ล็อคเป้าที่ดิน ส.ส. 6.8 หมื่นไร่ ม.44 รุกฆาต ทวงคืนที่ดิน สปก.ในอุ้งมือผู้มีอิทธิพล

ล็อคเป้าที่ดิน ส.ส. 6.8 หมื่นไร่ ม.44 รุกฆาต ทวงคืนที่ดิน สปก.ในอุ้งมือผู้มีอิทธิพล

เป็นที่ฮือฮากันอย่างมากหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ในวันเดียวถึง 4 ฉบับ โดยเฉพาะคำสั่ง คสช.ที่ 35/2559 แก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก ต.วังบาลและ ต.บ้านเนิน อ.หล่มเก่า จ.เพชรบรูณ์และคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 แก้ปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

ซึ่งถือว่าเป็นปฎิบัติการเชิงรุกในการทวงคืนที่ดินของรัฐในส่วนของภูทับเบิกและที่ดิน ส.ป.ก.

เริ่มกันที่คำสั่ง คสช.ที่ 35/2559 แก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก ต.วังบาลและ ต.บ้านเนิน อ.หล่มเก่า จ.เพชรบรูณ์ ระบุว่าโดยที่ปรากฏว่าพื้นที่ป่าภูทับเบิกในท้องที่อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ที่อยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ ๑ A ชั้นที่ ๑ Bและชั้นที่ ๒ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำป่าสัก ถูกบุกรุก ถือครอง โดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และนำไปก่อสร้างโรงแรม สถานที่พักตากอากาศ และร้านค้าที่มีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจอีกทั้งสิ่งก่อสร้างดังกล่าวยังมีความไม่มั่นคงแข็งแรงตามหลักวิศวกรรมหรือมาตรฐานความปลอดภัยด้านวิศวกรรม ปิดกั้นทางไหลของน้ำ และเสี่ยงต่อการพังทลายของดิน อันอาจก่อให้เกิดอุบัติภัยและความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ได้ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการระงับ ปราบปราม และป้องกันการกระทำ

การที่มีผลกระทบในพื้นที่ป่าภูทับเบิก เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้มีการเร่งฟื้นฟูป่าภูทับเบิกให้กลับคืนสู่สภาพเดิม รวมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในคำสั่งนี้

ป่าภูทับเบิกหมายความว่า ป่าตามมาตรา ๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้

พุทธศักราช ๒๔๘๔ ในท้องที่หมู่ที่ ๑๔ บ้านทับเบิก หมู่ที่ ๑๖ บ้านทับเบิกใหม่ หมู่ที่ ๑๗ บ้านนาสะอุ้งตำบลวังบาล และหมู่ที่ ๘ บ้านน้ำเพียงดิน ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์

 

สิ่งปลูกสร้างหมายความว่า โรงแรม ร้านค้า สถานที่พักตากอากาศ อาคารหรือสถานที่ที่ใช้เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับบุคคลอื่นโดยมีค่าตอบแทน สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่ทำให้ป่าเสื่อมสภาพ และสิ่งปลูกสร้างอื่นที่อาจก่อให้เกิดอุบัติภัยหรือส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ตามที่อธิบดีกรมป่าไม้ประกาศกำหนดเพิ่มเติม

 

เจ้าหน้าที่หมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายอำเภอหล่มเก่า ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๔ สาขาพิษณุโลก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบูรณ์และโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์

 

ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่มอบหมายให้ดำเนินการตามคำสั่งนี้

ข้อ ๒ ภายในพื้นที่ป่าภูทับเบิก ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้

 

(๑) สั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างออกจากป่าภูทับเบิกภายในเวลาที่กำหนดและงดเว้นการกระทำใด ๆ ในป่าภูทับเบิก

 

(๒) สั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างในป่าภูทับเบิกรื้อถอน ทำลาย หรือกระทำการอื่นใดแก่สิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้ป่าภูทับเบิกกลับคืนสภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิม แล้วแต่กรณีเพื่อประโยชน์แก่รัฐในการเข้าฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

 

(๓) ยึด รื้อถอน ทำลาย หรือกระทำการอื่นใดแก่สิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้ป่าภูทับเบิกกลับคืนสภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิม ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ปฏิบัติตาม (๒) หรือไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้าง

ข้อ ๓ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองชดใช้หรือออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๒ (๓)

 

ข้อ ๔ การปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

 

ข้อ ๕ เจ้าหน้าที่และผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ที่กระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

 

ข้อ ๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ให้เจ้าหน้าที่และผู้ช่วยเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

