เลขที่ดิน 26 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 1-0-60 ไร่ รับให้จาก นางสำเภา สุทนต์ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2550

6.หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1470 เลขที่ดิน 41 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 7-0-00 ไร่ รับให้จาก 1. น.ส.จิราภรณ์ วัฒนเวช 2. น.ส.พรทิพย์ พิริยะโยธิน 3. น.ส. พรรณทิพย์ พิริยะโยธิน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

7.หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1471 เลขที่ดิน 42 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 40-2-60 ไร่ รับให้จาก 1. น.ส.จิราภรณ์ วัฒนเวช 2. น.ส.พรทิพย์ พิริยะโยธิน 3. น.ส. พรรณทิพย์ พิริยะโยธิน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

8.หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1485 เลขที่ดิน 57 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 40-0-00 ไร่ รับให้จาก 1.นายสุรพณ มโนไพบูลย์ 2. น.ส.จิราภรณ์ วัฒนาเวช เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

9.หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1486 เลขที่ดิน 58 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 20-0-00 ไร่ รับให้จาก 1.นายสุรพณ มโนไพบูลย์ 2.นายเพทาย มณีไพโรจน์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

10.หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 140 เลขที่ดิน 83 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 28-1-69 ไร่ (ก่อนแบ่งแยกเนื้อที่เดิม 37-3-82 ไร่) รับให้จาก นางสุดี รัตนวิจิตร เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

11.หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 269 เลขที่ดิน 88 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 47-2-78 ไร่ รับให้จากนายสนั่น เพ็งชะตา เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

ขณะที่ นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกล่าวว่า ตามที่ได้มอบหมายให้นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.สำนักงานศาสนสมบัติ รวมทั้งผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี และฝ่ายนิติกร เข้าตรวจสอบที่ดินวัดพระธรรมกายนั้น ขณะนี้ตนได้รับรายงานเบื้องต้นทางวาจาจากนายอินทพรว่า ทางวัดพระธรรมกายโดยน.พ.พรชัย ภิญญพงษ์ ผู้แทนของวัดได้อำนวยความสะดวกและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลเป็นอย่างดี โดยพบว่า ที่ดินของวัดพระธรรมกายส่วนที่เป็นที่วัดตามที่ขอตั้งวัดมีเนื้อที่ 196 ไร่ 9 ตารางวา บนโฉนดที่ดินเลขที่ 538 มีอาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ 1 หลัง กุฎิสงฆ์ 20 หลัง หอสวดมนต์ ศาสาการเปรียญ ศาลาบำเพ็ญกุศล 19 หลัง ส่วนพื้นที่ที่ทางวัดได้ขยายเพิ่มเติมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินในนามของมูลนิธิธรรมกาย ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์แต่อย่างใด

อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตาม สืบเนื่องจาก คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ร่วม 200 คน เดินทางยื่นหนังสือที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อทวงถามการดำเนินคดี นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ พระสุวิทย์ หรือ พระพุทธะอิสระ

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ไม่เป็นไร ตนไม่อยากไปโต้เถียงกับใครก็ทุกอย่างเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม โดยทางคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายมีความสงสัยเกี่ยวกับการทำคดีอื่นๆ ซึ่ง ดีเอสไอ ต้องตอบพวกเขาให้ได้ว่าดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ตนได้อ่านข่าวรู้ว่าคณะศิษยานุศิษย์มาเพื่อต้องการทราบเกี่ยวกับการทำคดีของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่หากคณะศิษยานุศิษย์ไม่รับฟัง ดีเอสไอ ก็แล้วแต่ ตนถึงบอกว่าถ้าพวกคุณมายื่นฟ้อง นายไพบูลย์ และ พระพุทธอิสระ เพื่ออยากให้เร่งรัดคดีแต่พวกคุณไม่ฟัง ดีเอสไอ แล้วจะไปรับรู้อะไร

นั่นแหละคือสิ่งที่ผมพูดประจำว่าวิธีการปฏิบัติและสิ่งที่ปฏิบัติมันขัดแย้งกับเรื่องของกระบวนการยุติธรรม สังคมก็ต้องกลับไปคิดแต่อย่าให้ผมไปว่าคนนู้นคนนี้เลย แม้แต่สื่อยังมาถามผมเลย โดยสื่อมวลชนยังไม่เห็นด้วยกับวิธีการของพวกเขาเลย ถ้าพวกเขารับรู้รับทราบอะไรมาแต่ไม่รับฟังการชี้แจงของ ดีเอสไอ ทำให้เข้าใจว่าเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม ผิดเรื่องอะไร เป็นคดีมากี่คดีแล้วแต่ไม่ยอมรับฟังและเอาเรื่องนี้เรื่องนั้นมาผสมกันไปหมด โดยสังคมต้องช่วยกันทุกคนไม่ให้กฎหมู่ ไม่ให้สิ่งที่มันไม่ถูกต้องในกระบวนการยุติธรรม และไม่ใช่เพียงหน้าที่ของรัฐบาล แต่หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หลักนิติธรรม สื่อมวลชนต้องตรวจสอบรัฐบาลด้วย

สำหรับคดีนี้ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ และ อัยการ ทำหน้าที่ผิดกฎหมายอะไร ลองพูดมาให้ชัดเจนแต่ระบบวิธีการปฏิบัติต้องเลือกทำให้ดีที่สุด รวมทั้ง สิ่งที่มีการแนะนำของสื่อมวลชน ตนก็อ่านและเรียก พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ มาช่วยดูว่าวิธีการแบบนี้ใช้ได้หรือไม่ ลองฟังหน่อยไหม บางครั้ง อธิบดีดีเอสไอ ก็มาอธิบายให้ตนฟังว่าไม่สามารถทำได้ อธิบดีดีเอสไอก็ต้องอธิบายให้สื่อมวลชนเข้าใจด้วย ยอมเสียเวลายกหูโทรศัพท์ชี้แจงกับสื่อไปว่าวิธีการนั้นไม่ใช่ เพราะเรื่องนี้บางอย่างเหมือนการปฏิบัติการจิตวิทยาซึ่งกันและกันอาจทำให้ไขว้เขวไปหมด ต้องคุยกับสื่อเหมือนกันว่าสิ่งนี้สามารถทำได้แต่ลักษณะสถานการณ์ปัจจุบันว่าเกิดอะไรขึ้นต้องชี้แจงให้สื่อมวลชนเข้าใจ