หรือจะต้อง"ประหาร"ตามเสียงเรียกร้องต่อสังคม หากม.44ยังจัดการปัญหาเด็กนร.ตีกันไม่ได้

หรือจะต้อง"ประหาร"ตามเสียงเรียกร้องต่อสังคม หากม.44ยังจัดการปัญหาเด็กนร.ตีกันไม่ได้

แม้ว่าหัวหน้าคสช.จะใช้มาตรา44 เพื่อป้องกันปัญหาเด็กนักเรียนอาชีวะทะเลาะวิวาทโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฏว่าพ่อแม่ผู้ปกครองรวมไปถึงสถาบันการศึกษาอาจจะต้องรับผิดหากว่าเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น

แต่ภายหลังจากออกคำสั่งไปไม่กี่วันก็ยังพบเหตุการณ์ความรุนแนงในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นถึง 2 เหตุการณ์ใหญ่ๆ จนทำให้เกิดคำถามว่า ต่อจากนี้การออกคำสั่งมาตรา44 จะเพียงพอต่อการยับยั้งปัญหาหรือไม่

27 มิ.ย. เกิดเหตุ เด็กนักเรียนถูกอาวุธปืนยิงได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าร้านอาหารเทอเรส ถนนรามอินทรา แขวงและเขตคันนายาว กรุงเทพฯ ทราบชื่อ น.ส.เมธาพร ดงใต้ อายุ 17 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพ ปี 1 แผนกช่างยนต์ ถูกกระสุนปืนลูกซองยิงเข้าใต้ราวนมฝั่งขวา 1 นัด เสียชีวิต

 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมเยาวชนอายุระหว่าง 16-17 ปี ซึ่งหนึ่งในผู้ต้องหารู้จักกับผู้ตาย ได้ 4 คน

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังคงให้การปฏิเสธ ส่วนเรื่องรายละเอียดในสำนวนยังไม่ขอเปิดเผยได้ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเยาวชน และเกรงว่าจะกระทบกับรูปคดี   เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ก่อนจะนำผู้ต้องหาทั้งหมดขออำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีนบุรีฝากขัง

และในวันเดียวกัน สน.มีนบุรี รับแจ้งมีนักเรียนถูกยิงบนรถประจำทางมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ใกล้ป้ายรถประจำทางฝั่งตรงข้ามตลาดมีนบุรี ปากซอยสีหบุรานุกิจ 18 ถนนสีหบุรานุกิจ แขวงและเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ  

 

ที่เกิดเหตุพบรถประจำทางสาย 131 ทะเบียน 11-9837 กรุงเทพมหานคร วิ่งระหว่างมีนบุรี-เอื้ออาทรสันติสุข ผู้บาดเจ็บถูกช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลเป็นนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร วิทยาเขตบึงใหญ่ 3 ราย และมีหญิงสาวชาวพม่าถูกกระสุนลูกหลงยิงที่กลางหลัง 1 ราย

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้สังคมรุมประนามผู้กระทำความผิด เนื่องจากว่า มีผู้เสียชีวิต ในบริเวณหน้าร้านอาหารเทอเรส ถนนรามอินทรา

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวทีนิวส์ โดยผู้สื่อข่าวได้ไปพูดคุยกับนายวิเชียร ดงใต้ ซึ่งเป็นพ่อของผู้เสียชีวิต ซึ่งผู้เป็นพ่อพูดคุยกับผู้สื่อข่าวแบบกลั้นน้ำตาไว้ตลอดเวลา เนื่องจากยังเสียใจที่บุตรสาวได้จากไป ซึ่งในตอนท้ายผู้สื่อข่าวได้ถามว่า อยากฝากบอกอะไรไปถึงผู้ก่อเหตุบ้าง นายวิเชียรได้ตอบว่า อยากให้ผู้ก่อเหตุมากราบศพลูกสาวตน ซึ่งตอนนี้ตนยังพูดอะไรไม่ออก

 

ไม่เพียงเท่านั้น พ่อแม่ และญาติๆของผู้เสียชีวิตรวมถึง พระผู้ใหญ่ของวัดบึงทองหลาง ได้ไปทำพิธีเชิญวิญญาณ น.ส.เมธาพรจากที่เกิดเหตุไปวัดบึงทองหลางซึ่งเป็นสถานที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้าของบรรดา พ่อแม่ ญาติๆ และเพื่อนของน.ส.เมธาพรเป็นอย่างมาก

 

และอีกเหตุการณ์ เกิดบริเวณหน้าตลาดจตุจักร 2 ถนนสีหบุรานุกิจ คือการยิงกันเมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งไปถูกผู้โดยสารบนรถประจำทางสาย 131 เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน

 

พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. แถลงข่าวจับกุม นายณัฐพงษ์ หรือบอย สังข์ทอง อายุ 20 ปี และ นายภควัต หรือเป้ ตั๋นมา อายุ 20 ปี ทั้งคู่เป็นนักเรียนสถาบันเทคนิคแห่งหนึ่งย่านมีนบุรี และเป็นผู้ที่ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงไปบนรถประจำทางสาย 131 เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน เหตุเกิดบริเวณหน้าตลาดจตุจักร 2 ถนนสีหบุรานุกิจ แขวงและเขตมีนบุรี เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมของกลางปืนลูกซองสั้นไทยประดิษฐ์ 1 กระบอก กระสุนปืน 4 นัด รถ จยย.ฮอนด้า เวฟ สีดำ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน 1 คัน และเสื้อผ้าที่ใส่ในวันก่อเหตุ