ข้อ ๗ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ขณะที่คำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 แก้ปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ให้มีการส่งมอบพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรมเพื่อนำพื้นที่ไปดำเนินการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่จนถึงปัจจุบันได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ายังมีแปลงที่ดินที่ยังมิได้ทำการสำรวจรังวัดอยู่อีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีผู้ถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่างไม่ให้ความร่วมมือหรือความยินยอมเพื่อเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือแม้กระทั่งในบางรายที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่การส่งมอบพื้นที่คืนเพื่อให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำไปดำเนินการจัดที่ดินตามกฎหมายก็ยังไม่ได้รับการปฏิบัติตามคำพิพากษา นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ามีบุคคลซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายเข้าใช้ประโยชน์โดยอ้างสิทธิในที่ดินจากการซื้อขายต่อจากเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินหรือมีการเปลี่ยนมือที่ดิน

ที่จัดให้แก่เกษตรกรเพื่อถือครองที่ดินเป็นแปลงขนาดใหญ่ และได้นำพื้นที่ดังกล่าวไปประกอบเกษตรกรรมในรูปแบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างรุนแรงในระยะยาว หรือในบางกรณีปรากฏพื้นที่ข้างเคียงเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังคงเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งหากมีการใช้ประโยชน์

ที่ดินไม่เหมาะสม อาจมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติมซึ่งกระทบต่อความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑ ในคำสั่งนี้ ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ ที่ดินดังต่อไปนี้

 

(๑) ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ ๕๐๐ ไร่ ขึ้นไป

 

(๒) ที่ดินที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้เกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินสิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์แล้วและครอบครองโดยบุคคลที่มิใช่ผู้ได้รับการจัดที่ดินมีเนื้อที่ตั้งแต่ ๑๐๐ ไร่ ขึ้นไป

 

(๓) ที่ดินที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ส่งมอบแก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วและมีเนื้อที่ตั้งแต่ ๕๐๐ ไร่ ขึ้นไปการกำหนดพื้นที่เป้าหมายตาม (๑) และ (๒) ให้เป็นไปตามที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประกาศกำหนด

 

ข้อ ๒ เมื่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประกาศกำหนดพื้นที่เป้าหมายตามข้อ ๑ (๑)ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดปิดประกาศพื้นที่เป้าหมายไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งท้องที่ซึ่งพื้นที่เป้าหมายตั้งอยู่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปิดประกาศนั้น มีหน้าที่รักษาความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของประกาศด้วย

ข้อ ๓ ให้ผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่เป้าหมายตามข้อ ๑ (๑) ยื่นคำร้องเพื่อแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น ต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศตามข้อ ๒ และให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดตรวจสอบหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินของผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่เป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง

ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดการยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

 

(๑) โฉนดที่ดิน โฉนดตราจอง หรือตราจองที่ตราว่า ได้ทำประโยชน์แล้ว

(๒) หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส.๓ น.ส.๓ ก. น.ส.๓ ข. หรือแบบ

หมายเลข ๓)

(๓) หลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑)

(๔) ใบแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน (ส.ค. ๒)

(๕) ใบจอง

(๖) ใบเหยียบย่ำ

(๗) หนังสือแสดงการทำประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ (น.ค. ๓กสน. ๓ หรือ กสน. ๕)

(๘) หนังสือแสดงสิทธิอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐโดยชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ ๔ ในพื้นที่เป้าหมายตามข้อ ๑ (๑) เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามข้อ ๓ หากผู้

ครอบครองที่ดินไม่มายื่นคำร้องแสดงสิทธิในที่ดิน หรือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาแล้วไม่เห็นชอบกับคำร้องตามข้อ ๓ หรือไม่ปรากฏว่ามีผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่เป้าหมาย ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแต่งตั้งมีอำนาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้

 

(๑) สั่งให้ผู้ครอบครองที่ดินออกจากพื้นที่เป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด และงดเว้นกระทำการใด ๆในบริเวณพื้นที่เป้าหมาย

 

(๒) สั่งให้ผู้ครอบครองที่ดินรื้อถอน ทำลาย หรือกระทำการอื่นใด แก่สิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดในพื้นที่เป้าหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง

 

(๓) เข้าไปทำการอันจำเป็นเพื่อการสำรวจและรังวัดพื้นที่เป้าหมาย หรือตรวจสอบ

การครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ ในบริเวณพื้นที่เป้าหมาย

(๔) ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เป้าหมาย

 

(๕) ยึด รื้อถอน ทำลาย หรือกระทำการอื่นใด กับสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอุปสรรคกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในกรณีที่ผู้ครอบครองที่ดินไม่ปฏิบัติตาม (๒) หรือไม่ปรากฏว่ามีผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่เป้าหมาย

