แม้ม.7 ไม่ขัดพรบ.สงฆ์ แต่ "พล.อ.ประยุทธ์" ยังไม่ตั้งสังฆราชเพราะไร ???

แม้ม.7 ไม่ขัดพรบ.สงฆ์ แต่ "พล.อ.ประยุทธ์" ยังไม่ตั้งสังฆราชเพราะไร ???

ตามกันที่ผลการพิจารณา ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการตีความมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2535มีความเห็นว่า มติของมหาเถรสมาคม ที่เสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ไม่ขัดมาตรา 7

แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่ข้อสรุปในการตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ขึ้นเป็นสังฆราชแต่อย่างไร

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า มติของมหาเถรสมาคม หรือ มส.ที่เสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ไม่ขัดมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2535 และได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ด้วยการเสนอรายนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุด ส่วนแนวทางปฏิบัติหลังจากนี้ จะยึดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2482 ที่ระบุว่า เมื่อส่วนราชการ หรือ คณะรัฐมนตรี ขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องของข้อกฎหมาย ก็ต้องปฏิบัติตามความเห็นของกฤษฎีกา

จากนี้จะส่งความเห็นของกฤษฎีกา ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบเพื่อพิจารณาต่อไป แต่ยังไม่เสนอแต่งตั้ง เพราะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รอบด้าน ก่อนจะทำความเห็นเสนอนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไร

แต่เบื้องต้นหนังสือเสนอรายนามสมเด็จพระสังฆราชของมหาเถรสมาคมถือว่าสมบูรณ์ และยังอยู่ที่ตัวเอง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่เสนอทูลเกล้าฯ ถวายรายนาม และรับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้นการจะให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการ 2 เรื่องนี้ต้องทำทุกอย่างให้ครบถ้วน รอบคอบ ตอนนี้จึงขอแบกเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน

 

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตีความมาตรา 7 ว่า กฤษฎีกาได้สรุป 3 ข้อ ตามที่ได้ถามไป คือ ชื่อของผู้ที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุด และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยจะเป็นอำนาจของ มส.ที่จะต้องเป็นผู้ระบุว่าสมเด็จที่เข้าข่ายนี้คือใคร หากจะตั้งก็ต้องตั้งตามที่ มส.เสนอ จะตั้งนอกเหนือจากนี้ไม่ได้

 

นอกจากนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับว่าใครจะเป็นผู้ริเริ่มก่อนนั้น ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ตอบกลับมาว่า การที่ มส.จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา โดยจะให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ขอไป หรือ มส.อาจจะเป็นผู้พิจารณายกขึ้นมาเองและส่งชื่อมาให้นายกฯ ก็ได้ สามารถทำได้ทั้ง 2 อย่าง หาก มส.เห็นว่ารัฐบาลทำช้า มส.ก็อาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเองได้ ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ มติของ มส.ที่ออกมาเมื่อเดือน ม.ค.ที่เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็ถือเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 7 วรรคสอง

เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าหากมีการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชโดยมหาเถระสมาคมมาแล้ว ก็จะต้องเป็นอำนาจการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีหรือไม่เราจะได้ย้อนไปติดตามรายละเอียด พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535มาตรา 7อีกสักครั้งหนึ่ง

สำหรับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

 

 

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

อย่างที่นำเรียนไปว่าไม่ว่ากระบวนการของการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช จะออกมารูปแบบไหนแต่ท้ายที่สุดผู้ที่จะทำการชี้ขาดและก็ตัดสินในครั้งนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีผู้ที่มีอำนาจตามมาตรา 7

และในวันนี้พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้พูดชัดเจนว่าจะยังไม่มีการแต่งตั้งเนื่องจากคดีความรถโบราณหรู ยังได้ข้อสรุป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติกล่าวว่า ไม่ได้ว่าอะไร อำนาจใครก็อำนาจใคร ตนมีหน้าที่อะไร มีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วตนทูลเกล้าฯในสิ่งที่มีปัญหาได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็จบ เมื่อถามว่าต้องรอคดีจบก่อนใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ไม่ต้องแสดง คิดไม่ออกเหรอ ว่าต้องรอกระบวนการเรียบร้อยก่อน แล้วไม่กลัวว่าจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันหรืออย่างไร วันนี้มีกี่พวก อย่ามองบ้านเมืองในแง่ดีแง่เดียว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะมีการชี้ขาดเรื่องการตั้งสมเด็จสังฆราชออกมาก็เป็นทางฝั่งพระเมธีธรรมาจารย์ ได้เคยออกมาระบุว่าหากรัฐบาลไม่มีการตั้งสมเด็จพระมหาราชมังจารย์เป็นสมเด็จพระสังฆราช จะมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้น

ย้อนกลับไป 8 ก.ค. พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือจำนวน 35,000 ฉบับ ส่งถึงพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสขึ้นไปทั่วประเทศ โดยระบุว่า หากถึงที่สุดแล้วสถานการณ์ยากจะเยียวยา จะขอพลังจากพระสังฆาธิการทั่วประเทศมาแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อกลุ่มคนที่พยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อพวกพ้องตน

1.ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการตีความมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ว่าการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจะต้องมีต้นเรื่องจากใคร ระหว่างนายกรัฐมนตรีหรือมหาเถรสมาคม

 

 2.ขณะนี้มีคนบางกลุ่มพยายามแก้มาตรา 7 เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพวกพ้องตัวเอง ซึ่งต้องรอฟังคำวินิจฉัยและรอดูท่าทีของกลุ่มคนที่พยายามแก้ไขกฎหมาย

พี่เด้ง -- และ ในวันที่ 11 ก.ค. 59 พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก " ระบุว่า ในนามศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนาและภาคีเครือข่าย ขอแสดงความปรารถนาดีมายังรัฐบาลว่า บัดนี้มติมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 นั้นนับว่าถูกต้องดีงามแล้ว ทั้งตามหลักกฎหมายบ้านเมือง ชอบด้วยจารีตประเพณีอันดีงามของคณะสงฆ์ที่เคยปฏิบัติมายาวนานหลายยุคหลายสมัย

 

ในเมื่อมติดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและจารีตประเพณีแล้ว มีเหตุผลอะไรที่นายกรัฐมนตรีจะไม่ปฏิบัติตาม มีเหตุผลอะไรที่นายกรัฐมนตรีจะไม่เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่ถูกเสนอชื่อโดยชอบแล้ว นายกรัฐมนตรี ควรปฏิบัติตามกฎหมาย จารีตและครรลองอันดีงาม ช่วยกันให้ความเคารพบูชาต่อคณะสงฆ์ทั้งประเทศและมหาเถรสมาคมด้วยเถิด อย่าประวิงเวลา อย่าเอาการเมืองมาเล่นในคณะสงฆ์ อย่าเดินตามกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีต่อคณะสงฆ์เลย เดินหน้าตามกระบวนการที่ถูกต้องเถิด ความสงบสุขจะกลับมาสู่คณะสงฆ์ดังเดิม