 

นายณัฐพงษ์ รับสารภาพว่าเป็นคนนั่งซ้อนท้ายรถ จยย.ที่ นายภควัต เป็นผู้ขับขี่ จนมาพบกับนักเรียนคู่อริที่นั่งโดยสารมาในรถประจำทางสาย131 จึงมีการตะโกนด่าทอ และ ชูนิ้วกลางให้กัน จากนั้นจึงได้ไล่ติดตามไป แล้วใช้อาวุธปืนยิงใส่ จนทำให้นักเรียนคู่อริและชาวบ้านถูกหลูกหลงบาดเจ็บไป 4 คน ก่อนที่พวกตนจะรีบหลบหนีไป เบื้องต้นตำรวจได้แจ้งข้อหา พยายามฆ่าผู้อื่น ก่อนนำตัวทั้งสองไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพที่บริเวณฝั่งตรงข้ามตลาดนัดจตุจักร 2 แขวงและเขตมีนบุรี

ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวด้วยว่า ทางตำรวจจะทำหนังสือเรียกผู้ปกครองของผู้ต้องหาทั้งสองมาสอบปากคำ หากมีหลักฐานปรากฏชี้ชัดว่า ผู้ปกครองรู้เห็นเป็นใจ ปล่อยปละละเลยบุตรหลาน ไม่มีการตักเตือน ผู้ปกครองก็จะต้องถูกดำเนินคดีด้วย โดยคดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ดำเนินการตามประกาศของ คสช. ด้าน พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการในการป้องกัน ตนได้สั่งการให้ทุกโรงพักลงพื้นที่ไปสำรวจนักเรียนนักเลง พร้อมทำประวัติ ต่อมาจะทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังสถานศึกษา ครู อาจารย์ รวมทั้งผู้ปกครองให้ช่วยกันดูแลและตักเตือน

เพื่อให้เกิดความชัดเจนรวมไปถึงการควบคุมเด็กในปกครอง ของครอบครัวว่าจะต้องมีความกระตือรือร้น ที่จะดูแลบุตรหลาน ให้มากกว่านี้ เพราะครอบครัวอาจจะมีส่วนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2559  เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2559

 

ใจความว่า “ปัญหาการทะเลาวิวาทของนักเรียน นักศึกษาก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน รวมทั้งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและสังคม แต่เนื่องจากมาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ ไม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ ทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินการ

 

เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กนักเรียน นักศึกษา จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและจัดระเบียบสังคม

 

จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. มีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

1.ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ ตามหมวด 7 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มีอำนาจกักตัวนักเรียน นักศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือเตรียมการเพื่อก่อเหตุดังกล่าว เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 6 ชั่วโมง เพื่อนำส่งเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้บริหารโรงเรียน หรือสถานศึกษา บิดามารดา หรือผู้ปกครอง แล้วแต่กรณี

 

2.บิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน และยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กและเยาวชน ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก

 

ตลอดจนต้องไม่สนับสนุนหรือปล่อยปละละเลย ให้เด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียน และนักศึกษาในปกครอง รวมกลุ่มเพื่อก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือเตรียมการเพื่อก่อเหตุดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ติดตามและสอดส่องให้มีการดำเนินการอย่างเคร่งครัด

ในกรณีที่พบเด็กและเยาวชน ที่เป็นนักเรียนและนักศึกษา รวมกลุ่มเพื่อกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นความรับผิดชอบของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็กและเยาวชน ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาแล้วแต่กรณี และให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่จะแจ้งให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง เข้ามารับทราบการกระทำของเด็กและเยาวชน ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาดังกล่าว

 

เพื่อให้คำแนะนำ ตักเตือน ทำทัณฑ์บน หรือวางข้อกำหนดเพื่อป้องกันมิให้กระทำผิดอีก หรืออาจให้วางประกันไว้เป็นจำนวนเงินตามสมควรแก่ฐานานุรูป แต่จะเรียกเงินประกันไว้ได้ไม่เกินระยะเวลา 2 ปี หากเด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียน นักศึกษาได้กระทำความผิดดังกล่าวซ้ำอีก ให้ริบเงินประกันเป็นของกองทุนคุ้มครองเด็ก ตามกฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองเด็ก

 

3.ผู้ใดกระทำการอันเป็นการยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนให้นักเรียน หรือ นักศึกษา ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

หากกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้นักเรียน หรือนักศึกษาไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น ผู้นั้นต้องระวางโทษไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต เพราะการทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

4.ให้โรงเรียนและสถานศึกษา มีหน้าที่จัดให้มีกิจกรรมในการแนะแนว เพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน และนักศึกษาทะเลาะวิวาท โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกวดขันและเร่งรัดจัดทำมาตรการเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียน และนักศึกษาให้เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการลดปัญหาสังคมโดยเร่งด่วน