ข้อ ๕ ในพื้นที่เป้าหมายตามข้อ ๑ (๒) ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแต่งตั้งมีอำนาจดำเนินการตามข้อ ๔ เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้สิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์

 

ข้อ ๖ ในพื้นที่เป้าหมายตามข้อ ๑ (๓) ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแต่งตั้งนำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้าไปดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและให้เจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการตามข้อ ๔

 

ข้อ ๗ ให้กองทัพภาค กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก หรือกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค มอบหมายเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตนเข้าร่วมปฏิบัติการตามข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๖ ตามที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมร้องขอโดยให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้นมีอำนาจตามข้อ ๔ ด้วย

 

ข้อ ๘ ให้บรรดาสิ่งปลูกสร้างในบริเวณพื้นที่เป้าหมายที่ไม่เป็นอุปสรรคกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไป

ข้อ ๙ เมื่อได้ครอบครองพื้นที่เป้าหมายแล้ว ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเร่งดำเนินการให้มีการนำที่ดินมาจัดให้แก่เกษตรกร ดังต่อไปนี้

 

(๑) เกษตรกรตามนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของรัฐบาล

 

(๒) เกษตรกรที่ถือครองที่ดินเดิมที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยให้รวมถึงบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือผู้สืบสันดานของผู้ถือครองที่ดินเดิม ที่ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินนั้นการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรตาม (๒) ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดที่ดินทำ กินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล

ข้อ ๑๐ ให้ผู้ครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายชดใช้หรือออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๔ (๕)

 

ข้อ ๑๑ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ที่ได้กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ข้อ ๑๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ให้เจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

ข้อ ๑๓ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

โดยคำสั่งดังกล่าวดังก็ไม่ได้เกิดมาแบบลอยๆ เพราะหลังจากที่มีประกาศคำสั่งออกมาเป็นที่เรียบร้อยก็เป็นที่ชัดเจนว่ามีปฏิบัติการจากเจ้าหน้าที่ในการเข้าดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

ความคืบหน้ากรณี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่35/2559 เรื่องมาตรการในการแก้ปัญหาการครอบครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก ในเขตอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่สั่งการเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยนายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ลงนามในคำสั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ที่1516/2559 เรื่องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฎิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่35/2559 และได้มีการประชุมคณะทำงานจนได้ข้อสรุปแนวทางและขั้นตอนในการปฎิบัติการตามคำสั่งดังนี้

คณะทำงานที่ประกอบด้วยฝ่ายป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายพัฒนาสังคม และฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเข้าดำเนินการติดประกาศในพื้นที่เป้าหมายที่จะถูกรื้อถอนจำนวน 19 เป้าหมาย โดยแบ่งกำลังออกเป็น 7 ชุดปฎิบัติการซึ่งจะเป็นชุดปฎิบัติการของกรมป่าไม้จำนวน 6 ชุด เป้าหมายดำเนินการจำนวน 13 รีสอร์ท และเป็นชุดปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่โยธาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 1 ชุด. เป้าหมายดำเนินการ จำนวน 6 รีสอร์ท ในแต่ละชุดจะมีเจ้าหน้าฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทุกชุด

 

โดยกลุ่มเป้าหมายที่ถูกเลือกจะเป็นกลุ่มที่ ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดำเนินคดีแล้วและคดีถึงที่สุดแล้ว และเป้าหมายที่ถูกคัดเลือกจากการตรวจสอบของโธธาธิการและผังเมือง ที่สรุปว่าไม่มีความปลอดภัยสำหรับรีสอร์ทที่เป็นเป้าหมายของกรมป่าไม้ ได้แก่ โรงเตี้ยม สานฝัน คานาอัน ทับเบิกภูฏาน ไร่ตา-ยาย บ้านสายหมอก ทับเบิกวิลเลจ เคียงดาว มอเตอร์ริโอ รีสอร์ทไม่มีชืออีก 4แห่ง โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มแรกที่น่าจะอยู่ในเป้าหมายถูกติดประกาศรื้อถอนตาม ม.44 ในครั้งนี้

นอกจากนี้ มีรายงานว่า ปฏิบัติการยึดคืนพื้นที่รุกป่าภูทับเบิกในครั้งนี้ระดนเจ้าหน้าที่ กรมป่าไม้ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองกว่า 200 นาย ให้เวลารีสอร์ททำการรื้อถอนนับจากที่มีการติดประกาศเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ภายใน 30 วัน และไม่สามารถผ่อนผันได้อีก และหากยังฝ่าฝืนคำสั่ง เจ้าหน้าที่จะเข้าทำการรื้อถอนและเรียกค่าเสียหายจากรีสอร์ท"

