มส. ชี้คดีธัมมชโยเป็นเรื่องของบุคคล ยืนยันให้ปฏิบัติตามมติ มส. เดิม ปี 2544

มส. ชี้คดีธัมมชโยเป็นเรื่องของบุคคล ยืนยันให้ปฏิบัติตามมติ มส. เดิม ปี 2544

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวในการดำเนินคดีกับพระธัมมชโย ในวันี้มีการประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งหลายฝ่ายก็จับตามองว่า  จะนำเรื่องเกี่ยวกับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และเรื่องข่าวลือการโยกย้าย นาย พนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการ พศ.เข้าหารือในที่ประชุม มส.หรือไม่

นายสมบัติ พิมพ์สอน รองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน ว่า กรณีที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล พศ.ได้ปรึกษาหารือกับสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เกี่ยวกับการดำเนินการกับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ รับปากว่าจะช่วยดำเนินการเรื่องดังกล่าว และจะนำเข้าหารือในที่ประชุมมมหาเถรสมาคม (มส.) นั้น

กรณีของพระธัมมชโย ที่ประชุม มส.มีมติให้ยึดมติ มส.ครั้งที่ 4/2544 เรื่องการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ระบุว่า “ในที่ประชุม มส.ครั้งที่ 4/2544 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการ มส.เสนอว่า เพื่อให้การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎ มส.และระเบียบ มส.ดียิ่งขึ้น จึงขอเสนอให้เจ้าคณะใหญ่ทุกหนปฏิบัติพร้อมกับเจ้าคณะทุกระดับ ทุกกรณี ให้เป็นที่ยุติในเขตปกครองแต่ละหน”

 

มติมส.ครั้ง 4/2544 เป็นที่ประจักษ์ว่า กรณีของพระธัมมชโย เรื่องต้องจบในระดับหน และจะไม่นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม มส.อีก เว้นแต่จะมีการรายงานเพื่อทราบเท่านั้น

การดำเนินการจับกุม พระธัมมชโย  และวัดพระธรรมกาย ล่าสุดมีผลสำรวจ ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาให้พระธัมมชโย ควรมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกรณีวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย พบว่า

 

ร้อยละ 51.44 ระบุว่า พระธัมมชโย ควรมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

 

ร้อยละ 20.80 ระบุว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควรรีบดำเนินการตามกฎหมายโดยเร็วเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

 

ร้อยละ 9.36 ระบุว่า มีการเมืองอยู่เบื้องหลังกรณีวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย

 

ร้อยละ 8.00 ระบุว่า กรณีวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย อาจทำให้สังคมแตกแยก

 

ร้อยละ 6.72 ระบุว่า คนไทยกลุ่มหนึ่งปล่อยให้ความเชื่อความศรัทธาอยู่เหนือกฎหมาย

ร้อยละ 5.84 ระบุว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควรรอให้พระธัมมชโยหายอาพาธก่อนค่อยเข้าดำเนินการจับกุม

 

ร้อยละ 5.12 ระบุว่า กรณีวัดพระธรรมกาย และ พระธัมมชโย เป็นวิกฤติของพระพุทธศาสนา

 

ร้อยละ 3.12 ระบุว่า พระธัมมชโย ควรรอให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก่อนค่อยมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

ร้อยละ 2.16 ระบุว่า พระธัมมชโยถูกใส่ร้ายกลั่นแกล้ง

 

ร้อยละ 1.44 ระบุว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการโดยมีอคติ

 

ร้อยละ 2.80 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ วัดพระธรรมกายไม่โปร่งใส มีการบิดเบือนคำสอนตามหลักพุทธศาสนา

ส่วนคดีของวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย นั้น DSI ขาดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างมาก ควรดำเนินการให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะพระธัมมชโยควรศึกออกจากการเป็นพระ และได้รับโทษตามกฎหมาย ในขณะที่บางส่วนระบุว่า พระธัมมชโยเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ทำความผิด และรัฐบาลไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

 

ร้อยละ 25.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ “ความเชื่อความศรัทธา” กับ “การปฏิบัติตามกฎหมาย” ว่าสิ่งใดสำคัญ กว่ากัน พบว่า

 

ร้อยละ 77.52 ระบุว่า “การปฏิบัติตามกฎหมาย” สำคัญกว่า เพราะ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้ของกฎหมาย กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้กับทุกคน แต่ความเชื่อและความศรัทธา เป็นเรื่องของส่วนบุคคลซึ่งความเชื่อไม่ได้มีเหมือนกันทุกคน บางครั้งก็ไม่มีเหตุผลจนเกินไป ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มีความยุติธรรม สามารถพิสูจน์ได้ ไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม ศาสนา ทุกศาสนาต้องเคารพกฎหมาย หากไม่มีกฎหมายแล้ว บ้านเมืองย่อมเกิดความวุ่นวายอย่างแน่นอน กรณีวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโยหากไม่มีความผิดจริง ควรเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย

 

ร้อยละ 10.08 ระบุว่า “ความเชื่อความศรัทธา” สำคัญกว่า โดยในจำนวนนี้ ระบุเหตุว่า เพราะ ประเทศไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธมีหลักคำสอนไม่ให้กระทำความผิดเบียดเบียน ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน หากทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว แต่กฎหมายของบ้านเมืองทุกวันนี้ขาดความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามความเชื่อและความศรัทธาต้องมีเหตุและผล ไม่งมงายจนเกินไป

 

ร้อยละ 8.08 ระบุว่า สำคัญพอ ๆ กัน และร้อยละ 4.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