นายบัณฑิต เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่เจ้าของรึสอร์ตโต้แย้งว่าเลือกปฎิบัติและจี้ให้จับกุมพร้อมไล่รื้อรีสอร์ตบนภูทับเบิกทั้งหมด เพราะมีความผิดเช่นเดียวกันว่า กลุ่มรีสอร์ตที่มีการออกคำสั่งให้รื้อถอนในครั้งนี้เป็นกลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาไว้แล้วให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวไม่ได้มีการปฎิบัติตามคำพิพากษาแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นวันนี้เมื่อทางคสช.มีคำสั่งโดยได้มอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด, นายอำเภอหล่มเก่า, ผอ.สำนักจัดการทรัพยาการป่าไม้ที่ 4, โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด โดยทั้ง 5 ท่านจะทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้พิจารณา

        

นายบัณฑิตกล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายดำเนินการในครั้งนี้ได้ดำเนินการกับกลุ่มที่ถูกพิพากษาก่อนเป็นอันดับแรก กับกลุ่มอาคารที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพราะถ้าหากมีประชาชนและนักท่องเที่ยวไปพักค้างหรือใช้บริการ อาจเกิดความเสียหายเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นฤดูฝนซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดดินสไลด์หรือเคลื่อนตัว ทำให้สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเกิดพังทะลายลงมา จึงจำเป็นต้องดำเนินการในส่วนนี้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยไม่ได้มีการเลือกปฎิบัติแต่อย่างใด

ขณะที่ทางด้านพื้นที่ ส.ป.ก. นายวัชรินทร์ วากะมะนนท์ ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กาญจนบุรี นางรจนพรรณ ณรงค์อินทร์ นิติกร ส.ป.ก.กาญจนบุรี นายสุขสันต์ คงเจริญ นิติกร ส.ป.ก.กาญจบุรี นายไพโรจน์ เหรียญกิจการ นายช่างสำรวจชำนาญงาน ส.ป.ก.กาญจนบุรี และนายพยุง เหลี่ยมจงกล นายช่างโยธาชำนาญงาน ส.ป.ก.กาญจนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.กาญจนบุรี เดินทางไปที่วัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือวัดเสือ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 44 คำสั่งที่ 36/2559 เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย

โดย นายวัชรินทร์ วากะมะนนท์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานช่างและแผนที่ และเจ้าหน้าที่กลุ่มกฎหมายได้ลงพื้นที่ หมู่ที่ 5 ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อดำเนินการจัดทำข้อมูลที่ดิน สำรวจรังวัด และจัดทำแผนที่แปลงที่ดินที่ได้อนุญาตให้วัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน (วัดเสือ) จำนวน 391-1-21 ไร่ เพื่อทำการตรวจสอบ และลดขนาดจำนวนเนื้อที่วัดฯ ที่ได้รับขออนุญาตให้ใช้ที่ดินให้คงเหลือเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็นเพื่อใช้ในการประกอบกิจทางพุทธศาสนา และในส่วนพื้นที่ที่วัดฯ บุกรุกที่ดิน ส.ป.ก.อีกจำนวน 931-0-83 ไร่ นั้น จะดำเนินการจรวจสอบเพิ่มเติมแล้วทำการยึดพื้นที่คืนทั้งหมด โดยจะนำข้อมูลที่ดินทั้งหมดเสนอคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินเพื่อพิจารณานำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้แก่ราษฎรตามโครงการจัดที่ให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล

 

นอกจากนี้ ส.ป.ก.ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ตรวจสอบพื้นที่การบุกรุกที่ดินโดยนายทุน หรือผู้มีอิทธิพลในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่วัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน (วัดเสือ) ที่ได้รับร้องเรียนว่ามีการครอบครองที่ดินที่มิชอบด้วยกฎหมายในเขตปฏิรูปที่ดิน จากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่ทำผิดกฎหมายอยู่ในเขตแนวรั้วล้อมรอบ จำนวน 1,263 ไร่ จึงได้ทำการติดประกาศว่า ห้ามผู้ใดบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก.เอาไว้

นายวัชรินทร์ เปิดเผยต่อว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ลงนามในคำสั่งที่ 36/2559 แล้วนั้น ทาง ส.ป.ก.กาญจนบุรี จะเดินหน้ายึดคืนที่ดินตามมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 14 แปลง ในพื้นที่ 4 อำเภอได้แก่ อ.ไทรโยค อ.ด่านมะขามเตี้ย อ.เลาขวัญ และ อ.พนมทวน รวมเนื้อที่ 14,927 ไร่

โดยเริ่มนำร่องจากที่ดินวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน (วัดเสือ) จำนวน 931-0-83 ไร่ และพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียน จำนวน 1,263 ไร่ ใน อ.ไทรโยค โดยขณะนี้ ส.ป.ก.กาญจนบุรี กำลังรอหลักเกณฑ์ และหนังสือสั่งการจาก ส.ป.ก. เมื่อได้รับก็จะดำเนินการตามคำสั่งที่ 36/2559 อย่างเข้มข้นพร้อมกันทั้งประเทศต่อไป

 

อีกทั้งจะดำเนินการตรวจสอบที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ ส.ค.1 น.ส.3 หรือโฉนด โดยมิชอบด้วยกฎหมายในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตรวจสอบ หากพบว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย

 

ผู้กระทำผิดระเบียบฯ จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดทุกราย ทั้งนี้ เพื่อ ส.ป.ก.กาญจนบุรี จะได้นำที่ดินที่ผู้ถือครองทำผิดระเบียบฯ มาจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน หรือผู้ยากจน ในรูปแบบสหกรณ์ ตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป

 

สำหรับป้าหมายการตรวจยึดที่ดิน ส.ป.ก.ทั้ง 14 แปลง ส.ป.ก.จะนำป้ายประกาศไปติดเอาไว้ที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และที่ว่าการอำเภอทั้ง 4 อำเภอ รวมทั้งนำไปติดตั้งเอาไว้บริเวณที่ดินด้วย โดยจะให้เวลา 7 วัน เพื่อให้ผู้ครอบครองที่ดินมาแสดงตน และนำเอกสารมาแสดงการครอบครอง หากยังไม่มาแสดงตนก็จะให้เวลาอีก 15 วัน หากมีผู้มาแสดงตนพร้อมนำเอกสารการครอบครองมาพิสูจน์ เจ้าหน้าที่ก็จะใช้เวลาในการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ นายวัชรินทร์ วากะมะนนท์ ส.ป.ก.กาญจนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.กาญจนบุรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารชุดประสานงานประจำพื้นที่ ร.29 ได้เดินทางไปติดตั้งป้ายตรวจยึดที่ดิน ส.ป.ก.ที่มีนายทุนบุกยึดครอบครองอีก 1 แปลง ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ติดกับถนนสาย 323 ตั้งอยู่หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจบุรี โดยอยู่ห่างจากวัดป่าหลวงตาบัวฯประมาณ 2 กิโลเมตร

 

เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่พบว่า มีป้ายประกาศติดเอาไว้ที่ริมถนนแสดงความเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน โดยป้ายดังกล่าวมีข้อความเขียนเอาไว้ว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลของ (น.ส.เพียงใจ หาญพาณิชย์) ผู้บุกรุกจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายสำหรับป้ายดังกล่าวมีสภาพเก่าแสดงให้เห็นว่าผู้ครอบครองได้นำป้ายมาติดตั้งแสดงความเป็นเจ้าของเอาไว้นานแล้ว อีกทั้งยังมีกิ่งไม้ที่ขึ้นข้างทางปกคลุมเอาไว้ เจ้าหน้าที่จึงตัดกิ่งไม้ที่ปกคลุมออกเพื่อให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน

จากนั้น นายวัชรินทร์ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตั้งป้ายแสดงกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก.เอาไว้ติดกัน โดยป้ายที่ ส.ป.ก.นำไปติดตั้งเขียนรุบุว่า ประกาศสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี (ส.ป.ก.กาญจนบุรี) ที่ดิน จำนวน 1,263 ไร่ ผืนนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. ห้ามผู้ใดบุกรุก หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีโดยเด็ดขาดทุกราย

ทั้งนี้ ส.ป.ก.กาญจนบุรี จะนำที่ดินผืนนี้เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 ก.ค.59 เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

 

ระหว่างนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายวัชรินทร์ ว่า รายชื่อที่เขียนระบุที่ป้ายดังกล่าวเป็นใคร แต่นายวัชรินทร์ เลี่ยงที่จะตอบ แต่ได้แนะนำว่า หากผู้สื่อข่าวต้องการทราบว่าเป็นใครก็ลองไปหาข้อมูลจากกูเกิล (Google) ก็จะทราบว่า บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นใคร ผลการค้นหาปรากฏว่า บุคคลดังกล่าวเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังระดับประเทศ มีทรัพย์สินมากมายนับแสนล้านบาท ทุกรัฐบาล และนักธุรกิจชื่อดังของประเทศไทยต่างก็รู้จักกับบุคคลผู้นี้เป็นอย่างดี

 

สำหรับปฏิบัติการการทวงคืนพื้นที่ ส.ป.ก.ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ก็กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างขว้างขวางว่าลักษณะของคำสั่งที่เกิดขึ้นตั้งใจที่จะโฟกัสไปที่กลุ่มของนายทุนโดยที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มนายทุนที่มีอิทธิพลสูงในประเทศไทยก็คือบรรดานักการเมืองและพบว่าคำสั่งนี้ก็น่าที่จะมุ่งไปตรวจสอบที่คนกลุ่มนี้

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย ที่ออกมาเมื่อช่วงค่ำวานนี้ นอกจากจะยึดคืนที่ดินจากผู้บุกรุกแล้ว ยังได้ข้อมูลเชิงลึกว่าค่ำสั่งฉบับนี้ ยังมีเป้าหมายต้องการกวาดล้างผู้มีอิทธิพล นักการเมืองได้ในคราวเดียวกัน โดยมีกำหนดกรอบการทำงานไว้ชัดเจนว่า จะดำเนินการให้เสร็จ ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

"พื้นที่ในอำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คือ หนึ่้งในเป้าหมาย ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.มีแผนยึดคืนมาจัดระเบียบใหม่และแจกให้เกษตรกรผู้ยากไร้ที่ดินใน 2 อำเภอนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในจำนวน 1 แสน 5 หมื่นไร่ ของพื้นที่ในนครราชสีมา ซึ่งถูกบุกรุกมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

โดย ส.ป.ก.มีข้อมูลว่า มีอดีตนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดังครอบครองอยู่ และใช้อิทธิพลขัดขวางไม่ให้รัฐเข้ายึดคืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ประกาศใช้มาตรา 44 เมื่อวานนี้ ระบุชัดเจนว่า ที่ดินป่าเสื่อมโทรม ที่ ส.ป.ก.ที่ได้รับมอบจากกรมป่าไม้ เพื่อจัดสรรให้เกษตรกร แต่กลับพบว่ามีผู้ถือครองไม่ชอบด้วยกฏหมาย และกลุ่มบุคคลดังกล่าว ไม่ยอมร่วมมือ แม้แต่บางรายที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่คืนให้รัฐ แต่กลับรวมเป็นแปลงขนาดใหญ่และนำไปขายเปลี่ยนมือคำสั่ง

คสช.จึง ระบุ ให้ยึดคืนที่ดินดังกล่าว 3 ส่วนคือ ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูป ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป ที่ดินที่เกษตรกรขายต่อให้บุคคลอื่นเนื้อที่ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป และที่ดินที่ศาลมีพิพากษาถึงที่สุดให้ส่งมอบแก่สำนักงานปฎิรูปที่ดิน ที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไปดังนั้น คำสั่งรื้อ รีสอร์ทและโรงแรม ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ บนภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงเป็นแค่การนำร่อง

แต่การรุกคืบจากนี้ คือ ส.ป.ก.เสนอให้หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 รื้อโฮมสเตย์และรีสอร์ต 112 แห่ง ตามแผน "วังน้ำเขียวโมเดล"ล่าสุด เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ครม.เพิ่งมีมติ ยึดคืนที่ดิน สปก.ใน 25 จังหวัด ตามข้อเสนอของ เลขาฯ  ส.ป.ก. สรรเสริญ อัตจุตมานัส  ที่ต้องการให้ใช้มาตรา 44 เนื่องจาก ป่าเสื่อมโทรมกว่า 500 ไร่ ที่กรมป่าไม้ได้มอบให้ ส.ป.ก.เข้าไปจัดที่ดินให้เกษตรกรเข้าทำกิน ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะติดขัดอิทธิพลของผู้ถือครองรายใหญ่มาตลอด

ซึ่งที่ดินส่วนนี้มี 540 แปลง พื้นที่รวม 5 แสน 2 หมื่นไร่โดยแบ่งกลุ่ม ที่ครอบครองเป็น 3 กลุ่ม คือ

 

เนื้อที่ 500-999 ไร่ พื้นที่รวม 2 แสน 6 หมื่นไร่  

 

เนื้อที่ 1,000-1,999 ไร่ พื้นที่รวม 1 แสน 6 หมื่นไร่  

 

และเนื้อที่ มากกว่า 2,000 ไร่ พื้นที่รวม 8 หมื่น 7 พันไร่5

จังหวัดที่ถูกบุกรุกมากที่สุดตามลำดับ คือ นครราชสีมา กว่า 1แสน 5 หมื่นไร่  รองลงมาได้แก่ สระแก้ว ลพบุรี ฉะเชิงเทรา และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ และได้รับข้อมูลเชิงลึก จาก ส.ป.ก. ว่า เจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ เป็นผู้มีอิทธิพล นักการเมือง เช่น จ.ฉะเชิงเทรา นักการเมืองร่วมกับกลุ่มทุนใหญ่ บุกรุกสวนป่ากิติกว่า 3 หมื่นไร่  ใน จ.สระแก้ว และ รีสอร์ท รอบอุทยานป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ ที่ดินเหล่านี้ ล้วนแต่มีนักการเมือง และผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง

หรือแม้แต่ พื้นที่วัดป่าหลวงตามหาบัว ใน อ.ไทรโยค ก็เพิ่งถูกติดประกาศยึดคืนที่ดินเกือบ 400 ไร่ ที่วัดขอใช้ผิดวัตถุประสงค์  ที่ดินบนเกาะพยาม จังหวัดระนอง  ก็มีการบุกรุกสร้างรีสอร์ตโดยรอบบริเวนทางเข้าอุทยานป่าหินงาม

ขั้นตอนหลังจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ระบุว่า หลังจากใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาผู้ถือครองที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า จะใช้เวลาตรวจสอบทั้งหมด 129 วัน เพื่อเรียกคืนที่ดินมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยจะตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมด 25 จังหวัด โดยจะประกาศแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ภายใน 10 วัน และทำแผนที่แนบท้าย แยกอย่างชัดเจน ภายใน 7 วัน ก่อนนำไปติดประกาศในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ครอบที่ดิน มาแสดงสิทธิในการถือครองภายใน 15 วัน และจะตรวจสอบเอกสารภายใน 30 วันขณะนี้ ส.ป.ก.ในพื้นที่ ได้แจ้งไปยังฝ่ายความมั่นคง กองกำลังทหารและตำรวจ ในพื้นที่ เตรียมพร้อมเข้ายึดคืน ทั้ง 25 จังหวัดแล้วขณะนี้พอมีข้อมูลบ้างแล้วว่าผู้ที่ถือครองที่ดินรายใหญ่ๆ เป็นใครบ้าง ไม่กลัวผู้มีอิทธิพล

เห็นได้ชัดว่า นอกจากปฏิบัติการของรัฐบาล คสช.นอกจาก จะยึดคืนที่ดินได้แล้ว ยังสามารถกวาดล้างอิทธิพล นักการเมืองได้ในคราวเดียวกัน  โดยมีกำหนดกรอบการทำงานไว้ชัดเจนว่า จะดำเนินการให้เสร็จ ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยล่าสุด มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน เห็นชอบร่างกฎหมาย แก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. ผิดกฎหมาย ให้เสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อส่งไปยังสภานิติบัญญัติฯ

ต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้ รายชื่อ บุคคลที่จะถูกเรียกมาชี้แจงกรณีถือครอบที่ดินอย่างผิดกฏหมาย จะเป็นนักการเมืองตัวจริงหรือนอมินีของใคร ที่กำลังถูกกวาดล้าง และลดอิทธิพลทางการเมือง

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลจากสำนักข่าวอิศราที่มีการสำรวจได้ตั้งแต่ปี 2558 พบว่าในประเทศไทยของเรานั้นมีกลุ่มผู้ที่มีอิทธิพลและนักการเมืองถือครองที่ดิน มากกว่า 68,000ไร่

โลโคลแอค หรือกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (กปท.) เปิดเผยผลการตรวจสอบข้อมูลการถือครองที่ดินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ระหว่างปี 2554-2557 จากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีการเผยแพร่ผ่านทางเวบไซต์ของป.ป.ช.ล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558

พบข้อมูล ส.ส.ทั้งหมด 530 ราย ถือครองที่ดินรวมกันทั้งสิ้น 8,388 แปลง เป็นพื้นที่ 68,765 ไร่ 2 งาน 1 ตารางวา มูลค่ารวม 18,093,569,912 บาท (1.8 หมื่นล้านบาท) เฉลี่ย ส.ส. 1 ราย จึงถือครองที่ดิน 129.74 ไร่

นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผอ.กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ให้ข้อมูลว่า

 

พรรคการเมืองที่ถือครองที่ดินมากที่สุดอับดับหนึ่งคือ พรรคเพื่อไทย จำนวน ส.ส. 284 ราย ถือครองที่ดินรวมกัน 31,797 ไร่ มูลค่า 8,270,346,993 บาท

 

อันดับสองคือพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส. 167 ราย ถือครองที่ดินรวมกัน 27,074 ไร่ มูลค่า 6,070,454,968 บาท

 

อันดับสาม พรรคภูมิใจไทย ส.ส. 34 ราย ถือครองที่ดินรวมกัน 5,959 ไร่ มูลค่า 1,274,737,526 บาท

 

อันดับสี่ พรรคชาติไทยพัฒนา ส.ส. 18 ราย ถือครองที่ดินรวมกัน 2,034 ไร่ มูลค่ารวม 1,368,280,916 บาท

 

และอันดับห้า พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ส.ส. 7 ราย ถือครองที่ดินรวมกัน 535 ไร่ มูลค่ารวม 317,814,876 บาท

ในส่วนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ส.ส.ทั้งหมดถือครองโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 1,835 หลัง มูลค่ารวม 6,388,158,311 บาท (6.3 พันล้านบาท) คิดเฉลี่ย ส.ส. 1 ราย ถือครองโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 3.46 หลัง และหากรวมมูลค่าของที่ดิน และมูลค่าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่ ส.ส.ทั้งหมดถือครองรวมกัน มีมูลค่าถึง 24,481,728,223 บาท (2.4 หมื่นล้านบาท) เฉลี่ย ส.ส. 1 ราย จึงถือครองทรัพย์สินประเภทที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างมูลค่ารวม 46,191,940 บาท

นอกจากนี้โลโคลแอค ยังเผยผลการศึกษา ของ ส.ส. ที่ถือครองที่ดินสูงสุด เช่น

 

นางสาวอัญชลี เทพบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถือครองที่ดิน 207 แปลง 4,115 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวา มูลค่า 337,440,341 บาท

 

นายประชา โพธิพิพิธ พรรคประชาธิปัตย์ ถือครองที่ดิน 67 แปลง 4,115 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา รวมมูลค่า 142,160,000

 

นางสาวมาลินี อินฉัตร พรรคเพื่อไทย ถือครองที่ดิน 148 แปลง 2,492 ไร่ 91 ตารางวา มูลค่า 302,917,880

 

นายอำนัย คลังผา ถือครองที่ดิน 3 แปลง 2,084 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา มูลค่า 60,187,000 บาท

 

นางโสภา กาญจนะ พรรคประชาธิปัตย์ ถือครองที่ดิน 163 แปลง 2,046 ไร่ 1งาน 1 ตารางวา มูลค่า 280,910,245

และถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่าสูงสุด เช่น

 

นายปลอดประสพ สุรัสวดี พรรคเพื่อไทย มูลค่าที่ดิน 811,242,000 บาท ฒุลค่าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 39,800,000 บาท มูลค่ารวม 851,042,000

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ พรรคชาติไทยพัฒนา มูลค่าที่ดิน 562,050,523 บาท มูลค่าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 70,750,000 บาท มูลค่ารวม 632,800,523บาท

 

นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา พรรคภูมิใจไทย มูลค่าที่ดิน 501,568,921 บาท มูลค่าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 101,200,000 บาท มูลค่ารวม 602,768,921 บาท

 

นายประกอบ จิรกิติ พรรคประชาธิปัตย์ มูลค่าที่ดิน 395,915,571 บาท มูลค่าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 57,430,000 บาท มูลค่ารวม 453,345,571 บาท

 

นางอัญชลี เทพบุตร มูลค่าที่ดิน 337,440,341 บาท มูลค่าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 110,354,991 บาท มูลค่ารวม 447,795,332 บาท

 

ผลการศึกษายังพบด้วยว่า มี ส.ส. ถึง 126 ราย จาก 530 ราย ที่ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ ขึ้นไป และมี ส.ส. ถึง 25 ราย ที่ถือครองที่ดินมากกว่า 500 ไร่ ขึ้นไป ในขณะที่มี ส.ส. จำนวน 14 ราย ที่ถือครองที่ดินมากกว่า 1,000 ไร่ ขึ้นไป

ทางโลโคลแอคมีข้อเสนอจากการศึกษาว่า ข้อมูลการถือครองที่ดินของนักการเมืองเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินในสังคมไทย ที่รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาแก้ไขและแทรกแซงเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม

 

ภาษีที่ดินเป็นมาตรการทางการเงินการคลังที่เหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับสังคมประชาธิปไตยอย่างประเทศไทย ที่ไม่สามารถมีมาตรการจำกัดการถือครองที่ดินของประชาชนและนักการเมืองได้ หากแต่รัฐบาลต้องพุ่งเป้าการจัดเก็บภาษีที่ดินไปที่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเปลี่ยนแปลงในการถือครองที่ดินในประเทศไทย ไม่ใช่เพียงเพื่อหารายได้เข้ารัฐ

 

ภาษีที่ดินที่เหมาะสมจึงควรยกเว้นการจัดเก็บภาษีกับประชาชนที่ถือครองที่ดินจำนวนน้อย เกษตรกรที่ถือครองที่ดินไม่มาก และมูลค่าการถือครองที่ดินต่ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและสร้างความไม่เป็นธรรมกับคนที่มีทรัพย์สินและที่ดินน้อยอยู่แล้ว และควรมีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้นถึงความสำคัญของการจัดเก็บภาษีที่ดิน ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดินในสังคม